ส่องปราศัยก้าวไกล สามย่านมิตรทาวน์ แนวคิดที่ต่างจาก ‘เพื่อไทย’ Memory of the Future

เชื่อว่าภาพอันแน่นขนัดจนล้นถึงถนนของผู้เข้าร่วมรับฟังการปราศัยของพรรคก้าวไกล บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา คงทำให้ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชน หรือนักวิเคราะห์ทางการเมืองตกใจกันไม่น้อย

นอกเหนือจากภาพ ‘ออฟไลน์’ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ กระแสบนโลก ‘ออนไลน์’ ทั้งจากจำนวนยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดรีทวีต ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไปจนถึงยอดคนดูไลฟ์สดในแฟลตฟอร์มใหม่มาแรงอย่าง ‘ติ๊กต็อก’ พุ่งสูงอย่างยิ่ง

พรรคก้าวไกลอาจจะถูกปรามาสว่าความนิยมอยู่บนโลกออนไลน์ แต่เวทีที่จัดในเขตเมืองที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ‘ออนไลน์’-‘ออฟไลน์’ สอดรับประสานกันอยู่ระดับหนึ่ง

เวทีปราศรัยครั้งสำคัญๆ ของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลมักจะมาในแนวเล็ก กะทัดรัด และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนความเห็น

แต่ที่เวทีสามย่านมิตรทาวน์ จัดเต็มโดย ‘เซีย จำปาทอง’ ผู้เคลื่อนไหวด้านแรงงาน บัญชีรายชื่ออันดับ 4 ขึ้นพูดแสดงแนวคิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

นัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ทำงานใน ‘สหภาพแรงงาน’ ไม่ใช่ภาพติดตาที่เราเห็นในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ที่เป็นส่วนหนึ่งกวักมือเรียกทหารออกจากกรมกอง

สิ่งที่น่าสนใจและอยากชวนผู้อ่านวิเคราะห์ไปพร้อมกัน คือ คำปราศัยของสอง ‘เลขาธิการพรรค’ ในอดีตและปัจจุบัน ที่สะท้อนแนวทาง-แนวคิด อุดมการณ์ของพรรคการเมืองนี้ได้ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการทำอะไร และแนวทางแตกต่างจากพรรคการเมืองอย่าง ‘เพื่อไทย’ และพรรคการเมืองอื่นขนาดไหน

คนแรกคือ ‘อดีตเลขาธิการ’ พรรคอนาคตใหม่อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปราศัยภายใต้หัวข้อชื่อว่า ‘Memory of the Future – ความทรงจำแห่งอนาคต’

เนื้อหาโดยรวม ปิยบุตรพยายามบอกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น ต้องไม่นำ ‘ความทรงจำ’ ในอดีตมาจำกัด ‘ความเป็นไปได้’ ใน ‘อนาคต’ พูดง่ายๆ จะชนะหรือแพ้ ได้เสียงเยอะขนาดไหน อดีตที่ผ่านมาไม่สำคัญ

ดังที่เขายกทีมฟุตบอลที่ชอบอย่าง ‘ลิเวอร์พูล’ ซึ่งชนะ ‘แมนฯ ยู’ 7-0 เป็นสกอร์แห่งประวัติศาสตร์

และอีกท่อนสำคัญคือ การยกบริบทการเมือง-เศรษฐกิจในทศวรรษ 2520 และ 2540 ขึ้นมากล่าวถึง โดยบอกว่าก้าวไกลขอเสนอเป็นทางเลือกอื่นที่จะไม่หันกลับไปเป็นเหมือน 2 ทศวรรษนั้น

ทศวรรษแรกคือยุคสมัย ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ หรือที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งขนานนามในขั้วตรงข้ามว่าเป็น ‘เผด็จการครึ่งใบ’

คือยุคสมัยที่มีการแบ่งสันปันส่วนอำนาจระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง กลุ่มนายพล และทุนใหญ่ภาคธุรกิจ

ผลประโยชน์ที่เหลือจากการแบ่งสรรก็ค่อยแบ่งมาให้คนระดับฐานล่างของพีระมิด

การยกทศวรรษนี้ขึ้นมากล่าวถึงคงเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากหมายความที่โยงมาถึงกลุ่มผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

อีกช่วงหนึ่งคือทศวรรษ 2540 ซึ่งปิยบุตรกล่าวว่า “เราต้องไม่ยอมให้พวกเขาพาเรากลับไปทศวรรษที่ 2540 ที่นโยบายเศรษฐกิจ คิดแต่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายเค้กก้อนใหญ่ ให้ทุนได้เติบโต แล้วค่อยแบ่งปันให้คนเล็กคนน้อย ผ่านบางนโยบายที่ช่วยประชาชนฐานรากที่ทุกข์เข็ญ”

“เราต้องไม่ยอมให้พวกเขาพาเรากลับไปทศวรรษที่ 2540 ที่มีพรรคขนาดใหญ่พรรคเดียวครอบงำ เอา ส.ส.ทุกคนรวมเข้ามา โดยไม่คิดถึงอุดมการณ์ ความคิด คิดแต่เพียงจำนวนให้มาก เพื่อเอาชนะเลือกตั้งเด็ดขาด เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง เกิดรัฐประหาร ส.ส.ที่รวมเข้ามา ก็ย้ายข้างไปซบทหาร แล้ววันหนึ่งก็กลับมาใหม่ วนเวียนแบบนี้ซ้ำซาก”

ส่วนอีกคำปราศรัยเป็นของ ‘เลขาธิการ’ พรรคก้าวไกล คนปัจจุบันคือ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของการสร้าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ และผู้เคยร่วมชุมนุมกับ ‘คนเสื้อแดง’ ดังที่ปรากฏภาพร่วมกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ โดยชัยธวัชกล่าวให้ชัดไปกว่านั้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองนี้ คือ หนึ่ง เขา “ผิดหวัง” กับท่าทีของอดีตผู้นำพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ที่ประกาศบนเวทีราชประสงค์ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553

สอง ‘ชัยธวัช’ เสนอในเชิงเปรียบเทียบว่าหากผู้มีอำนาจ “กล้าฝัน” ว่าสังคมไทยเป็นแบบไหน แล้วทำไมประชาชนธรรมดาถึง “กล้าฝัน” ดังเช่นชนชั้นนำไม่ได้

พร้อมประกาศท้าชนภายใต้น้ำเสียงอันหนักแน่น

คําปราศรัยของ ‘เลขาธิการ’ ทั้งสองนี้แสดงให้เห็นว่า ‘ก้าวไกล’ พยายามฉายภาพอุดมการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ-สังคม และการเมืองที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นในประเทศ (หากจะใกล้เคียงคงมีแต่พรรคขนาดเล็กอย่าง ‘สามัญชน’ ก็เท่านั้น) ยังไม่นับบทบาทในสภา-นอกสภา ของ ส.ส.ในสังกัดของพรรคที่แหลมคม

หากมองในเชิงเปรียบเทียบกับ คงเกิดคำถามว่าเหตุใด ‘ปิยบุตร’ ถึงกล่าวในเชิงวิจารณ์พรรคไทยรักไทยในอดีต ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวพรรคออกหลายนโยบายที่อุ้มชูคนจนให้เข้าถึงสวัสดิการรักษาโรค หรือสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งเปลี่ยนหน้าตาของประเทศไทย

หากจะตอบคำถามนี้ให้ลึกลงไป ข้อเขียนทางวิชาการชิ้นหนึ่งชื่อ ‘The Rise and Demise of Neoliberal Populism as a Hegemonic Project : Brazil, Thailand, and Turkey’ โดย Ahmet Bekman และ Baris Alp Ozden ที่ได้วิเคราะห์นโยบายของทางเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ช่วงทศวรรษ 2540 ว่าเป็นแบบ ‘Neoliberal Populism’

หมายถึง นโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่ม

ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของชนชั้นรากหญ้าที่ถูกทอดทิ้งจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมและได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราจึงเห็นแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจรูปแบบโปรเจ็กต์ขนานใหญ่ และในขณะเดียวกันก็เพิ่ม ‘ศักยภาพการแข่งขัน’ และคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มที่เคยถูกละเลยด้วยนโยบายรักษาสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพิ่มค่าแรง-เงินเดือนขั้นต่ำ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของทุนนิยมในสมัยโลกาภิวัตน์คืบคลานเข้ามาในช่วงแรก

ดังที่ทักษิณเคยพูดเปรียบเปรยแนวคิดนโยบายสมัยไทยรักไทยว่าเป็นการนำ ‘ทุนนิยม’ ผสมกับ ‘สังคมนิยม’ แม้จะไม่ใช่ในความหมายตรงตัว แต่เป็นไปในความหมายของการโอบอุ้มประชาชนฐานพีระมิด หรือการพัฒนา ‘แรงงาน’ และเสริมความเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ในระดับเล็ก-หมู่บ้านให้เข้าสู่ทุนนิยมโลกได้อย่างไม่ตกขบวนรถไฟของโลก

มิติสองด้าน (อุ้มชูทั้งทุนใหญ่และประชาชนฐานราก) ในแนวคิดเศรษฐกิจของไทยรักไทยและเชื่อมโยงให้เห็นในนโยบายการเลือกตั้งของ ‘เพื่อไทย’ ในปี 2566 แบบนี้ แม้จะมีจุดที่คล้ายคลึงกันกับ ‘ก้าวไกล’ เช่น การมุ่งเน้นพัฒนา SMEs การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

แต่ยังมีจุดที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ก้าวไกลมีแนวคิด ‘ทลายทุนผูกขาด’ หรือ สนับสนุนการสร้างอำนาจต่อรองของคนทำงานด้วยการตั้งสหภาพแรงงาน

ประเด็นสนับสนุนให้คนทำงานทุกกลุ่มตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’ นี้ สะท้อนให้เห็นมิติทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ (อำนาจต่อรองแรงงานมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเป็นธรรมในที่ทำงาน) และยิ่งการปราศรัยของ ‘เซีย จำปาทอง’ ในช่วงแรกที่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เคยร่วมกลุ่มหนุนรัฐประหาร ยิ่งทำให้มิติที่สองชัดขึ้นและไปด้วยกัน ขณะที่ ‘เพื่อไทย’ เน้นมิติเศรษฐกิจเป็นตัวชูโรง

หากเปรียบเป็นฐานพีระมิดชนชั้น นโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยมุ่งเน้นที่ฐานส่วนบน สนับสนุนฐานส่วนล่างและกลาง

ส่วนก้าวไกลเป็นการเน้นที่ฐานส่วนล่าง-กลาง เพื่อ ‘ต่อรอง-ถ่วงดุล’ กับส่วนบน และให้ทุนใหญ่ไปแข่งขันกับ ‘ทุนโลก’ แทนที่จะแข่งกับรายเล็กในประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้มุมหนึ่งเพื่อไทย-ก้าวไกลเป็น ‘มิตรทางการเมือง’ ที่จะผลักดันการพัฒนาประชาธิปไตย และปฏิเสธการรัฐประหารแทรกแซงการเมือง

แต่จากปากคำของสอง ‘เลขาธิการ’ คงชัดเจนว่าพวกเขามองไปไกลมากกว่าเลือกตั้งปี 2566 และตั้งใจเสนอตัวเป็นพรรคหลักของประเทศ

ดังที่ชัยธวัชเคยกล่าวบนเวทีดีเบตหนึ่งที่จังหวัดพะเยา “ขอพูดในฐานะที่มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคใหญ่” รวมถึงสิ่งที่ปิยบุตรเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าช่วงแรกเริ่มที่ชวนคนอื่นเข้ามาทำงานพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตรบอกกับพวกเขาว่าขอเวลาชีวิต “16 ปี” ในการทำงานการเมือง

ในมุมหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ยุทธศาสตร์ของก้าวไกลต้องสื่อสารว่าพวกเขาแตกต่างจาก ‘เพื่อไทย’ และพรรคการเมืองอื่นอย่างไรในเชิงแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และข้อเสนอเชิงนโยบาย