‘สร้าง’ ข้าราชการพันธุ์ใหม่ ในยามสงคราม (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘สร้าง’ ข้าราชการพันธุ์ใหม่

ในยามสงคราม (2)

 

“หน้าเดินไทย จงเดินพร้อมกัน เราหน้าเดิน เราจงพร้อมใจ เราเดินทางไกลนี้ จะนำชาติไป เมื่อยล้าก็อย่าท้อใจ เพื่อชาติเรารุ่งเรืองและสุกใส…”

(หลวงวิจิตรฯ, 2485)

 

ไม่นานหลังจากที่จอมพล ป.ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไทย สงครามมหาเอเชียบูรพาได้ระเบิดขึ้น

ข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งบันทึกว่า ช่วงเวลาที่สงครามความทวีรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลดำเนินมาตรการปลุกใจคนไทยให้รักชาติ และปลอบขวัญจิตใจประชาชนให้มั่นคง

โดยรัฐบาลเตรียมความพร้อมให้ร่างกายข้าราชการมีสมรรถนะ มีระเบียบวินัย มีความแข็งแรงอดทน จึงกำหนดให้ข้าราชการทุกคนฝึกวิชาทหารในทุกวันพุธ โดยการฝึกระเบียบแถว การเดินทางไกล และการวิ่ง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ข้าราชการ (จำนง เทพหัสดินทร์, 16)

หลวงวิจิตรฯ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมศิลปากร ที่ปรึกษากรมโฆษณาการ แต่งขึ้น และใช้ร้องครั้งแรกในคราวข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ “เดินทางไกล” เมื่อเสาร์ 28 มีนาคม 2485 ว่า

“หน้าเดินไทย จงเดินพร้อมกัน เราหน้าเดิน เราจงพร้อมใจ เราเดินทางไกลนี้ จะนำชาติไป เมื่อยล้าก็อย่าท้อใจ เพื่อชาติเรารุ่งเรืองและสุกใส เดินพวกเราจงเดินนำชาติไทยเราให้เจริญ อย่ากลัวเหนื่อยล้า จงกล้าเผชิญโชคภัย เพื่อนำชาติขึ้นสู่ความสำคัญ เราจงพร้อมใจกันเดินทางไกล”

การส่งเสริมอนามัยให้ข้าราชการนั้น จอมพล ป.ส่งหน่วยสาธารณสุขให้คำแนะนำรักษาสุขภาพให้แก่ข้าราชการ และกำหนดให้ทุกวันพุธเวลา 16.00-17.00 น. เป็นเวลาฝึกระเบียบแถว (สุวิมล, 128)

ไม่แต่เพียงข้าราชการต้องฝึกเดินทางไกลเท่านั้น แม้แต่ภรรยาข้าราชการต้องเข้าอบรมที่ทำเนียบสามัคคีชัยและเข้าร่วมการเดินทางไกลด้วย โดยภรรยาจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีกากีเหมือนข้าราชการ พร้อมแบกเครื่องหลังในระหว่างเดินทางไกลไปตามแถบจังหวัดรอบนอกพระนคร เช่น นนทบุรีด้วย (หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์, 2537, 73)

เพลงเดินทางไกล (2484) และชุดราชการสนามของข้าราชการมหาดไทย (2484)

ในช่วงสงครามโลก รัฐบาลจัดให้มีวิทยุกระจายเสียงฝึกกายบริหารไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ (สุวิมล, 128)

ไม่แต่เพียงการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยึดแนวทางการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าเท่านั้น แต่กรมโฆษณาการและกรมพลศึกษายังดำเนินแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยด้วยการออกกายบริหารตอนเช้าตามแบบญี่ปุ่น ด้วยการจัดโครงการออกกายบริหารพร้อมกันผ่านวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงตามนโยบายสร้างชาติ

นอกจากนี้ สมัยช่วงระหว่างสงคราม รัฐบาลยังส่งเสริมการออกกำลังกายให้กับข้าราชการ ด้วยโครงการเดินทางไกล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2485 โดยมีข้าราชการเข้าร่วมถึง 800 คนจากหลากหลายกระทรวง

เส้นทางเดินทางไกลนั้นเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี (นิกร, 17 มีนาคม 2485) ทั้งนี้ การเดินทางไกลไปตามสถานที่ต่างๆ นั้น รัฐบาลกำหนดให้มีกิจกรรมในทุกวันเสาร์ และมีการจัดแข่งกีฬาระหว่างหน่วยราชการต่างๆ อีกด้วย (ลาวัลย์, 2536)

ดังข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งบันทึกว่า “ขณะนั้น สงครามมหาเอเชียบูรพาได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินมาตรการในอันที่จะปลุกใจคนไทยให้รักประเทศชาติ และปลอบขวัญให้มั่นคง…รัฐบาลจึงกำหนดให้ข้าราชการทุกคนฝึกวิชาทหารทุกวันพุธ การฝึกมีเพียงระเบียบแถว การเดินทางไกล การวิ่ง ฝึกเสร็จแล้วสอนรำวงแบบกรมศิลปากร” (จำนง, 16)

รำโทน สันทนาการของข้าราชการตามแบบรัฐนิยม สร้างชาติ ช่วงสงคราม

การรำโทนนอกจากจะเป็นการสันทนาการแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดให้กับประชาชนในยามสงครามที่มีการทิ้งระเบิด เสียงหวอ และความตาย ให้ลืมทุกข์ลืมโศก ให้มีความ “ครึกครื้นให้ชื่นช่ำใจ” ได้บ้าง

สมัยนั้น ทั้งคนงาน พ่อค้า ข้าราชการและฝ่ายการเมืองในรัฐบาลล้วนชื่นชอบรำโทนกันทั้งนั้น ชาวพระนครมีกิจกรรมรำโทนกันแทบทุกบ้าน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ อุปกรณ์ในการเล่นมีเพียงโทนหนึ่งถึงสองใบ นักร้องไม่จำกัด มีโต๊ะตั้งกลางพร้อมผ้าปูสีสวยและแจกันดอกไม้สำหรับเป็นแกนกลางของวงรำโทน ส่วนพื้นที่ก็ใช้สนามหญ้า หรือลานบ้าน หรือม้าหินตามแต่สะดวก เจ้าภาพจะมีขนมและเครื่องดื่มเลี้ยงสนุกสนานอย่างประหยัด (หลวงยุกตเสวีฯ, 2537, 73)

ต่อมา หัวหน้าคณะทูตญี่ปุ่นที่มาเยือนไทยในกลางปี พ.ศ.2485 ได้กล่าวถึงโครงการออกกายบริหารของไทยว่า สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งกำหนดความเจริญของชาติ การช่วยชาติคือ คนไทยรักษาสุขภาพให้ดีเหมือนกับคนในญี่ปุ่นที่มีความแข็งแรงและอายุยืนยาว (ก้องสกล, 103-104)

จากความทรงจำของนิสิต จุฬาฯ คนหนึ่งบันทึกว่า ราชการส่วนกลางกำหนดให้ข้าราชการมีกิจกรรมรำวงทุกบ่ายวันเสาร์ ซึ่งเดิมเป็นวันกีฬา และให้ย้ายวันกีฬาไปยังบ่ายวันพุธแทน บางครั้งมีการแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงานด้วย ข้าราชการที่ไม่ได้ลงเล่นให้เป็นกองเชียร์ พุธใดไม่มีการแข่งขันกีฬาให้เดินทางไกล (สรศัลย์, 147)

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย คือ การช่วยสร้างชาติในอีกทางหนึ่งด้วย ดังที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่า “ชาติใครจะลืมไม่ได้ ต้องทำให้ชาติสว่างขึ้น อย่างแสงของอาทิตย์ ที่ส่องหน้านั้นทีเดียว” (อุทัยวรรณ จุลเจริญ, 73)

นอกจากนี้ รัฐบาลจัดแข่งขันกีฬาระหว่างกระทรวงทุกวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันข้าราชการ การแข่งขันปีแรก (2485) มีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพและหมุนเวียนไปทุกกระทรวง (สุวิมล, 128)

ยุวชนทหารเดินสวนสนามแสดงความแข็งแกร่งและพร้อมเพรียง

ท่ามกลางสงครามโลกและอุทกภัย นอกจากรัฐบาลส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้ข้าราชการแล้ว จอมพล ป.ยังชักชวนให้ข้าราชการช่วยกันทำให้เป็นหนึ่งเดียวในการฝ่าอันตรายนี้ด้วยขอให้ข้าราชการที่เกษียณแล้ว ประกอบอาชีพตามความสามารถและให้กำลังลูกหลานไทยให้ช่วยกันประกอบอาชีพ รวมทั้งขอให้ข้าราชการตั้งใจทำงาน ทำตามหน้าที่ และที่สำคัญ ดังความว่า

“ท่านข้าราชการต้องเหนราสดรที่มาพบท่านคือญาติของท่านที่ท่านต้องช่วยเสมอ หย่ารังเกลียดว่าแต่งกายไม่สะอาด หย่ารังเกลียดว่าพูดไม่ดีไม่ถูกต้อง คิดว่า ที่พูดไม่ถูกใจท่านนั้น ไม่ได้ตั้งใจ เปนเพราะไม่ซาบจะทำถูกหย่างไรเท่านั้น ถ้าท่านพบราสดรที่ประพรึตชั่วยั่วโทสะ รวมต่างๆ นั้น จงเชื่อว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ ที่ทำไปเช่นนั้นเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรถึงดีต่างหาก ถ้าให้คำแนะนำ ดุว่า โดยหวังดีที่สุด ลงโทสเปนการสั่งสอนถานญาติแล้วจะทำให้เขาดีขึ้นเปนแน่…” และประการสุดท้าย ขอให้ประชาชนฟังและปฏิบัติตามที่รัฐบาลสั่งอย่างเคร่งครัด มีความกล้าหาญ อดทน (สามัคคีไทย, 135-136)

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลภายหลังการปฏิวัติพยายามเปลี่ยนแปลง สร้างค่านิยม จิตสำนึก วัฒนธรรมการทำงานแบบเก่ามาสู่แบบใหม่ให้กับข้าราชการในระบอบประชาธิปไตยเพื่อบริการประชาชน

จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียด ชมกิจกรรมจัดดอกไม้เพื่อยกระดับจิตใจ สำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิง 2486