จากแบบเรียนโรแมนติก ‘ภาษาพาที’ ถึงดราม่าโภชนาการ ไข่ต้ม เหยาะน้ำปลา

กระแสดราม่า แบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 ซึ่งมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือ ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นการพอเพียง เห็นคุณค่าของชีวิต…

ทำให้สังคมเกิดคำถาม ถึงโภชนาการของเด็ก และการมองโลกอย่างโรแมนติกมากเกินไป หวั่นไหว ลูกหลานจะถูกปลูกฝังความรู้ที่ไม่ถูกต้อง…

นำมาซึ่งวิวาทะผ่านโซเชียลที่หลากหลาย ลุกลามตีความจากหนังสือเรียน สู่ปัญหาโภชนาการ โยงใยการเมือง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

แต่ก็มีมุมมองให้น่าคิด

 

เริ่มจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่เพียงโภชนาการที่ไม่เพียงพอต่อพัฒนาการของเด็กๆ และมองว่า ประเทศไทยควรลดงบประมาณในการจัดการซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น แพงเกินจริง มาจัดสรรสวัสดิการให้เด็กๆ

ขณะที่ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ได้แสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กว่า

“ไข่ครึ่งซีก+ข้าวคลุกน้ำปลา อร่อยที่สุดในโลก”

โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของ “พลังงาน” หรือแค่อิ่มท้องอย่างเดียว

แต่สิ่งสำคัญนั่นคือ “โปรตีน” ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของเอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย ยังมีเรื่องของวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ ที่ไม่ควรขาดในเด็กอีก

อาหารจึงไม่ใช่เพียง “แค่อิ่มท้อง” หรือ “แค่อร่อยปาก” แต่อาหารที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน

ถ้าวิสัยทัศน์มีเพียงแค่ “อิ่มท้อง” “สุขใจ” แต่ไม่มองให้เห็นถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็กของเรา นี่คือเรื่องน่ากังวลมากๆ สำหรับ “อนาคตของชาติ”

ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่ม ที่ยังล้าหลังของบ้านเราแบบนี้…

 

อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเรียกน้ำย่อย…

เพราะเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาชี้แจง แต่ก็ดูเหมือนการเติมเชื้อไฟ

โดยคำชี้แจงของ สพฐ. ระบุเจตนาของผู้แต่ง คือ สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย

การที่ผู้โพสต์ได้นำรูปภาพและเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง ชีวิตมีค่า มาแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ในมุมมองของผู้โพสต์ เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาเพียงบางส่วนของเนื้อเรื่องทั้งหมด จึงอาจจะทำให้เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการพิจารณาสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน จำเป็นจะต้องพิจารณาเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จึงจะสามารถเข้าใจสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้

ดังนั้น การที่ผู้โพสต์ได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่องว่านำเสนอความยากลำบากเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของความเหลื่อมล้ำและภาวะจำยอมตามที่กล่าวอ้าง และยกอ้างเหตุผลที่ขัดกันนั้น จึงไม่ใช่เจตนาที่หนังสือเรียนต้องการสื่อ

ส่วนที่มีการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอของเด็ก เช่น การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา ผัดผักบุ้ง และขนมวุ้นกะทิอาจไม่เพียงพอต่อปริมาณสารอาหารที่เด็กต้องการนั้น เป็นการตีความคลาดเคลื่อนที่เข้าใจว่าเรื่องที่แต่งในหนังสือเรียนคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงทำให้รู้สึกและคิดว่าเนื้อหาที่นำเสนอ แสดงให้เห็นถึงโภชนาการของเด็กที่ไม่ถูกต้อง

หลังชี้แจง ก็ตามมาด้วยวิวาทะ ที่พร้อมใจกันวิเคาระห์ และตีความไปในมุมมองของตัวเอง…

แบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5

เมื่อดูท่าเรื่องไม่จบง่ายๆ ถึงคิว น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้ช่วงพักเบรกหาเสียง ลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สั่งด่วนให้ สพฐ.ไปพิจารณาแบบเรียนดังกล่าวใหม่ นำทุกความคิดเห็นมาประกอบ การจัดทำแบบเรียนในอนาคตให้ได้แบบเรียนที่มีคุณภาพ

งานนี้ไม่ลืมยืนยัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และภาวะทุพโภชาการในเด็ก จึงได้ผลักดันให้เพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก เยาวชน และนโยบายด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องโภชนาการที่ดีของเด็ก

“ตั้งแต่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานของ ศธ.ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ประสบผลสำเร็จและได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ สามารถพาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามามีโอกาสเรียนอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดมีเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามาเรียนมากถึง 79,318 คน” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ด้านนายอัมพร พินาสะ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บอกคล้ายกันว่า แบบเรียนภาษาพาที เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ให้ครูใช้ประกอบการสอน ขึ้นอยู่กับครูว่าจะเลือกนำสื่อการเรียนการสอนเล่มใดมาสอนเด็ก ไม่ได้บังคับให้ครูต้องใช้เล่มนี้เล่มเดียว บทเรียนดังกล่าว ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความเข้าใจเรื่องความสุขของชีวิต แน่นอนว่า ไม่ทิ้งหลักโภชนาการ โดยได้กำหนดการเรียนการสอนเรื่องนี้ไว้ในหมวดวิชาสุขศึกษา

“คิดว่าการเมืองขณะนี้ อยู่ระหว่างการขายความคิด การขายนโยบาย ดังนั้น ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ สพฐ.ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็พร้อมที่จะรับฟังทุกความคิด ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์จะรับฟังและไปปรับใช้” นายอัมพรกล่าว

 

ปิดท้ายที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหวทางจิตใจ ประเด็น “เด็กบ่นอยากตาย” ซึ่งถ้าแก้ไขได้ อยากให้ตัดประเด็นนี้ เพราะเด็กในวัยเรียนมักเกิดจากภาวะน้อยใจ พูดประชด เลียนแบบ เด็กบางคนเลียนแบบไปทำจริง

ฉะนั้น การที่ตำราสะท้อนคำนี้ออกมาในช่วงวัยแบบนี้ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง death perception ที่ดีพอ อาจเกิดความเข้าใจผิดต่อเด็กกันเองได้

การติเพื่อก่อ สร้างประโยชน์เสมอ แน่นอนว่า ตำรา สพฐ. ซึ่งแต่งมานานกว่า 15 ปี ย่อมมีข้อบกพร่องตามยุคสมัย ยอมรับฟังและปรับแก้ จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

เพราะสุดท้ายแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ… •