เทศมองไทย : จาก สรรพาวุธ สู่ อุตสาหกรรมทหาร

รายงานข่าวของรอยเตอร์ เมื่อ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังคงพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง

แต่คราวนี้เป็นการพูดถึงในประเด็นที่ต่างออกไป

หัวใจของรายงานชิ้นดังกล่าวอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารของไทยขึ้นมา

ประเด็นที่รอยเตอร์พูดถึงทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมทหารของไทยเป็นรูปธรรมขึ้นมา

แน่นอน ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพาวุธ เรื่อยไปจนถึงสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (ดีทีไอ) องค์การมหาชน ที่รับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการทหารสำหรับการป้องกันประเทศ ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ส่งผลให้เราสามารถผลิตอาวุธจำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อการใช้งานภายในกองทัพเองได้ แต่ยังจำกัดอยู่ที่การเป็นยุทโธปกรณ์ย่อมๆ จำพวกกระสุน เครื่องยิงระเบิด ฯลฯ เป็นหลัก

ที่สำคัญก็คือ เรายังไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ระดับ “อุตสาหกรรม” ได้

เมื่อเกิดความต้องการใช้งาน หรือต้องการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยรบขึ้นมาทุกครั้ง เราจำเป็นต้องนึกถึงการ “จัดซื้อ” จากต่างประเทศทุกครั้งไป

 

ข้อมูลของรอยเตอร์ บอกว่า ไทยเป็น “ลูกค้า” อาวุธจากจีนรายใหญ่ มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2015 เราจัดซื้อรถถัง 49 คัน กับยานยนต์หุ้นเกราะอีก 34 คันจากจีน รวมมูลค่าแล้วสูงกว่า 320 ล้านดอลลาร์ ไม่ถือว่าสูงมากเกินไป แต่ก็ถือว่าสูงกว่าการจัดซื้อจากประเทศอื่นๆ มากทีเดียว

ปีนี้ การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนขยับสูงขึ้นไปอีก คราวนี้เป็นเรือดำน้ำ 3 ลำ ของกองทัพเรือ ที่ทำสถิติเป็นการจัดซื้อจากจีนที่มีมูลค่าสูงสุด รวมแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ทางการไทยเปลี่ยนการจัดซื้อเป็นการ “ร่วมทุน” โดยมอบหมายให้ดีทีไอจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตอาวุธในเชิงพาณิชย์ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นในเดือนกรกฎาคมปีหน้า

ตามคำบอกของ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กิจการร่วมทุนดังกล่าวนั้น นอกจากดีทีไอของไทยแล้ว ฝ่ายจีนจะเป็นบริษัท นอร์ธ อินดัสตรีส์ คอร์ปอเรชั่น หรือ “โนรินโก” ของจีน

การจัดตั้งกิจการร่วมทุนดังกล่าว จำเป็นต้องรอถึงปีหน้า เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยการเปิดทางให้ดีทีไอสามารถดำเนินกิจการในเชิงพาณิชย์ได้มีผลบังคับใช้

ซึ่งคาดว่าจะเป็นในราวครึ่งแรกของปีหน้าเป็นอย่างช้า โดยในส่วนของไทย รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทั้งหมด

 

“โนรินโก” ของจีนนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้บุกเบิก” และเป็น “ผู้นำ” ในพาณิชยกรรมทางทหารของจีน เป็นบริษัทที่ผลิตรถถังและอาวุธ เรื่อยไปจนถึงยุทโธปกรณ์หนักทั้งหลายให้กับกองทัพจีน เช่นเดียวกับการ “ส่งออก” ให้กับนานาประเทศ

กิจการร่วมทุนไทย-จีน ที่ว่านี้ จะเป็นสถานที่สำหรับการ “ประกอบ, ผลิต และซ่อมบำรุง” ระบบอาวุธภาคพื้นดินจากจีนสำหรับใช้ในกองทัพของไทย

พล.ต.คงชีพ ยังคงยืนยันหลักการพื้นฐานของกิจการร่วมทุน ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นในปีหน้านี้ว่า “ผลผลิตที่ได้จะมุ่งเน้นเพื่อการใช้งานภายในประเทศทั้งหมด” แต่ในเวลาเดียวกัน ในอนาคตก็อาจเป็น “โรงงาน” เพื่อการ “ประกอบ” และ “ซ่อมบำรุง” อาวุธทำนองเดียวกัน เป็นการให้บริการสำหรับประเทศอื่นๆ “ในภูมิภาคอาเซียน” ทั้งหมด

นัยในเชิงพาณิชย์จึงอยู่ที่การให้บริการ “ประกอบ” และ “ซ่อมบำรุง” ให้กับประเทศอื่นๆ นั่น

 

การผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ขึ้นใช้เองก็ดี หรือให้บริการในเชิงพาณิชย์ก็ดี คือการขยับก้าวไปข้างหน้าอีกระดับหนึ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย ในทางตรงกันข้ามกลับแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นทางด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งยิ่งทำได้มากเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น

หากทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ก็ถือเป็น “กำไร” ในอีกทางหนึ่ง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาท้าทายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดซึ่งยังคงไม่มีคำตอบจากทั้งทางฝ่ายไทยและฝ่ายจีนก็คือ เรื่องของการฝึกอบรมและการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านการทหารจาก “โนรินโก” ให้กับไทย คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ นั่นเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีอะไร เป็นการฝึกอบรมแบบไหน รายละเอียดเกี่ยวกับบุคลากรของจีนก็ยังไม่มีให้

ถัดมาก็คือ ไทยเราจะจริงจังในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารมากมายแค่ไหน ระบบการวิจัยและพัฒนาเท่าที่ไทยเรามีอยู่สามารถรองรับการ “ต่อยอด” จากพัฒนาการครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด

การถ่ายโอนเทคโนโลยี หรือแม้แต่กระทั่งการลอกเลียนเทคโนโลยี สามารถนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายๆ ประเทศได้ อย่างที่เห็นกันอยู่ชัดเจน

แต่นั่นหมายถึงประเทศดังกล่าวต้องมีความพร้อม ต้องให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ได้ต่อเนื่องในระยะยาว

ไม่ใช่ปล่อยให้หงิกงอเหี่ยวเฉาตายตั้งแต่เพิ่งผลิยอด ออกใบเหมือนหลายๆ กรณีที่ผ่านมานะครับ!