ปลัด มท. นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกแนวทางเร่งแก้ไขภาวะคลอดก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสังคมในอนาคตควบคู่กับการสร้างรากฐาน

ปลัดมหาดไทย นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกแนวทางเร่งแก้ไขภาวะคลอดก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสังคมในอนาคตควบคู่กับการสร้างรากฐานสังคมไทยที่มั่นคงร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ตั้งเป้า “ลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด” ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีนี้
.
วันนี้ (24 เม.ย. 66) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ธราธิป โคละทัต ผู้จัดโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในทุกมิติอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งการประชุมในวันนี้ ได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาการคลอดก่อนกำหนดอันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทยที่ส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งส่งผลต่อประเทศไทยในระยะยาวในด้านประชากรศาสตร์ เนื่องจากความสมบูรณ์ของทารกที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน พัฒนาการของเด็ก หรือโอกาสเกิดสภาวะความเสี่ยงแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้น การได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วนและอยู่ในการดูแลของแพทย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดูแลหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนด ประกอบกับการแก้ไขปัญหาสังคมในกลุ่มวัยรุ่นหรือท้องไม่พร้อม (คุณแม่วัยใส) ที่อาจเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมต่าง ๆ ทั้งนี้ เด็กทารกที่เกิดมาทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นความหวังของประเทศ จึงจำเป็นต้องใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติที่ดี และมีคุณภาพเพียบพร้อมไปด้วย สภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และมีสติปัญญาที่ดี
.
“กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท โดยทรงมีพระราชกระแสว่า ทรงห่วงใยถึงสุขภาวะของเด็กทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขอรับพระราชทานพระราชานุญาตน้อมนำพระราชกระแสดังกล่วมาเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาเด็กทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งต่อมาจึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยมุ่งเป้าที่ผลสัมฤทธิ์คือ “การลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด” ให้ได้ร้อยละ 50 ทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 นี้” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาและความตั้งใจที่จะร่วมกัน Change for Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อช่วยกันหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เกิดมรรคผล ซึ่งสิ่งสำคัญของการ “การลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด” คือ การสร้างความตระหนักรู้ เรื่องการป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด และการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขของหน่วยงานภาครัฐในหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มคุณแม่วัยใส และกลุ่มทั่วไป ให้ไปฝากครรภ์ในสถานพยาบาล และได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
.
“ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ จะต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ให้มีความรู้พื้นฐานด้านเพศศึกษา และ ทั้งกลุ่มทั่วไป และกลุ่มวัยรุ่น เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์จะต้องรีบไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล เพื่อให้ได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์ ซึ่งภายหลังการคลอดก็จะต้องมีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กทารก การวางแผนตั้งแต่ก่อน ระหว่าง หลัง การตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญ โดยหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยกันจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน และเผยแพร่ผ่านทั้งสื่อออนไลน์ (Social Media) และประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายเพื่อให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงการสนับสนุนให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจนครบ 12 ปี ที่กฎหมายกำหนด ภาคบังคับ 9 ปี (ป.1 – ม.3) และอีก 3 ปี (ม.ปลาย หรืออาชีวศึกษา) นอกจากนี้ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ก็จะต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญในเรื่องของการรณรงค์ให้รู้จักการป้องกัน เพื่อมิให้เด็กที่อยู่ในวัยเรียนตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง จากจุดเล็ก ๆ คือ การมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย

พระปัญญาวชิรโมลี เมตตากล่าวสัมโมทนียกถาความว่า “ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ภายหลังจากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 65 ได้สำรวจสภาพปัญหาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี พบปัญหาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ มีประมาณ 8% ของทารกแรกเกิดที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ แพทย์ที่โรงพยาบาลลาออก ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีความประสงค์ขอย้ายโรงพยาบาล รวมถึงขาดแคลนเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงถือโอกาสบริจาคเงินทุนทรัพย์ จำนวน 1,500,000 บาท จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล ประกอบด้วย ตู้อบทารก และเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเมื่อบริจาคไปแล้วก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของทางโรงพยาบาล และยังมีทั้งรถพยาบาลสำหรับ รับ-ส่งผู้ป่วยจากจังหวัดมุกดาหาร ศรีสะเกษ ยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเคสพิเศษอื่น ๆ ได้ จึงได้ให้คำแนะนำว่าให้ลำดับปัญหาทีละปัญหา และค่อย ๆ แก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดก่อน ตามศักยภาพโดยพิจารณาจากความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์ รวมถึงได้นำปัญหาดังกล่าวหารือกับครูที่โรงเรียนศรีแสงธรรมถึงแนวทางการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนได้มีความตระหนักถึงปัญหาและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนต่อการเจริญเติบโต

“คำตอบของปัญหาต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานในระดับนโยบายช่วยบูรณาการร่วมกันและเน้นย้ำให้หน่วยงานในระดับพื้นที่เข้าใจถึงปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านนำประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก และประโยชน์สุขส่วนตัวของตัวเองเป็นรอง และมรรคผลที่ทุกท่านคาดหวังว่าจะสำเร็จจะเกิดผลสำเร็จในที่สุด” พระปัญญาวชิรโมลี กล่าวเพิ่มเติม

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธราธิป โคละทัต กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่พบในหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดประกอบไปด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1) การฝากครรภ์ช้าหรือไม่ฝากครรภ์ ทำให้กำหนดอายุครรภ์คลอดไม่ถูกต้อง และได้รับการประเมินความเสี่ยงล่าช้า 2) การฝากครรภ์ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขาดความรู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งปัญหาที่พบบางรายมีฐานะยากจน ไม่สามารถเดินทางมาฝากครรภ์ได้ 3) การขาดความรู้เรื่องอันตรายของการคลอดก่อนกำหนด และสัญญาณเตือนที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่คิดว่าไม่ใช่การเจ็บท้องคลอดและไม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน คิดเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไปรอมาตรวจพร้อมนัดตรวจครรภ์ หรือบางครั้งอาจไม่มีคนพามาส่ง 4) เมื่อมีอาการผิดปกติเดินทางเข้ามารักษาล่าช้า ซึ่งบางรายเดินทางมาไม่ทันเพราะปากมดลูกเปิดกว้างมากกว่า 3 เซนติเมตรเเล้ว และ 5) แพทย์จำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด เพราะโรคเรื้อรังกำเริบและหรือมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคโลหิตจาง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อในช่องคลอด เป็นต้น
.
“วิธีการแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญ คือ การให้คำแนะนำเรื่องการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดก่อนการตั้งครรภ์หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องอันตรายของการคลอดก่อนกำหนดและสัญญาณเตือนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อตั้งครรภ์ ซึ่งควรเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด หรือไปรับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติให้รีบเดินทางเพื่อเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลทันที” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธราธิปฯ กล่าวเพิ่มเติม