สมี-เจ้าคุณ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

สมี-เจ้าคุณ

 

ท่ามกลางบรรยากาศหลังการเลือกตั้งที่ฝุ่นยังคลุ้งตลบอยู่ขณะนี้ เรามาหาอะไรคุยเล่นฆ่าเวลาดีไหมครับ

ให้บังเอิญที่ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน เกิดมีข่าวโด่งดังในวงการคณะสงฆ์เรื่องความประพฤตินอกลู่นอกทางของพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ราวสามสี่รูป ซึ่งเวลานี้ได้เปลี่ยนฐานะกลายเป็นสมีไปหมดแล้ว

คำว่า “สมี” นี้ ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นกันได้ง่ายๆ นะ เพราะพจนานุกรมบอกว่าใช้เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ถึงขั้นปาราชิก

ขยายความต่อไปว่า เป็นผู้ที่มีคดีความหรือมีเรื่องราวทำผิดพระวินัยขั้นมหึมา

ถ้าใครทำผิดแล้วก็ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปสึกกับพระรูปอื่นหรือไปสึกกับต้นโพธิ์แต่อย่างใด แถมจะกลับมาบวชใหม่ก็ไม่ได้ด้วยนะครับ

ขาดคุณสมบัติเสียยิ่งกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีเป็นไหนๆ

อาบัติปาราชิกนั้นมีอยู่สี่ข้อด้วยกัน คือ เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสธรรม

สามข้อแรกนั้นพอเข้าใจได้นะครับว่าหมายถึงอะไร

ส่วนข้อที่สี่คืออวดอุตริมนุสธรรมนั้น หมายถึงการอวดโม้ว่ามีธรรมวิเศษ เช่น สำเร็จมรรคผล เป็นพระอรหันต์ได้นิพพาน ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

พระอรหันต์จริงท่านไม่พูดโฆษณาตัวเองหรอกครับ

 

ข่าวดังครั้งนี้นอกจากทำให้เราได้มีโอกาสทบทวนความรู้เกี่ยวกับสมี ปาราชิก และอวดอุตริมนุสธรรมแล้ว ยังทำให้ผมนึกถึงคำอีกคำหนึ่งขึ้นมา คำนี้ได้ยินกันบ่อยครั้งในชีวิตของเราในความหมายต่างๆ กัน บางความหมายก็เลือนหายไปแล้วจากการใช้งานในปัจจุบัน บางความหมายก็ยังคงดำรงอยู่

ถูกแล้วครับ วันนี้ผมจะพูดถึงคำว่า “เจ้าคุณ”

คำว่าเจ้าคุณนี้เป็นภาษาปาก คือการเรียกอย่างไม่เป็นทางการบ้าง หรือบางคราวก็เป็นตำแหน่งทางราชการด้วยซ้ำ ใช้ในความหมายที่เป็นการยกย่องอย่างสูง

ผมนึกสันนิษฐานเองว่าน่าจะมาจากความหมายว่า ท่านผู้นั้นเป็นเจ้าของบุญคุณใหญ่หลวงของเรา

เรื่องเจ้าคุณที่เป็นพระภิกษุ ขีดเส้นใต้สองเส้นพักไว้เสียก่อนนะครับ เดี๋ยวค่อยย้อนมาว่ากันอีกทีหนึ่ง

 

เจ้าคุณที่ไม่ใช่พระภิกษุกลุ่มแรก ที่ยังพอเคยได้ยินได้ฟังหรืออ่านผ่านตากันมาก่อน เป็นคำเรียกขานสำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายในสมัยก่อนซึ่งมีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไป

ถ้าบรรดาศักดิ์ต่ำกว่านั้นก็เรียกว่า คุณพระ คุณหลวง และท่านขุน ลดหลั่นลงไปจนถึงท่านหมื่น ท่านพัน

ข้าราชการรายใดมีบรรดาศักดิ์สูงถึงชั้นพระยา คนทั่วไปก็เรียกว่าเจ้าคุณทั้งสิ้น เช่น ปู่ของผม มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็นพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย คนทั้งหลายก็จะเรียกท่านว่า เจ้าคุณสุนทรเทพฯ

ถ้าเป็นการเจรจากันต่อหน้าก็นิยมเรียกท่านแต่เพียงว่าท่านเจ้าคุณ ตามธรรมเนียมไทยแต่ก่อนที่ไม่ขานชื่อผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น

ในบางครอบครัว ลูกหลานของผู้เป็นเจ้าคุณ อาจเรียกขานบุพการี หรือญาติผู้ใหญ่ของตนโดยใช้คำว่าเจ้าคุณนำหน้าก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใด เช่น ถ้านึกครึ้มขึ้นมาผมอาจจะเรียกปู่ผมว่า เจ้าคุณปู่ก็ทำได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ถ้าเป็นข้าราชการผู้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เช่น เป็นเจ้าพระยาหรือสมเด็จเจ้าพระยา ผมสังเกตดูคนโบราณท่านก็จะไม่เรียกว่าเจ้าคุณเสียแล้ว เพราะดูจะต่ำชั้นไปนิดหนึ่ง

วิธีการเรียกขานก็จะเรียกว่าเจ้าพระยา แล้วตามด้วยราชทินนามอย่างย่อ เช่น เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ชาวบ้านร้านตลาดนิยมออกนามท่านว่า เจ้าพระยาบดินทร์ หรือถ้ายังติดปากเรียกว่าท่านเป็นเจ้าคุณมาแต่เดิม ก็เลี่ยงการออกราชทินนามเสีย แล้วเติมถ้อยคำอื่นเข้าไปที่เป็นการยกย่องพิเศษ เช่น กล่าวถึงท่านแล้วเรียกว่า ท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่

เพียงนี้ก็เห็นจะใช้การได้แล้ว

 

ส่วนคำว่า “เจ้าคุณ” ในความหมายที่สอง ใช้เป็นคำยกย่องสำหรับผู้มีเกียรติยศสูง ในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยใช้เรียกพระญาติที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่หนึ่ง เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีฐานะเป็นเจ้า เนื่องจากไม่ได้เป็นพระญาติโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ตัวอย่างเช่น พี่ชายของสมเด็จพระอมรินทร์ซึ่งสูญหายไปในเวลาที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามแต่ยังมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ ท่านมีนามว่า “ชูโต” คนทั้งหลายก็เรียกท่านว่า เจ้าคุณชูโต ส่วนน้องสาวของท่านอีกคนหนึ่งมีนามว่า “นวล” คนทั้งหลายก็เรียกขานท่านว่า เจ้าคุณนวล ดังนี้เป็นต้น

ลูกชายและลูกสาวของท่านเหล่านี้ยังนับว่าเป็นพระญาติสนิท เพราะอย่างไรเสียก็อาจนับเนื่องได้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับรัชกาลที่สอง แต่โบราณมาจึงใช้คำว่าเจ้าคุณนำหน้านามท่านเหล่านั้นด้วย โดยออกนามว่าเจ้าคุณชายหรือเจ้าคุณหญิงแล้วตามด้วยชื่อตัวท่าน

 

ส่วนคำว่า “เจ้าคุณ” ในความหมายที่สาม เป็นคำยกย่องหรือบรรดาศักดิ์สำหรับสตรีที่รับราชการฝ่ายใน หรือผู้ที่ทรงพระกรุณายกย่องเป็นพิเศษ

เช่น เมื่อครั้งรัชกาลที่หนึ่ง ทรงยกย่องพระพี่เลี้ยงฉิม ซึ่งเคยดูแลท่านมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขึ้นเป็นเจ้าคุณ มีราชทินนามต่อท้ายว่า เจ้าคุณบวรโภชน์

หรือในรัชกาลต่อมา ข้าราชสำนักฝ่ายในที่มีสกุลสูงและมีตำแหน่งสำคัญก็ได้รับยกย่องเป็นเจ้าคุณอีกหลายท่าน เช่น เจ้าคุณปราสาท (ต่าย) เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) และเจ้าคุณวังหน้า (คุ้ม)

ทั้งสามท่านนี้ล้วนแต่เป็นเจ้าคุณหญิงมาแต่เดิม เพราะทุกท่านล้วนแต่เป็นธิดาของท่านเจ้าคุณนวล ซึ่งปรากฏนามในชั้นหลังว่าเจ้าคุณพระอัยยิกานวลทั้งสิ้น

คำว่า “เจ้าคุณ” ในความหมายที่สามนี้ ภายหลังมีแนวปฏิบัติที่ขยายออกไปสองกรณี

 

กรณีที่หนึ่ง เป็นการพระราชทานเกียรติยศเพิ่มเติม สำหรับเจ้าจอมมารดาคือบาทบริจาริกาหรือพระสนมที่มีพระราชโอรสธิดา

และในเวลาต่อมาพระราชโอรสธิดาเหล่านั้น ทรงอยู่ในฐานะสำคัญหรือทรงประกอบพระกรณียกิจโดดเด่นเป็นพิเศษ ท่านผู้เป็นพระชนนีจะได้รับยกย่องเป็น “เจ้าคุณจอมมารดา”

เช่น เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่สี่ ท่านเป็นแต่เพียงเจ้าจอมมารดาสำลี เมื่อถึงรัชกาลที่ห้า พระธิดาของท่านองค์หนึ่งได้เป็นพระภริยาเจ้า คือพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ท่านจึงได้รับยกย่องเป็นเจ้าคุณจอมมารดาสำลี

หรืออีกท่านหนึ่งได้แก่ เจ้าคุณจอมมารดาเอม ท่านเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระราชโอรสธิดาท่านก็ได้เป็นเจ้าจอมมารดาเอม ครั้นถึงรัชกาลที่ห้า ลูกชายคนใหญ่ของท่านคือพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ได้เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ตำแหน่งวังหน้า ท่านจึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเอม

กรณีที่สอง เป็นการพระราชทานเกียรติยศพิเศษแก่สตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และมีการพระราชทานราชทินนามเฉพาะรายด้วย ที่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อนคือเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ในรัชกาลที่หกท่านหนึ่ง และในรัชกาลปัจจุบัน คือเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ดังที่ทราบกันทั่วไปแล้วอีกท่านหนึ่ง

 

ข้อสี่ซึ่งเป็นการใช้คำว่า “เจ้าคุณ” เป็นกรณีสุดท้าย คือใช้เป็นคำเรียกสำหรับพระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เหนือชั้นกว่าพระครู มีคำขึ้นต้นว่า “พระ” แล้วตามด้วยราชทินนามไพเราะต่างๆ ในระหว่างพระราชาคณะที่เป็นเจ้าคุณนี่เองยังมีการแบ่งเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกัน ขึ้นต้นตั้งแต่เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าคุณชั้นนี้ ราชทินนามมีความหลากหลายมาก เช่น พระศรีวชิรากร พระอมรโมลี หรือพระกิตติวิมลเมธี เป็นต้น

ถัดขึ้นไปก็เป็นพระราชาคณะชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม และชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งบางทีก็เรียกกันเป็นภาษาปากว่าเป็นชั้นพรหม เพราะราชทินนามของเจ้าคุณเหล่านี้จะขึ้นต้นด้วยคำว่า ราช เทพ ธรรม และพรหม เป็นส่วนใหญ่ จะมีข้อยกเว้นบ้างก็เล็กน้อยเต็มที

ตัวอย่างราชทินนามของพระราชาคณะลำดับชั้นต่างๆ ก็เช่น พระราชกิตติมงคล พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมดิลก และพระพรหมเสนาบดี เป็นต้น

เหนือชั้นขึ้นไปกว่านี้ก็เป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้วล่ะครับ ซึ่งเราจะไม่เรียกเจ้าประคุณสมเด็จทั้งหลายว่า “เจ้าคุณ” เพราะสมณศักดิ์ของท่านเกินเจ้าคุณขึ้นไปแล้ว

จะเรียกโดยย่อแต่เพียงว่า สมเด็จนั้นสมเด็จนี้ เป็นต้น

 

อดีตพระภิกษุที่ลาสิกขาไปแล้วเพราะมีคดีความอื้อฉาวอยู่ในเวลานี้ เคยเป็นพระราชาคณะชั้นต้นหรือชั้นสามัญที่ว่ามานี้แหละ วันนี้มีฐานะเป็นคนธรรมดาแล้ว คำว่าเจ้าคุณที่เคยยกย่องกันมาแต่ก่อนก็กลายเป็นอากาศธาตุ

ถ้าเรียกตามแบบโบราณ จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก สมี แล้วตามด้วยชื่อตัว

ระหว่างที่รอเขาตั้งรัฐบาลกันอยู่ พูดเรื่องเจ้าคุณเป็นการฟื้นความหลังก็เพลินดีเหมือนกันครับ

ที่ว่าเพลินนี้คนเขียนเพลินนะครับ ส่วนคนอ่านจะเพลินหรือไม่อย่างไร

อาตมาขอไม่รับผิดชอบนะคุณโยม