ความเห็นแย้ง ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน สถาปัตยกรรมไทย (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความเห็นแย้ง

ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน

สถาปัตยกรรมไทย (2)

 

ปัญหาสำคัญประการสุดท้ายที่อนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยสภาสถาปนิก (ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่เชิญมาอภิปรายในงาน) พูดถึงมากบนเวที “ระดมความคิดการกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” คือ การขาดซึ่งองค์ความรู้ที่ถูกต้องเรื่อง “เอกลักษณ์และความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรม” ในหมู่ผู้ออกแบบอาคารใหม่ๆ ในพื้นที่วัด

ในทัศนะของอนุกรรมการชุดนี้ มองว่า ปัจจุบันมีวัดมากมายได้สร้างอาคารขึ้นมาโดยไม่เข้าใจหลักการทางพุทธศาสนาที่แท้จริง อาคารที่ขาดความเข้าใจในลักษณะไทย อาคารที่ออกแบบโดยไม่รู้เรื่องฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมไทย (มีการยกตัวอย่างอาคารภายในวัดยานาวาประกอบ) อาคารที่สร้างโดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดกำลังค่อยๆ บ่อนทำลายงานสถาปัตยกรรมไทย

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่วัดจึงต้องได้รับการออกแบบโดยผู้มีความรู้ในเรื่องงานสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกต้อง

และเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้มีความรู้ดังกล่าว จึงเห็นควรว่าจะต้องมีกระบวนการบางอย่าง (ยังไม่ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง) ในการพิสูจน์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทย และทำการออกใบรับรอง (หรืออะไรก็ตามที่มีลักษณะเช่นนี้) ให้กับผู้นั้น

แม้ยังไม่ได้สรุปฟันธง แต่การนำเสนอบนเวทีมีการพูดในทำนองว่า ผู้ที่ผ่านมาตรฐานความรู้แล้ว จะได้รับใบอนุญาต ที่แสดงว่ามีสิทธิในการออกแบบอาคารภายในวัดได้

อาคารสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นภายในวัดยานนาวา ที่ได้รับการอธิบายบนเวที “ระดมความคิดการกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” ว่าออกแบบอย่างไม่เหมาะสม
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนา

สิ่งที่น่าสนใจคือ หนึ่งในกรรมการสภาสถาปนิกได้กล่าวว่า ขอให้สถาปนิกทั้งหลายอย่ากังวลในสิ่งที่อนุกรรมการชุดนี้กำลังจะทำ เพราะเป้าหมายหลักของการเข้ามาควบคุมดูแลมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย จะมุ่งควบคุมดูแลเฉพาะอาคารที่เป็น “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” ในพื้นที่วัดเท่านั้น

ส่วนอาคารที่เป็น “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” “สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย” “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” และ “อาคารอนุรักษ์” จะไม่มีการเข้าไปกำหนดมาตรฐานหรือควบคุมดูแลอะไร สามารถออกแบบสร้างสรรค์หรือดำเนินการไปตามมาตรการปกติเหมือนที่เคยเป็นมา

แต่ส่วนตัวเมื่อได้ฟังถึงตรงนี้ กลับเห็นว่าข้อเสนอนี้แหละคือสิ่งที่น่ากังวลอย่างที่สุด

สิมอีสานยุคใหม่ ณ วัดป่าเนรัญชราวนาราม อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ กับคำถามที่น่าสนใจว่า สิมสมัยใหม่ในลักษณะเช่นนี้จะอยู่ในนิยาม “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ที่ไม่ต้องถูกควบคุม หรือจะเป็นสถาปัตยกรรมประเพณี (สถาปัตยกรรมในพื้นที่วัด) ที่จะต้องถูกควบคุม หากมีเกณฑ์มตรฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้นจริงในอนาคต
ที่มาภาพ : ติ๊ก แสนบุญ

เราต้องตระหนักให้ดีนะครับว่า การจะออกระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม ซึ่งส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมากนั้น คำนิยามในสิ่งที่เรากำลังอยากจะออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาบังคับนั้น ควรจะต้องมีความชัดเจนอย่างปราศจากข้อสงสัย

คำถามคือ อะไรคือนิยามและขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี”

แน่นอน ในวงการสถาปัตยกรรมไทย เราใช้คำนี้บ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการพูดถึงงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เลือกใช้วิธีการออกแบบแผนผัง ที่ว่างภายใน รูปทรง และองค์ประกอบ ที่อ้างอิงงานสถาปัตยกรรมแบบจารีตค่อนข้างมาก ซึ่งผมเองก็ใช้คำนี้ในความหมายหลวมๆ แบบนี้ในหลายโอกาสเช่นกัน

แต่นั่นก็เป็นการใช้ในแบบที่เราทุกคนรู้ดีว่ามันมีข้อจำกัด พูดไปบางคนก็ไม่ยอมรับ บางคนก็ยอมรับ (ศิลปินแห่งชาติสถาปัตยกรรมไทยบางท่านไม่ชอบเลยที่ใครจะเรียกงานของท่านว่า สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) ถกเถียงกันแล้วก็ปล่อยผ่านมันไป เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และสิทธิในการออกแบบ

แต่หากเริ่มมีการออกกฎระเบียบควบคุมเมื่อไร นิยามที่ชัดเจนและยอมรับโดยทั่วกันอย่างปราศจากข้อสงสัยคือสิ่งที่จำเป็นสูงสุดอันดับแรก

ผมเลยอยากถามว่า เรามีนิยามที่ชัดเจนแน่แล้วหรือว่ามันคืออะไร มีใครที่สามารถจะนิยามได้จริงๆ หรือว่า “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” คืออะไรกันแน่

 

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาบ้างประมาณ 20 ปี (แม้ไม่มากเท่าผู้อาวุโสหลายท่าน แต่ก็ต้องถือว่าไม่น้อยนะครับ) หากต้องคิดนิยามอย่างจริงจัง โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีงานสร้างใหม่ชิ้นไหนที่ควรจะเรียกว่า “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” เลยด้วยซ้ำไป

เพราะงานออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะออกแบบโดยมีรูปแบบใกล้เคียงกับงานแบบจารีตแค่ไหน ต่างล้วนสร้างขึ้นด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ 200 ปีก่อนไม่มีทั้งสิ้น ทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานสมัยใหม่ที่แตกต่างจากการใช้งานแบบประเพณี (มากบ้างน้อยบ้าง) ทั้งสิ้น และทั้งหมดล้วนถูกออกแบบขึ้นด้วยโลกทัศน์ที่แตกต่างจากโลกทัศน์แบบจารีตประเพณีอย่างสิ้นเชิง

แน่นอน คงมีคนไม่เห็นด้วยกับนิยามนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่แปลกเลยนะครับ (ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับนิยามของผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นเช่นกัน) ตราบใดที่เราไม่พยายามออกกฎเกณฑ์อะไรมาควบคุมในสิ่งที่มันเลื่อนไหลมากแบบนี้

แต่มันจะแปลกและน่ากลัวมาก เมื่อใครก็ตามเริ่มต้องการออกกฎเกณฑ์อะไรสักอย่างมาควบคุมงานออกแบบคนอื่น โดยตั้งต้นด้วยการใช้คำว่า “สถาปัตยกรรมไทยปะเพณี” ที่ไม่มีทางจะหานิยามที่แท้จริงได้

ยิ่งไปกว่านั้น อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “สถาปัตยกรรมไทยประยุต์” กับ “สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย” อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” กับ “สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย” และ อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” กับ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”

ถามจริงๆ เลยนะครับ มีใครตอบได้บ้าง?

 

บนเวทีสัมมนาในวันนั้น ก็ให้คำตอบนี้ไม่ได้นะครับว่าอะไรคือ “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี”

แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้นำเสนอบนเวทีแก้ปัญหานี้ด้วยการพูดในลักษณะที่ว่า “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” คือ สถาปัตยกรรมทั้งหมดที่สร้างขึ้นในพื้นที่วัด

เรียนตามตรงว่า เป็นนิยามที่อันตรายอย่างที่สุด

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คือ ในวงการสถาปัตยกรรมของไทยแทบทั้งหมด เรานิยามและเข้าใจร่วมกันว่า “สิมอีสาน” (โบสถ์ที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมอีสาน) คือ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ซึ่งในการนำเสนอของอนุกรรมการชุดนี้บอกไว้เมื่อตอนต้นว่า การกำหนดมาตรฐานจะไม่ก้าวไปควบคุม “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”

แต่ในเวลาเดียวกัน อนุกรรมการชุดนี้ก็เสนอว่าจะเข้าไปควบคุมสิ่งก่อสร้างในพื้นที่วัด (สถาปัตยกรรมไทยประเพณีตามความหมายของอนุกรรมการ)

ตกลง “สิมอีสาน” ที่สร้างขึ้นใหม่ในอนาคต จะถูกควบคุมด้วยเกณฑ์มาตรฐานนี้หรือไม่?

เอายังไงกันดีกับการซ้อนทับชวนปวดหัวนี้ เพราะในด้านหนึ่ง มันคือ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ที่จะไม่ถูกควบคุม แต่ในอีกด้านหนึ่งมันเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพื้นที่วัด (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) ที่จะต้องถูกควบคุม

ไม่ใช่เฉพาะแค่ “สิมอีสาน” นะครับ โบสถ์ล้านนา โบสถ์ในพื้นที่ภาคใต้ ฯลฯ ก็จะตกอยู่ในวังวนของความคลุมเครือนี้เช่นกัน

งานออกแบบอาคารในวัดที่นครสวรรค์ เราจะนับเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้วหรือยัง? และในสระบุรี ลพบุรี เพชรบุรี ล่ะครับเราจะนิยามยังไง?

มันจะกลายเป็นปัญหาโลกแตกว่าด้วยเส้นแบ่งระหว่าง “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” กับ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ที่ไม่มีวันเจอคำตอบ

 

ในวงวิชาการ หลายท่านนิยาม “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” (ตามนิยามที่คุณ Bernard Rudofsky ให้ไว้) ว่าคือ สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่มิใช่สถาปนิก (architecture without architects)

ถ้าหากพิจารณาตามนิยามนี้ ก็แสดงว่า เกณฑ์มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย จะไม่ลงมาควบคุมงานออกแบบที่เกิดขึ้นโดยช่างท้องถิ่นหรือผู้รับเหมาที่ไม่ได้เป็นสถาปนิก

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนผมอธิบายไปแล้วว่า การออกแบบและก่อสร้างอาคารโดยผู้รับเหมา เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งที่ทำให้อนุกรรมการชุดนี้ต้องการสร้างเกณฑ์มาตรฐานขึ้นมาควบคุม

นั่นก็แสดงว่า นิยามสากลว่าด้วย “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ของคุณ Bernard Rudofsky ก็ใช้ไม่ได้อีกในกรณีนี้

 

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาว่าด้วยการนิยาม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรกที่ต้องคำนึงถึงอย่างละเอียด

ผมอยากเสนอว่า เราไม่ควรแก้ปัญหาการนิยามที่ไม่มีวันจบสิ้นได้นี้ ด้วยการเหมารวมอาคารทุกประเภทที่สร้างขึ้นในพื้นที่วัดว่าคือ “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” ที่จะต้องถูกควบคุม เพราะนั่นเท่ากับเป็นการขยายปัญหาให้กว้างออกไปอย่างไม่รู้จบแทน

ผมจะทิ้งประเด็นปัญหาการนิยามเอาไว้เท่านี้ (จริงๆ มีปัญหาว่าด้วยการนิยามศัพท์อีกมาก แต่ด้วยพื้นที่บทความมีจำกัด เลยจะขอจบเอาไว้เพียงแค่นี้) โดยจะข้ามไปสู่ประเด็นที่ทิ้งเอาไว้เมื่อต้นบทความ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้สภาสถาปนิกเกิดความคิดในการอยากกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้นมา

นั่นก็คือ ปัญหาว่าด้วยการไม่มีความรู้ที่ดีพอในเรื่อง “เอกลักษณ์และความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรม” ในกลุ่มคนที่เข้ามาทำการออกแบบก่อสร้างในพื้นที่วัด จนทำให้หลายท่านเกิดความรู้สึกว่า งานสถาปัตยกรรมไทยกำลังถูกบ่อนทำลายลง

และในไม่ช้า เราอาจจะต้องสูญเสียความเป็นไทยในด้านสถาปัตยกรรมในที่สุด