แยกชิ้นกับซาวด์บาร์, อะไรดี?

Sennheiser Ambeo Soundbar Max

ปัจจุบันลำโพงชิ้นเดียวอย่าง Soundbar ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องเพราะนอกจากจะสะดวกในการติดตั้งใช้งาน และไม่สิ้นเปลืองพื้นที่แล้ว ยังให้คุณภาพเสียงออกมาเป็นที่น่าพอใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะรุ่นหลังๆ ที่สามารถรองรับฟอร์แม็ตเสียงที่เป็นพัฒนาการล่าสุดอย่าง Dolby Atmos ได้ด้วยแล้ว ยิ่งทวีความนิยมมากขึ้นจนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีผู้ผลิตลำโพงรายใดไม่ลงมาเล่นในตลาดนี้เลย

เมื่อพูดถึงดอลบี้ แอ็ตมอส แล้วเป็นที่ทราบกันดี ว่าประกอบไปด้วยแชนเนลเสียงมาตรฐานในระบบ 5.1.2 และมีบ้างบางห้องที่ติดตั้งในระบบ 5.1.4 หรืออาจจะไปถึง 7.1.4 ก็มี

โดยเลข 5 หรือ 7 หมายถึงแชนเนลเสียงหลักด้านหน้าซ้าย/เซ็นเตอร์/ขวา และแชนเนลเสียงเซอร์ราวด์ที่อาจจะมีเพียงซ้าย/ขวา (รวมเป็นห้า) กับมีเพิ่มด้านหลัง (Surround Back) ของตำแหน่งนั่งเข้ามาอีกสอง (รวมเป็นเจ็ด) ขณะที่เลข 1 คือแชนเนลเสียงของย่านความถี่ต่ำพิเศษ (LFE : Low Frequency Effect) ส่วนเลข 2 หรือ 4 เป็นแชนเนลเสียงพิเศษที่อยู่เหนือศีรษะ (Height Channel)

ซาวด์บาร์รุ่นใหม่ๆ หลายชิ้น มีวิวัฒน์ทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มเรือธงของหลายๆ ค่าย ที่ให้การทำงานกับดอลบี้ แอ็ตมอส ได้อย่างน่าทึ่ง อาทิ Sennheiser Ambeo Soundbar Max และ Devialet Dinone เพราะเพียงชิ้นเดียวสามารถรองรับระบบ 5.1.2 ได้อย่างฟัง

และก็มีบ้างที่น่าทึ่งมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะออกแบบมาให้รองรับได้ถึง 21 แชนเนล ด้วยระบบ 11.4.6 อย่าง Nakamichi Dragon Soundbar ที่เคยนำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสักเดือนสองเดือนที่ผ่านมา แต่ตัวหลังนี้ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มลำโพงชิ้นเดียว เพราะทั้งซิสเต็มมีถึงห้าชิ้น คือนอกจากแท่งซาวด์บาร์แล้ว ยังมีลำโพงเซอร์ราวด์กับสับ-วูฟเฟอร์อีกอย่างละสองตู้ที่ทำงานร่วมกัน

แต่โดยภาพรวมแล้วนากามิชิ ดรากอน ก็ยังเรียกว่าซาวด์บาร์อยู่ดี เช่นเดียวกับเรือธงของหลายๆ ค่าย ที่ส่วนใหญ่มักจะทำออกมาแบบสี่ชิ้น/ชุด คือนอกจากแท่งซาวด์บาร์แล้ว ยังมีลำโพงเซอร์ราวด์อีกหนึ่งคู่กับสับ-วูฟเฟอร์อีกตู้หนึ่ง ซึ่งทั้งซิสเต็มมักจะถูกออกแบบให้เชื่อมต่อการทำงานกันแบบไร้สาย

Sennheiser Ambeo Soundbar Max

ย้อนกลับไปที่คำถามซึ่งนำมาจ่าหัวเอาไว้ข้างต้น ด้วยมีหลายความสงสัยข้องใจส่งเสียงมาให้ได้ยิน ทำนองว่าซาวด์บาร์แบบชิ้นเดียวส่วนใหญ่ที่รองรับมาตรฐานดอลบี้ แอ็ตมอส แบบ 8 แชนเนล หรือระบบ 5.1.2 นั้น เมื่อเทียบกับลำโพงแบบแยกชิ้นแต่ละแชนเนลเป็นอิสระ (คือใช้ลำโพง 8 ตู้) นอกจากความได้เปรียบในแง่ของการติดตั้งแล้ว ทางด้านภาพรวมของเสียงมันพอจะเทียบเคียงกันได้ไหม

เพราะส่วนใหญ่ซาวด์บาร์พวกนี้มักมีราคาค่อนข้างสูง ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นสองตัว แต่ละชิ้นราคาเกือบจะแตะหลักแสนอยู่แล้ว

และหากพอจะรับมือกับราคาพวกนี้ได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาถ้าต้องเพิ่มอีกหน่อยเพื่อไปใช้ลำโพงแยกชิ้นแบบเต็มระบบ เพราะน่าจะได้ภาพรวมของเสียงที่ดีกว่า, หรือว่าไง?

ไม่ว่าอะไรอยู่แล้วครับ, แต่ใคร่แจงอย่างนี้ว่าเจตนาของซาวด์บาร์ที่ถูกออกแบบมานั้น ก็เพื่อต้องการยกคุณภาพเสียงของทีวีเป็นหลัก แม้ว่าทีวีรุ่นใหม่ๆ และรุ่นใหญ่ๆ ของหลายค่ายจะใส่เทคโนโลยีพร้อมอุปกรณ์รวมทั้งชุดตัวขับเสียงที่ทันสมัยแค่ไหน ก็ยังมีข้อจำกัดนานาโดยเฉพาะในแง่ของกายภาพ ที่ทำให้ไม่สามารถรังสรรค์ภาพรวมของเสียง ทั้งเสียงหลักและบรรยากาศเสียงโดยรวม ให้ออกมาเหมือนกับลำโพงที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะอย่างซาวด์บาร์ได้

ลำโพงทีวีอย่างซาวด์บาร์จึงเป็นทางออกของผู้ต้องการทั้งคุณภาพเสียง (ที่ดีกว่าทีวีอย่างเห็นได้ชัด) กับความสะดวกในการติดตั้งใช้งานที่ไม่ต้องวุ่นวายเดินสายให้เวียนหัว

แต่หากเทียบภาพรวมของเสียงกับลำโพงแยกชิ้นที่แต่ละแชนเนลเป็นอิสระกันแล้ว ยังนำไปเทียบกันไม่ได้ครับ ลำพังแค่เรื่องทิศทางเสียงอย่างเดียว อรรถรสก็แตกต่างกัน (มาก) แล้ว ยิ่งใครชอบดูหนังแอ๊กชั่นประเภทยิงกันเปรี้ยงปร้าง เสียงลูกกระสุนแหวกอากาศเฟี้ยวฟ้าวข้ามไปมาหน้าหลังนั้น บางฉากได้ยินแล้วแทบก้มหลบพร้อมเอามือป้องหัวแบบลืมตัวนั่นเทียว

 

นอกจากการให้ทิศทางเสียงที่มีความชัดเจนของตำแหน่งที่มาที่ไปแล้ว การมีลำโพงลำโพงเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ ก็ช่วยให้การนำเสนอเสียงสนทนาในซาวด์แทร็กมีความกระจ่างใสและชัดเจนกว่า มีความสมจริงเสมือนหลุดออกมาจากปากนักแสดงจริงๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อจำกัดของซาวด์บาร์ เพราะไดรเวอร์ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เหมือนเป็นลำโพงเซ็นเตอร์จะถูกกระหนาบเอาไว้จากตัวขับเสียงซ้าย/ขวา เสียงที่ให้ออกมาจึงขาดความเป็นธรรมชาติเมื่อเทียบกับลำโพงในระบบแยกชิ้น

การมีลำโพงเซอร์ราวด์เฉพาะแม้จะเพียงแค่สองตัวในระบบ 5.1.2 มันสามารถรังสรรค์บรรยากาศเสียงออกมาได้อย่างโอบล้อม และมีความสมจริงที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาอย่างได้อรรถรสมากกว่าซาวด์บาร์ ที่แม้จะระบุว่ารองรับการทำงานในระบบเดียวกันได้ก็ตาม โดยเฉพาะบรรยากาศทางด้านหลัง ซึ่งจะให้ความรู้สึกสัมผัสถึงบรรยากาศเสียงที่มีความสมจริง ยิ่งกับฉากที่มีการใส่เอฟเฟ็กต์เสียงเซอร์ราวด์เข้ามาเหมือนให้บรรยากาศเดินเรื่องด้วยแล้ว ประเด็นนี้ซาวด์บาร์ชิ้นเดียวแม้จะมีราคาแพงๆ ก็ยากที่จะให้ออกมาได้ดีเท่า

ในขณะที่บรรยากาศเสียงด้านหน้านั้น ซาวด์บาร์ที่มีระดับส่วนใหญ่มักจะทำออกมาได้ดี

และเมื่อพูดถึงฟอร์แม็ตเสียงดอลบี้ แอ็ตมอส แล้ว คุณลักษณะเสียงที่สำคัญก็คือชั้นบรรยากาศเสียงด้านบน โดยซาวด์บาร์จะใช้วิธีจำลองสนามเสียงด้วยการยิงเสียงขึ้นไปด้านบน ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการให้พื้นที่ที่แคบกว่าการมีลำโพงเฉพาะเพื่อการนี้ ที่ยิงเสียงลงมาจากลำโพงที่ติดตั้งแบบฝังอยู่ในฝ้าเพดานโดยตรง บรรยากาศเสียงในชั้นเหนือศีรษะที่สัมผัสได้จึงมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน

การกระจายของเอฟเฟ็กต์เสียงจากลำโพงที่ทำหน้าที่ผ่านเชนเนลนี้โดยเฉพาะ จะครอบคลุมพื้นที่และให้ความรู้สึกที่ทรงพลังมากกว่า รวมถึงให้รับรู้ถึงระดับชั้นของเสียงที่อยู่เหนือศีรษะได้เป็นอย่างดี

 

สุดท้าย, การใช้ลำโพงแยกชิ้นสำหรับทำงานกับย่านความถี่ต่ำพิเศษผ่านสับ-วูฟเฟอร์นั้น คือสิ่งที่ซาวด์บาร์ชิ้นเดียวยากจะทำได้ เนื่องเพราะมันได้ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีตัวขับเสียงบรรจุอยู่ในตู้ที่มีปริมาตรอันเหมาะสม ผนวกภาคขยายเสียงที่ผ่านการคิดคำนวณอันสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ทำให้รังสรรค์เสียงย่านความถี่ที่ต่ำลึกออกมาได้โดยเปี่ยมไปด้วยพลังและมีความสมจริงมาก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการใช้ลำโพงแบบแยกชิ้นแต่ละแชนเนลนั้น จะให้ภาพรวมของเสียงที่มีความสมจริงมากกว่า แต่นั่นแหละก็ต้องแลกมาด้วยการติดตั้งที่ต้องการความประณีตพิถีพิถันเป็นพิเศษ รวมทั้งยังต้องจัดการกับสายลำโพงที่ต่อเข้ากับแต่ละตู้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และต้องมีที่ทางมากพอสำหรับวางลำโพงนั้นๆ ให้เหมาะสมด้วย

ที่สำคัญอีกประการก็คือต้องมีงบอีกก้อนสำหรับเอ/วี แอมป์ หรือเอ/วี รีซีฟเวอร์ ให้มาทำหน้าที่ขับลำโพงทั้งหมดที่มีในระบบด้วย

ถึงตรงนี้, หลายๆ เสียงที่ข้องใจข้างต้นบอกว่าไปมองหาซาวด์บาร์ดีๆ สักตัวดีกว่า ไม่อยากจะหาทำอะไรที่มันยุ่งยากวุ่นวายอย่างที่ว่ามาแล้วล่ะ – จบครับ •

 

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]