‘ตู้ฉีฟง’ ยอดผู้กำกับฯ ฮ่องกง ‘ผมสนใจหนังที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง’

คนมองหนัง

“จอห์นนี่ ตู้” หรือ “ตู้ฉีฟง” ผู้กำกับภาพยนตร์วัย 68 ปี ชาวฮ่องกง มีผลงานหนังแนวอาชญากรรมที่โด่งดังมากมายหลายเรื่อง อาทิ

The Mission, PTU, Election (เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลหนังเมืองคานส์), Election 2, Exiled (เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ เทศกาลหนังเวนิส), Mad Detective (เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ เทศกาลหนังเวนิส), Sparrow (เข้าชิงรางวัลหมีทองคำ เทศกาลหนังเบอร์ลิน), Vengeance (เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลหนังเมืองคานส์), Life Without Principle (เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ เทศกาลหนังเวนิส) และ Drug War

เร็วๆ นี้ “ตู้ฉีฟง” เพิ่งเดินทางไปร่วมกิจกรรม “มาสเตอร์คลาส” ที่เทศกาลภาพยนตร์ฟาร์อีสต์ เมืองอูดิเน ประเทศอิตาลี และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติ ในประเด็นว่าด้วยการเซ็นเซอร์, การเมืองฮ่องกง และอนาคตของภาพยนตร์เอาไว้อย่างน่าสนใจ

Election 2

ในประเด็นเรื่องการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ตู้ฉีฟงนิยามว่ากระบวนการเซ็นเซอร์หนังของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีลักษณะ “ยากที่จะคาดเดาถึงมาตรฐานความถูกต้องเหมาะสม”

ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อว่า จริงๆ แล้ว แม้กองเซ็นเซอร์จีนจะมีอิทธิพลต่อคนทำหนังในแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ทว่า พวกเขาก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดเสียทีเดียว

ปัญหาของกองเซ็นเซอร์จีนในมุมมองของผู้กำกับฯ อาวุโส ก็คือ “พวกเขาไม่เคยบอกกับคุณว่าอะไรคือสิ่งถูก หรืออะไรคือสิ่งผิด พวกเขาจะบอกแค่เพียงว่ามีอะไรบ้างที่พวกเขาไม่อยากเห็น (ในภาพยนตร์) แล้วก็พูดว่า ‘คุณตัดนู่นออกไปหน่อยได้ไหม? คุณตัดนี่ออกไปหน่อยได้ไหม?'”

ตู้ฉีฟงยกตัวอย่างหนังเรื่อง “Mad Detective” ของเขา ซึ่งทางการจีนไม่ได้ต้องการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม แต่กลับวิตกกังวลเกี่ยวกับ “องค์ประกอบทางการเมือง” ที่ถูกสอดแทรกเข้ามาในภาพยนตร์

“กระบวนการเซ็นเซอร์มันขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีเป้าหมายอยากจะควบคุมอะไร อาจจะเป็นเรื่องการเมือง บางที่อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประท้วง (ต่อต้านรัฐบาล) เมื่อปี 2019 (ที่ฮ่องกง)

“คนทำหนังเลยต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ถ้าตัวผู้กำกับฯ ไม่ยอมทำสิ่งนี้ บรรดานายทุนก็จะลงมือทำ”

คนทำหนังที่คลุกคลีกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงมาตั้งแต่ยุคปลาย 1970 ชี้ว่า ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ในอนาคต คนทำหนังฮ่องกงจำนวนหนึ่งจะสร้างสรรค์ผลงานแบบ “เพลย์เซฟ” กันมากขึ้น

“นี่ไม่ใช่ฮ่องกงแบบเดิม” ตู้ฉีฟงระบุ

ตู้ฉีฟง ภาพประกอบ Ronny Hartmann / AFP

หนึ่งในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่อยู่ในมือของตู้ฉีฟง ก็คือ หนังที่จะถ่ายทอดเรื่องราวว่าด้วย “ความหวัง”

“ความหวังคือภาระที่เราแบกเอาไว้” คนทำหนังรายสำคัญของฮ่องกงเอ่ย ก่อนจะกล่าวต่อว่า “ย้อนไปในปี 2003 คนฮ่องกงต่างรู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจ พวกเรายังคงมีความหวัง เมื่อ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’ ให้สัญญากับพวกเราเรื่อง ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ตอนนั้น รัฐบาลจีนยังไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าผู้ว่าการฮ่องกงจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ไม่กี่ปีถัดจากนั้น พวกเราก็ยังคงมีความหวัง ทุกๆ คนต้องมีความหวัง มิฉะนั้น เราจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร? (แต่) อีก 20 ปีต่อมา ความรู้สึกของผมกลับเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราเคยคาดหวังเอาไว้มันได้กลายเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงทั้งหมด”

ไม่กี่เดือนก่อน ตู้ฉีฟงเพิ่งทำให้โลกโซเชียลมีเดียของจีนคุกรุ่น เมื่อเขาไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในฐานะกรรมการตัดสินรางวัล แล้วเอ่ยถึงประเด็นเรื่อง “การปกครองระบอบอำนาจนิยม” และ “การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” ระหว่างการแถลงข่าว

 

ท่าทีทางการเมืองของตู้ฉีฟงนั้นแยกไม่ออกจากทรรศนะที่เขามีต่อภาพยนตร์ในโลกยุคปัจจุบัน

“ผมคิดว่าในทุกวันนี้ หนังทั่วโลกมีคุณภาพที่ย่ำแย่กว่าแต่ก่อน” คนทำหนังวัย 68 ปี บ่นระบาย ก่อนที่เขาจะถูกซักต่อในทันทีว่า แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้หนังเหล่านี้มีคุณภาพดีขึ้น?

แม้คำตอบแรกที่หลุดออกมาจากปากตู้ฉีฟงจะเป็นวลีสั้นๆ ว่า “ผมไม่รู้” แต่สุดท้าย เขาก็แสดงจุดยืนและความคาดหวังออกมา

“ภาพยนตร์ถูกทำให้เป็นการเมืองมากขึ้น หนังจำนวนมากได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัญหาความไม่เท่าเทียม ในภาวะที่พวกเราปล่อยให้หลายสิ่งหลายอย่างขาดความสมดุล

“ทำไมพวกเรายังต้องทำหนังกันอยู่? เราไม่ได้ทำหนังเพื่อจะส่งมันไปเทศกาลภาพยนตร์ แต่เราทำหนังเพื่อจะบอกเล่าถึงสาระแก่นสารบางอย่าง

“ตอนไปเบอร์ลิน ผมเคยพูดว่า ผมจะสนใจหนังที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หนังที่ใส่ใจกับสัจจะความจริง เราต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากที่บ้านเกิด…

“การใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกงคือการอยู่กับความเปลี่ยนแปลง” •

 

ข้อมูลจาก

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3219092/all-lie-filmmaker-johnnie-hong-kong-censorship-citys-cinema-human-greed-and-prospects-making

 

 

| คนมองหนัง