เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (8) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระยอดเชียงรายรัก “ลูกฮ่อ”

บุคคลที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์รายที่สอง ผู้ถูกเนรเทศมาอยู่เมืองน้อย ได้แก่ “พระยอดเชียงราย” กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 10 (ครองราชย์ พ.ศ.2031-2038 ต่อจากเสด็จปู่ติโลกราช)

เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “ยอดเชียงราย” นี้ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ปราชญ์ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา อธิบายว่า ในวัยเด็กพระยอดเชียงราย เคยมีชื่อว่า “ท้าวแจ้สัก” (แจ้สักอยู่ที่เชียงราย) คือยกให้กินเมืองแจ้สัก

ต่อมาได้ติดตามเสด็จปู่ พระเจ้าติโลกราชไปร่วมสมรภูมิรบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาที่เมืองเชลียงด้วย เมื่อเสร็จศึก พระเจ้าติโลกราชตกรางวัล ยกท้าวแจ้สักขึ้นเป็นท้าวยอดเชียงราย (คือมีศักดิ์สูงขึ้น เพราะแจ้สักเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเชียงราย)

อาจารย์ภูเดช แสนสา กล่าวว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพื้นเมืองเชียงแสนระบุตรงกันว่า สาเหตุที่พระยอดเชียงรายถูกเนรเทศไปอยู่ “เมืองสะมาด เมืองน้อย” นั้น เนื่องมาจากข้อหา “คบฮ่อ เอาลูกฮ่อมาเป็นลูกบุญธรรม และแถมยังรักลูกฮ่อมากกว่าลูกจริงๆ ของตน”

คำว่า “ฮ่อ” ซึ่งชาวล้านนารุ่นหลังมักชอบเรียกว่า “จีนบก” หรือ “จีนภูเขา” นั้น อาจารย์เกริก อธิบายว่าแท้จริงแล้ว “ฮ่อ” หมายถึงชนเผ่าหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้งจีนและไม่ใช่ทั้งไท แต่เป็นชาวยูนนานจากประเทศจีน

ชาวฮ่อไม่ได้พูดภาษาแมนดารินแบบจีนกลาง มีภาษาถิ่นของตน ชาวจีนเรียกฮ่อว่าพวก “มาลีปา”

ประเด็นเกี่ยวกับ “ฮ่อ” ชวนให้สงสัยมากมาย อาทิ จริงหรือไม่ที่ลูกฮ่อผู้นั้นเป็นลูกบุญธรรมของพระยอดเชียงราย ใครคือลูกฮ่อ รวมทั้งแม่ฮ่อผู้นั้น มีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร และลำพังแค่กษัตริย์ไปรักลูกฮ่อ ทำไมถึงกับต้องเนรเทศ?

 

สิริยศวดี แค้นนักรัก “ลูกฮ่อ”

ก่อนตอบคำถามเหล่านั้น เราต้องทำความรู้จักกับเบื้องลึกเบื้องหลังพระยอดเชียงรายกันก่อนว่า พระองค์ทรงมีมเหสีอย่างเป็นทางการอยู่องค์หนึ่ง ชื่อของนางก็ค่อนข้างเป็นปริศนาไม่น้อย คือสมัยวัยสาวแรกรุ่น มีรูปร่างโปร่งระหงสะองสะโอดจึงชื่อ “นางโป่งน้อย” (ภาษาเหนือออกเสียง ป่งน้อย)

ครั้นอภิเษกสมรสกับพระยอดเชียงรายได้รับการสถาปนาชื่อใหม่เป็น พระนางสิริยศวดี บางเล่มใช้ว่า อโนชาเทวี

อนึ่ง คำว่า อโนชาเทวี นี้ อาจารย์ภูเดช แสนสา กล่าวว่าเป็น “คำกลางๆ” ที่สามารถใช้เรียกมเหสี หรือเจ้านายฝ่ายในชั้นสูงองค์ใดก็ได้ หาใช่ชื่อเฉพาะไม่ ดังนั้น เมื่อพบคำว่า “อโนชา” ในเอกสารโบราณต้องไม่รีบด่วนสรุปว่าหมายถึง สิริยศวดีองค์เดียวเท่านั้น

พระนางโป่งน้อย หรือสิริยศวดี เกิดที่ไหน เป็นชาวอะไร ในส่วนนี้ก็ยังมีข้อขัดแย้งอยู่สองแนวทาง

แนวทางแรก พงศาวดารโยนกบอกว่า นางโป่งน้อยเป็นชาวเมืองจ้วด (จว้าด) อยู่ทางตะวันตกใกล้ลุ่มน้ำสาละวิน สอดรับกับความเห็นของ สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์ อดีต ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่กล่าวว่า นางโป่งน้อยเป็นราชธิดาชาวไทใหญ่

แต่ทฤษฎีใหม่ จากการศึกษาของ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี นักวิชาการรุ่นใหม่ ได้ข้อสรุปว่า นางโป่งน้อยเป็นชาวเขลางค์ (ลำปาง) ในขณะนั้นเขลางค์ถือเป็นเมืองลูกหลวงอันดับต้นๆ ของล้านนา

นางโป่งน้อยได้มีโอรสกับพระยอดเชียงรายหนึ่งองค์คือ พระเมืองแก้ว ผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 สืบต่อมา

กลับไปสู่คำถามที่ว่า “ลูกฮ่อ” เป็นลูกบุญธรรมหรือเป็นลูกจริงของพระยอดเชียงรายกันแน่

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย อธิบายว่า เวลาอ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ อย่าเชื่อทุกตัวอักษร เพราะคนเขียนประวัติศาสตร์คือผู้กุมชัยชนะ การระบุว่า พระยอดเชียงรายไปหลงรักลูกฮ่อ เอาใจลูกฮ่ออย่างหัวปักหัวปำ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ลูกตนนั้น

เป็นเพราะผู้เขียนประวัติศาสตร์ ฝ่ายที่สามารถเนรเทศพระยอดเชียงรายออกไปให้พ้นจากราชบัลลังก์ มีชื่อว่าพระมเหสีสิริยศวดี ใช่หรือไม่

ครั้นจะเขียนตำนานตรงๆ ว่าพระยอดเชียงรายคบชู้ ปันใจให้หญิงอื่น ก็จะยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศไปกันใหญ่ เข้าทำนองว่าเป็นหญิงไร้น้ำยา ไร้เสน่ห์ พระราชสวามีจึงนอกใจ ก็เลยรวบรัดตัดบท สรุปเอาเป็นว่า พระยอดเชียงรายเองนั่นแหละที่นิสัยไม่ดี รสนิยมต่ำ ไปคว้าเอาลูกฮ่อมาฟูมฟัก รักยิ่งกว่าลูกตน

การที่จะ Fade ใครสักคนให้ออกจากวงจรชีวิต ไม่ให้เหลือที่อยู่ที่ยืนในสังคม เป็นปกติวิสัยที่ต้องหาเรื่องใส่ไฟให้ดูรุนแรงเกินจริง ซึ่งวิธีนี้ยังคงใช้กระทำกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การใส่ร้ายว่าไม่ใช่พุทธ แต่เป็นผี การไม่ยอมให้เป็นไท จึงกลายเป็นฮ่อ เป็นแข่ แทน (แข่ เป็นอีกคำเรียกหนึ่งที่ชาวล้านนาใช้ดูถูกดูแคลนคนเขาคนดอยกลุ่มอื่น)

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว เสริมว่า เหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้แก่พระนางสิริยศวดีสามารถกำจัดพระยอดเชียงรายออกไปให้พ้นจากสารบบได้ก็ด้วยการอ้างว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทำผิดจารีตล้านนาอย่างร้ายแรง คือไปเอาจารีตของฮ่อเข้ามาบังคับใช้ในราชสำนักล้านนา

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น จะใช่หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พระนางสิริยศวดี ได้รับแรงสนับสนุนจากขุนนางช่วยกันผลักดันให้พระเมืองแก้ว ในวัยเพียง 15 ปีขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาได้สำเร็จ เพราะขืนมัวแต่ชักช้า พระยอดเชียงรายอาจไปสถาปนาเอาลูกฮ่อผู้นั้นมาเป็นรัชทายาทแข่งกับลูกของนาง

เบื้องลึกเบื้องหลัง ของการที่พระนางสิริยศวดีจับมือกับอำมาตย์ใหญ่ ช่วยกันโค่นล้มอำนาจของพระยอดเชียงราย ไม่ได้มีที่มาเพียงแค่เรื่องที่นางหึงหวงเมียฮ่อเท่านั้น

เหตุที่ก่อนจะมาเป็นมเหสีของพระยอดเชียงราย สมัยอยู่เขลางค์ นางโป่งน้อยก็มี “หวานใจ” ของนางเองมาก่อนแล้ว แถมชายคนรักยังได้ติดตามเข้ามารับใช้ใกล้ชิดในราชสำนักเชียงใหม่เสียด้วย เขาผู้นี้มีชื่อว่า “ศิริยวาปีมหาอำมาตย์”

สำหรับผู้ที่สนใจอยากติดตามเรื่องราวความรักความสิเนหาระหว่าง พระนางสิริยศวดี กับศิริยวาปี แบบชนิด “เจาะลึกแบบอันซีน” เพราะยังไม่เคยมีการเปิดประเด็นในเวทีใดกันมาก่อน โปรดเชิญร่วมฟังงานเสวนากันสดๆ ได้ในหัวข้อ “โคลงนิราศหริภุญชัย และใครคือนางศรีทิพย์” วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน ศกนี้ ที่โฮงเฮียนสืบสานล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น.

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งพระยอดเชียงรายและพระนางสิริยศวดี อภิเษกสมรสกันโดยปราศจากความรักความผูกพันให้แก่กันและกัน ในขณะที่สิริยศวดีก็มีความรักมาก่อนแล้วกับศิริยวาปี พระยอดเชียงรายก็ลุ่มหลงรักสตรีอีกนางหนึ่งซึ่งเป็นชาวฮ่อ จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคนชื่อ “เปาสล้าง”

ระหว่างกษัตริย์กับพระมเหสี ที่ต่างคนต่างก็มีชู้ ไฉนผู้พ่ายแพ้กลับเป็นฝ่ายชาย?

 

ใครคือ “เปาสล้าง” และแม่ของเขา?

อาจารย์สมฤทธิ์ อ้างพงศาวดารโยนกว่า พระยอดเชียงรายไม่ได้รักพระเมืองแก้ว แต่รักลูกฮ่อที่ชื่อว่า “เปาสล้าง” คำคำนี้อ่านแบบภาษาล้านนาว่า “เปาสะหล้าง”

อาจารย์เกริก อธิบายเพิ่มเติมว่า “เปาสล้าง” อ่านแบบภาษาจีนได้ว่า “เป่าส้าง” คำว่า เป่า/เปา แปลว่าปกปักรักษา/ของวิเศษ ส่วนคำว่า ส้าง แปลว่า ขึ้น/เจริญ ความหมายโดยรวมอาจแปลได้ว่า ผู้ที่มีบุญคุ้มครองให้เจริญ

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากแยกเป็น 2 พยางค์ตามหลักภาษาจีน คำแรก เป่า อาจเป็นแซ่ก็ได้ คือแซ่เป่า ส่วนชื่อเป็นพยางค์หลัง คือชื่อ ส้าง ถ้าเป็นชื่อแบบไทยๆ ก็คงเรียกว่า “อ้ายเจริญ”

อาจารย์สมฤทธิ์ ตั้งคำถามว่า แล้วใครคือแม่ของเปาสล้าง? อยู่ดีๆ ก็ไปรักลูกฮ่อ แม่ของลูกฮ่อผู้นั้นคือใคร หรือใครคือชายาอีกองค์ของพระยอดเชียงราย ยังเป็นปริศนาอยู่ ตำนานไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ

จารึกที่วัดตโปทาราม (วัดร่ำเปิง ที่ข้างคันคลองชลประทาน เชียงใหม่) จารเมื่อปี 2035 ว่า ผู้สร้างวัดนี้คือนาง “อตปาเทวี” ผู้เป็นชายาของพระยอดเชียงราย ข้อความนี้ชวนให้น่าสงสัยยิ่งนักว่า นางอตปา คือคนเดียวกันกับนางโป่งน้อยสิริยศวดีหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมานักประวัติศาสตร์ล้านนากระแสหลักเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกัน

แต่ถ้าสมมติว่า นางอตปา เป็นชายาอีกองค์หนึ่ง นางอตปาควรจะเป็นแม่ของเปาสล้างลูกฮ่อนั้นได้หรือไม่?

อีกทั้งอาจารย์สมฤทธิ์ยังตั้งคำถามว่า แล้วเปาสล้างเล่า ลูกสุดที่รักของพระยอดเชียงราย เขาจะใช่คนเดียวกันกับเมื่อโตมากลายเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 นามว่า “พระเมืองเกษเกล้า” หรือไม่ ผู้ซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าเป็นลูกของพระเมืองแก้ว ดีไม่ดี สองคนนี้อาจเป็นพี่น้องต่างมารดากันก็ได้

อาจารย์เกริก กล่าวว่า ตัวเขาเองก็เคยสงสัยเกี่ยวกับชื่อของนางอตปาเทวีมาก่อน ว่าจะเป็นคนเดียวกันกับนางโป่งน้อยสิริยศวดีหรือไม่ จึงได้ไปค้นหาคำตอบที่วัดร่ำเปิง พบว่าละแวกนั้นมีชุมชนหนึ่งชื่อบ้านโป่งน้อย และมีวัดโป่งน้อย ตั้งอยู่เยื้องกับวัดร่ำเปิง

และได้ค้นพบว่า ชื่อของวัดร่ำเปิงตโปทาราม มีความสัมพันธ์กับชื่อของนางอตปาเทวีอย่างมาก กล่าวคือ ตโปทาราม มาจากคำว่า ตปะ/ตบะ แปลว่าการบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า + อาราม

ในขณะที่ชื่อ อตปาเทวี มาจากรากศัพท์ว่า อตปะ ก็คือ ตปะ อีกเช่นกัน ดังนั้น คำว่า อตปาเทวี จึงแปลว่า มหาเทวีผู้มานั่งบำเพ็ญกัมมัฏฐาน อาจเป็นไปได้ว่านางโป่งน้อยได้นำชื่อเฉพาะขณะที่ตนฝึกวิปัสสนาว่า อตปาเทวี ไปใส่ในจารึกสุพรรณบัตร เพื่อประกาศบารมีทางธรรมของพระนาง

แต่ก็ยังทิ้งนัยยะชื่อเดิมของตน คือโป่งน้อย ไว้ด้วยการตั้งชื่อวัดขนาดเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

สรุปก็คือ นางโป่งน้อย เป็นบุคคลที่มีชื่อเรียกหลายนาม เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นมเหสีของพระยอดเชียงราย นางได้เปลี่ยนชื่อแบบภาษาบ้านๆ มาเป็นภาษาบาลีสันสกฤตว่า สิริยศวดี บางครั้งเรียก อโนชาเทวี

แถมยังมีชื่อขณะไปนั่งกัมมัฏฐานว่า อตปาเทวีอีกชื่อหนึ่งด้วย

ส่วนชายาชาวฮ่ออีกองค์ของพระยอดเชียงราย ผู้แม่ของเปาสล้างนั้น จะชื่อว่าอะไร เป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นกันต่อไป อาจารย์เกริกกล่าวทิ้งท้าย

 

พระยอดเชียงรายกับเมืองน้อย

ในที่สุด พระยอดเชียงรายก็ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย พร้อมเปาสล้างลูกฮ่อ อาจารย์ภูเดช กล่าวว่า พระยอดเชียงรายเป็นเจ้านายล้านนาพระองค์แรกที่ถูกเนรเทศในสถานะ “กษัตริย์” เพราะตอนที่ท้าวบุญเรือง บิดาของพระองค์เมื่อตอนถูกเนรเทศไปเมืองน้อยนั้น มีสถานะเป็นแค่พระราชบุตร

พระยอดเชียงรายสวรรคตที่เมืองน้อย ในช่วงที่พระเมืองแก้ว พระราชโอรส (ลูกที่พระยอดเชียงรายไม่รัก) ขึ้นเป็นยุวกษัตริย์ ภายใต้การบริหารกำกับดูแลกิจการในราชสำนักทั้งหมดโดยเสด็จแม่ ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคำว่า “ผู้สำเร็จราชการ” อีกนัยหนึ่ง พระนางโป่งน้อยสิริยศวดีทรงดำรงตำแหน่งเป็นกษัตรีย์ร่วมกันด้วยกับพระราชโอรส

อาจารย์อรุณรัตน์กล่าวว่า เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีความน่าสนใจยิ่ง เพราะถือเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์แรก ที่ได้รับการสถาปนาตำแหน่งคู่กันให้ปกครองอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระราชโอรส

พระเมืองแก้วได้เสด็จมาเมืองน้อยเพื่อประกอบพิธีส่งสการหรือปลงศพพระราชบิดา ตำนานระบุว่าในระหว่างนั้น พระเมืองแก้วได้สร้างอุโบสถอุทิศถวายให้ดวงพระวิญญาณพระยอดเชียงรายด้วย 1 หลัง ซึ่งอาจารย์ภูเดชไม่แน่ใจว่า จะใช่วัดพระธาตุเมืองน้อย ที่ยอดดนัย สุขเกษม กำลังขุดค้นทางโบราณคดีอยู่หรือไม่

จบไปอีกเป็นรายที่สองแห่งการเนรเทศกษัตริย์ล้านนาไปอยู่เมืองน้อย ต้นเหตุหนุนเนื่องด้วยการชิงรักหักเหลี่ยมโหดโดยอิสตรีอีกเช่นเคย

สัปดาห์หน้า มาติดตามตอนจบ ว่ายอดอนงค์นางใดจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเนรเทศกษัตริย์ล้านนาอีกเป็นครั้งสุดท้าย จะใช้วิธีผูกเล่ห์เลศ “ลักใจ” แบบแม่ท้าวหอมุก หรือไฟในอกระอุแค้นด้วยเพลิงพระนางแบบสิริยศวดี?