ฉันไม่ใช่ ‘ใคร’ อย่างที่คุณกล่าวหา

วัชระ แวววุฒินันท์

ฉันไม่ใช่ ‘ใคร’ อย่างที่คุณกล่าวหา

 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับประเทศไทย ที่ได้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แสดงว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่ว่าจะอยู่พรรคการเมืองไหน ทั้งผู้สมัครแบบเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ อย่างน้อยนั่นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประชาชนเลือกคุณ แม้ที่ผ่านๆ มา เราอาจต้องผิดหวังกับคนที่เราอุตส่าห์เลือกมาบ่อยครั้งก็ตาม

การที่พี่น้องคนไทยเลือกใครเข้ามาเพื่อให้เป็นตัวแทนในการจัดการชีวิต นั่นย่อมแสดงถึงบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ ที่อยากให้เขาเหล่านั้นทำหน้าที่ “รับใช้ประชาชน” ไม่ใช่เป็น “เจ้านายประชาชน”

ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่องหนึ่งซึ่งจริงๆ เป็นหนังที่ออกฉายมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2016 เป็นหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อเรื่องว่า “I am not Madame Bovary” นำมาจากนิยายชื่อ “I am not Pan Jinlian” ผลงานการเขียนของหลิวเฉินยุน

พานจินเหลียน (Pan Jinlian) เป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงในสมัยราชวงศ์หมิง ที่ถูกตราหน้าว่า “แพศยา” เพราะตนเองมีสามีอยู่แล้ว แต่แอบไปคบชู้ และร่วมมือกับชู้เพื่อฆ่าสามี ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำของผู้หญิงในแบบที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง

ส่วน Madame Bovary นั้นเป็นนิยายของฝั่งฝรั่งเศส ที่เล่าถึงผู้หญิงที่มีสามีแล้ว และถูกสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่กระทำต่อเธอ ซึ่งเป็นเรื่องแนวต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิง

ผู้กำกับฯ เฝิงเสี่ยวกัง ได้นำเอาสองเรื่องนี้มาผสมผสานกันออกมาเป็นหนังเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ และมีเอกลักษณ์ของหนังอย่างมาก

ฟังดูเหมือนกับจะเป็นเรื่องของผัวๆ เมียๆ แต่แท้จริงแล้วหนังได้พูดถึง “กระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่มีต่อประชาชนคนตัวเล็กๆ” ได้อย่างเจ็บแสบทีเดียว

ซึ่งที่หยิบเอาหนังเรื่องนี้มาพูดถึงหลังจากเพิ่งมีการเลือกตั้งจบลง ก็ด้วยความหวังที่ว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล เป็นผู้บริหารประเทศ บริหารการทำงานของภาครัฐในมิติต่างๆ สิ่งที่พวกท่านควรคำนึงอย่างมากก็คือ “ประชาชน”

ดังตัวอย่างประชาชนตัวเล็กๆ อย่าง “หลีสั่วเหลียน” นางเอกในเรื่อง ที่แสดงโดยนางเอกชื่อดัง ฟ่านปิงปิง ที่ยอมเล่นเรื่องนี้แบบไม่รับค่าตัว ซ้ำตลอดเรื่องก็ไม่ได้แต่งหน้าและแต่งตัวสวย แต่ด้วยฝีมือทำให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงจากเวทีเอเชี่ยน ฟิล์ม อวอร์ด ครั้งที่ 11 พร้อมกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับภาพยอดเยี่ยม ไปครอง

เรื่องนี้เกิดจากสามีภรรยาที่ชื่อ คินอู๋เฮ กับ หลีสั่วเหลียน ได้จดทะเบียนหย่าขาดกัน

แต่เบื้องหลังของการหย่าคือ ทั้งสองตั้งใจจะหย่ากันปลอมๆ เพื่อที่สามีจะได้มีสิทธิ์ครอบครองอพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ ในฐานะที่เป็นโสดตามที่รัฐบาลกำหนดไว้

เมื่อได้อพาร์ตเมนต์แล้ว ทั้งสองก็จะกลับมาแต่งงานกันอีกครั้งในภายหลัง พร้อมกับการมีลูกที่ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์แบบ

แต่เรื่องราวหลังการหย่าคือ สามีพลิกลิ้นโดยการไปมีผู้หญิงคนใหม่ ทำให้หลีสั่วเหลียนเจ็บปวดใจอย่างมาก และรู้ว่าโดนสามีหักหลังเสียแล้ว

เรื่องที่ซ้ำเติมเธอคือ ตอนนั้นเธอได้ตั้งท้องและการมีลูกคือการเติมเต็มครอบครัวตามที่หวัง แต่ทุกอย่างก็พังทลายลง

ซ้ำร้ายเธอเครียดจนแท้งลูกในท้องในเวลาต่อมา

ชีวิตของเธอตอนนี้จึงเหมือนคนถูกกระทำทั้งจากชะตาชีวิต และจากผู้ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นสามี

แต่หลีสั่วเหลียนเป็นผู้หญิงซื่อๆ ตรงๆ เชื่อมั่นในความคิดของตนเองจนออกจะดื้อหัวชนฝา เธอจึงไม่ยอมให้เรื่องจบลงแบบนี้

เธอต้องการจะหย่าขาดจากเขาจริงๆ ไม่ใช่เป็นการหย่าปลอมๆ ที่เป็นเพียงเอกสาร แต่สามีไม่สนใจใดๆ และบอกว่าก็เธอหย่าไปแล้ว เรื่องมันจบแล้ว สิ่งที่เธอเจ็บใจมาก คือการที่สามีของเธอเปรียบเธอเป็น “พานจินเหลียง” นั่นเอง นั่นคือการทำลายศักดิ์ศรีของผู้หญิงและการเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง ทำให้เธอต้องเดินหน้าเข้าหาบ้านเมืองให้ช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นจากหัวหน้าศาลที่เมืองในชนบทที่เธออาศัยอยู่

หัวหน้าศาลปฏิเสธคำร้องของเธอ บอกคำเดียวว่าก็หย่าไปแล้วนี่ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกัน

ฟากหนึ่งคือรัฐที่ยึดกฎระเบียบโดยไม่สนใจมิติของความเป็นจริง

กับอีกฟากหนึ่งคือ คนตัวเล็กๆ ที่รู้สึกว่าตนถูกรังแกเอาเปรียบ แค่เอกสารตามกฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ไขแผลในใจของเธอ แต่เธออยากแสดงถึงความไม่ยอมแพ้ที่ต้องการให้การหย่าต้องเป็นพฤตินัยและนิตินัยในความเป็นจริงด้วย

แต่ผู้หญิงอย่างหลีสั่วเหลียนไม่ยอม

จากหัวหน้าศาลที่ปฏิเสธเธอ เธอเล่นใหญ่ขึ้น โดยการไปเรียกร้องจากนายอำเภอ แน่นอนที่จะถูกเพิกเฉย เรื่องจึงลามไปถึงนายกเทศมนตรีของเมือง ลามไปถึงผู้ว่าฯ และไปถึงผู้บริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่งในที่สุด

ไม่แต่ผู้ชายอย่างสามีเธอเท่านั้นที่กระทำต่อเธอ แต่ผู้ชายคนอื่นๆ ที่แวดล้อมโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งต่างๆ ก็มองเธอแบบด้อยค่า แค่ผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่ง ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเข้าไปจัดการ

ตลอดเส้นทางที่เธอพยายามต่อสู้ เราได้เห็นถึงการคิดและการกระทำของคนภาครัฐ ที่เอาตัวเองให้รอด ปัดความรับผิดชอบ คิดจะทำอะไรก็เพื่อเอาใจนาย ไม่ใช่เพื่อรับใช้ประชาชน ทำทุกอย่างเพื่อให้พ้นความผิด และอย่าเสียชื่อเสียง แม้จะเป็นวิธีที่ไม่ถูกควรก็ตาม

ซ้ำร้ายผู้ชายอย่างเพื่อนเก่าของเธอที่เธอหวังพึ่งพา ก็พลอยหักหลังและเอาประโยชน์เข้าตัว

ที่เจ็บใจสุดๆ คือเขาทำให้เธอกลายเป็น “พานจินเหลียน” จริงๆ ทั้งที่เธอพยายามต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตัวเองในเรื่องนี้มาตลอด

ที่น่าขันคือตลอดสิบปีที่เธอสู้มาไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำยังถูกมองจากคนอื่นๆ ว่าเป็นตัวปัญหา เป็นคนดื้อด้านอีกด้วย จนเธอเหนื่อยและคิดจะวางมือ คนของรัฐเดินทางมาหาเธอถึงบ้านในชนบทเพื่อขอคำยืนยันว่าเธอไม่คิดจะฟ้องร้องและเรียกร้องอีกแล้วใช่ไหม เมื่อเธอยืนยันด้วยวาจาว่าใช่ พวกเขาก็ไม่เชื่อ และคะยั้นคะยอให้เธอต้องลงนามในเอกสารเพื่อยืนยันเท่านั้น

นั่นแสดงว่าคำพูดของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งไม่มีค่าเลยใช่ไหม เธอไม่อยากยุ่งกับเอกสารใดๆ ของทางการอีกแล้ว ก็เพราะเจ้าเอกสารในการหย่านี่แหละที่เป็นอุปสรรคและปัญหาของเธอตลอดมา

เจ้าหน้าที่ถามว่าอะไรทำให้เธอคิดเปลี่ยนใจ เธอตอบตามตรงว่า ได้ถามวัวที่เลี้ยงไว้ และวัวบอกให้เลิก เธอเลยเลิก นั่นยิ่งกลับทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเหมือนโดนดูถูก และเสียศักดิ์ศรีอย่างมาก

และเพราะถูกไม่เชื่อคำพูด จึงเป็นแรงเหวี่ยงกลับให้เธอที่ตอนแรกคิดว่าจะวางมือ ก็เกิดทิฐิที่จะกลับไปสู้ต่อ และนั่นทำให้เธอต้องพบกับกลอุบายของภาครัฐเพื่อจัดการเธอในเวลาต่อมา

และสุดท้ายของเรื่องเธอก็ไม่ชนะ ภาครัฐก็ไม่ชนะ ไม่มีใครชนะ หากแต่อย่างน้อยเรื่องนี้ก็ได้สะกิดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารราชการของรัฐมากขึ้น โดยได้มีระเบียบวิธีในการรับเรื่องร้องเรียนและดูแลประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

เรื่องทำนองนี้ยังมีอยู่จริงในทุกพื้นที่ของโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ที่เสียงของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีเงิน มีอำนาจ มักถูกมองข้าม ซ้ำยังถูกเอาเปรียบด้วยวิธีต่างๆ อีกด้วย

ไม่รู้ว่าจะต้องเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง ที่เราจะได้รัฐบาลและข้าราชการที่พร้อมรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

ถามลอยๆ ไม่รู้ใครจะตอบ หรือรัฐบาลที่กำลังแย่งกันจัดตั้งอยู่นี้จะตอบ ก็จะรอดูว่า ที่เราๆ ท่านๆ เลือกตั้งพวกเขามานั้นมันคุ้มค่าเพียงใด •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์