“เศรษฐา” แจง “สื่อนอก” เล่นการเมืองเพราะความไม่เท่าเทียม ขอเป็นนายกฯ ที่นำความเปลี่ยนแปลง “ลั่น” ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค “ประยุทธ์-ประวิตร”

“เศรษฐา” แจง “ว๊อยซ์ออฟอเมริกา -ซีเอ็นเอ็น” หันเล่นการเมืองเพราะความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ขอเป็นนายกฯ ที่นำความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจและสังคมไทย “ลั่น” ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค “ประยุทธ์-ประวิตร” พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างจริงจัง นำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก

นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์ว๊อยซ์ออฟอเมริกา สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ครอบคลุมทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์กว่า 40 ภาษาทั่วโลก มีผู้รับชมและผู้อ่าน กว่า 236 ล้านคน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่โพลหลายสำนักระบุว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่ในขณะนี้ว่า ผมขอสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งทำรัฐประหารในปี 2557 หรือ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ พันธมิตรของ พล.อ. ประยุทธ์

“ผมไม่เชื่อในการทำรัฐประหาร ผมไม่สามารถนึกภาพตัวเองทำงานร่วมรัฐบาล นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีกับพวก พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ได้ ผมอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่เพียงได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมอยากเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจและสังคมไทย หากสภาพแวดล้อมไม่อำนวยให้ผมสามารถทำได้ ผมยินดียอมสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

ว๊อยซ์ออฟอเมริการายงานว่า แม้นายเศรษฐา ชายอายุ 60 ที่เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมานั้น ภายนอกอาจจะไม่มีประกายที่ทำให้มวลชนถูกตาต้องใจได้ทันที แต่เขามีความเฉียบแหลมทางธุรกิจที่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบที่พวกเขาเคยไว้วางใจนายทักษิณได้ นอกจากนี้เจ้าพ่ออสังหาฯที่สูง 192 ซม. คนนี้มีไหวพริบในการสร้างแบรนด์อีกด้วย ก่อนที่จะเข้ามาสู่เส้นทางทางการเมือง นายเศรษฐาได้สร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ชื่อ แสนสิริ ที่มีมูลค่าในตลาดสูงถึง 880 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย

นายเศรษฐา ยังกล่าวอีกว่า รู้จักกับนายทักษิณมาหลายสิบปี โดยทั้งสองครอบครัวต่างประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นความรู้สึกสิ้นหวังที่ชักนำให้เข้าสู่การเมือง เวลาที่นั่งอยู่บนยอดปิรามิด ตนจะเฝ้ามองดูว่าคนทั่วไปเขาใช้ชีวิตกันยังไง ตนรู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่เห็น เพราะความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมทั้งในด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข และปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหารที่อยู่บนโต๊ะ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นในประเทศที่มีศักยภาพมากอย่างประเทศไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่า แรงจูงใจที่กระตุ้นให้เข้าสู่การเมืองมากขึ้น คือการที่ประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 อย่างหนัก ซึ่งรายงานไอเอ็มเอฟระบุจีดีพีประเทศดิ่งลงถึง 6.1% ในปี 2563 ขณะเดียวกันผลสำรวจธนาคารโลกรายงานว่า 70% ของครัวเรือนประสบภาวะรายได้ลดลง และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย ก็เพราะพรรคมีหัวใจคือประชาชน พวกเขาได้ชักชวนให้มาร่วม จนในที่สุดก็มีความเห็นร่วมกัน

ว๊อยซ์ออฟอเมริกายังวิเคราะห์อีกว่า เพื่อไทยมีเป้าหมายสำคัญเหมือนกันกับพรรคก้าวไกล นั่นคือการหยุดอำนาจภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 9 ปี แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังแข่งขันชิงฐานเสียงในพื้นที่เขตกันเอง พร้อมกันนั้นพรรคก้าวไกลยังวางตัวเองเป็นคนที่กล้าต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาดและแก้ไข ม. 112 ที่มีโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี ขณะที่ผู้สื่อข่าวถามนายเศรษฐาว่า จะแก้ไขปัญหา 2 ประเด็นคือ กลุ่มทุนผูกขาดและ ม. 112 อย่างไร นายเศรษฐาตอบว่า ต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ผ่านกระบวนการรัฐสภา

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการจัดการกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยด้วยว่า เราต้องมีความคาดหวังอยู่กับพื้นฐานของความเป็นจริง ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับกลุ่มทุน แต่ต้องมั่นใจว่าจะสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจรายย่อยโตได้ ไม่ได้มาเพื่อทำร้ายกลุ่มทุนแต่มาเพื่อช่วยคนตัวเล็ก

“ส่วนในประเด็นความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อ ม. 112 ผมยังไม่เคยมีโอกาสคุยกับพวกเขานานพอ ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่โอเคหรือไม่โอเค ต้องหารือกัน ต้องพูดคุยกัน บางทีบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่เป็นปัญหาก็ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคุยต่อ ถ้าคิดว่ากฎหมายปัจจุบันต้องแก้ไข ก็เป็นกระบวนการของรัฐสภา” นายเศรษฐากล่าว

ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายเศรษฐา หนึ่งในสามตัวเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยระบุว่า เขาไม่ใช่คนของนายทักษิณ และกระตือรือร้นที่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประเทศไทย ส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+ รวมถึงการแต่งงานเพศเดียวกัน ขจัดการทุจริต และนำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก

“ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด 5-8 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในอาการโคม่า คุณต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อให้พวกเขากลับมายืนได้และสามารถกลับมาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกครั้ง ผมต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ ต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องออกไปคุยกับโลก เราต้องขายของให้ประเทศไทย เราต้องหาความได้เปรียบในการลงทุนในประเทศ และตีโจทย์ให้แตกว่าเราจะขายอะไรให้กับตลาดโลก” นายเศรษฐากล่าว

ซีเอ็นเอ็นยังวิเคราะห์ด้วยว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเสียงข้างมากจาก 750 ที่นั่งในรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การที่วุฒิสภามีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงให้กับพล.อ.ประยุทธ์ หมายความว่าพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันต้องการคะแนนเสียงมากกว่า 376 ที่นั่งจากสภาล่าง จึงจะสามารถเลือกผู้นำคนต่อไปได้ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า อย่าประเมิน พล.อ.ประยุทธ์ต่ำเกินไป ในปี 2557 รัฐธรรมนูญที่คนของเขาได้ร่างขึ้นมา ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันได้ที่นั่งมากพอที่จะเลือกเขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดก็ตาม เขาจะใช้ประโยชน์จากวุฒิสภาในการเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน เมื่อเขาได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาแล้ว เขาสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนอื่นๆ เข้าร่วมรัฐบาลแม้จะมีเสียงข้างน้อยในสภาล่างก็ตาม

//////