200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส

ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (2)

 

หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีแนวคิดในการผนวกรวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาของสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2442

เพียงราว 5 ปี คือในปี พ.ศ.2447 ก็ได้มีโครงการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกขึ้นในพื้นที่วัดรังษีสุทธาวาส โดยมีพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาคย์ และ หลวงบรมราชเสวี พร้อมผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายคนบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างขึ้น

อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเป็นตึกขนาด 5 ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง เมื่อพิจารณาจาก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2550” ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตัวอาคารน่าจะสร้างขึ้นบนพื้นที่ลานหน้าเขตพุทธาวาสของวัด เยื้องมาทางด้านตะวันตก ใกล้กับประตูวัดด้านหน้าติดถนนพระสุเมรุ (ปัจจุบันคือพื้นที่ตึกมนุษนาควิทยาทาน)

หลังจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มาพร้อมกับแนวคิดในการผนวกรวมวัดก็เริ่มต้นอย่างจริงจังมากขึ้น

และมาสำเร็จโดยสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6

ภาพแผนผังวัดรังษีสุทธาวาส จาก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450”

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า แม้รูปธรรมของการเริ่มผนวกวัดรังษีสุทธาวาสจะเริ่มขึ้นราว พ.ศ.2442 แต่ความคิดนี้เริ่มถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้นานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2439 ซึ่งเหตุผลในการผนวกรวมครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนมหามกุฏราชวิทยาลัย

โดยในครั้งนั้น เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลผ่านพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า มหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าสมควรที่จะต้องสร้างอาคารเรียนสำหรับมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นการเฉพาะขึ้น

และในการเดียวกันนี้ หากเสนาสนะสำหรับพระภิกษุสามเณรที่มาเล่าเรียนมีไม่เพียงพอสำหรับพักอาศัย ก็อยากจะขอพระบรมราชานุญาตให้ผนวกวัดรังษีสุทธาวาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อจะได้ใช้เป็นเสนาสนะสำหรับพระภิกษุต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริ ณ ตอนนั้นว่า การสร้างอาคารเรียนสำหรับมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นยังไม่ถือเป็นการเร่งร้อน จึงขอให้เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ทบทวนให้ดีเสียก่อน ซึ่งทำให้การยุบรวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหารจึงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

 

แต่เมื่อเวลาล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงมีพระดำริที่จะผนวกรวมวัดรังษีสุทธาวาสอีกครั้ง คราวนี้พระองค์ได้ทรงทำจดหมายถึง เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น เพื่อขอพระบรมราชานุญาต มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

“…วัดรังษีสุทธาวาสตั้งอยู่ใกล้วัดนี้ (หมายถึงวัดบวรนิเวศวิหาร-ผู้เขียน) ถูกวัดนี้บีบ ย่อมร่วงโรยจำเริญไม่ได้ ทั้งวัดชำรุด ใม่มีกำลังจะปฏิสังขรณ์ ฝ่ายวัดนี้ ถึงน่าพรรษา มีพระจำพรรษามาก หาที่เปนสถานประชุมในการเล่าเรียนของพระสงฆ์สามเณรได้ยาก ศาลาก็เปนที่เล่าเรียนของเด็กเต็มหมด ต้องแออัดมาก ทางแก้ที่จะให้สดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือ รวมวัดรังษีเข้าหาวัดนี้…เรื่องนี้ได้รับความรับรองของท่านทั้งหลายเปนอันมาก…” (ดูใน สจช., มร. 6ศ/12 เรื่องรวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้าเปนวัดเดียวกันกับวัดบวรนิเวศนวิหาร)

ซึ่งในครั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แต่เนื่องจากวัดรังษีสุทธาวาสเป็นวัดมหานิกาย ในขณะที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย

ดังนั้น การรวมวัดเข้าด้วยกันย่อมมีปัญหาในเรื่องการทำสังฆกรรมอยู่บ้าง ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงคิดหาทางแก้ปัญหาดังต่อไปนี้ (ดูใน สจช., มร. 6ศ/12 เรื่องรวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้าเปนวัดเดียวกันกับวัดบวรนิเวศนวิหาร)

“… ๑ ย้ายเรือนในรวางสองวัด อันเปนที่ธรณีสงฆ์ของวัดนี้ให้ปลูกในที่ธรณีสงฆ์แห่งอื่นๆ ค่ารื้อค่าปลูก จ่ายทุนของวัดนี้ ฯ

๒ พระสงฆ์มหานิกายวัดรังษี มีน้อยรูป ให้คงอยู่ เว้นแต่บางรูปผู้เปนที่รังเกียจ ฯ

๓ จัดวิธีให้พระมหานิกายได้ทำอุโบสถด้วยประการใดประการหนึ่ง คือ ให้บอกปาริสุทธิในที่ประชุมสงฆ์วัดนี้ เมื่อสวดปาติโมกข์จบแล้ว หรือรูปใดปราถนาจะฟังปาติโมกข์ ก็ให้ไปทำอุโบสถที่วัดอื่นกว่าจะทำอุโบสถร่วมกันได้ ฯ

๔ ในการรับพระกฐิน ถ้าพระสงฆ์วัดนี้ยอม รูปที่ได้รับพระราชทานไตรปี ให้มารับที่วัดนี้ นอกจากนั้น ให้อนุโมทนาในเวลากราน ฯ

๕ ไหว้พระสวดมนต์แลธรรมศรวนะ รวมทำแห่งเดียวกัน ฯ

๖ ย้ายเสนาสนะริมถนนดินสอเข้ามาในคูวัด ปลูกในที่อันเหมาะ ฯ มูลค่าที่จะจ่ายในการนี้ ขอพระราชทานจ่ายรายทรงพระราชอุทิศเพื่อการปฏิสังขรณประจำปี ฯ

๗ ที่เสนาสนะเดิมข้างถนนดินสอนั้น ยกเปนที่ธรณีสงฆ์ สร้างตึกหรือโรงให้คนเช่า ฯ มูลค่าจ่ายทุนกู้มหามกุฎราชวิทยาลัย ฯ

๘ ยกการเรียนชั้นต่ำของเด็กไปตั้งที่วัดรังษี ฯ นี้ต้องหาทุนได้ก่อนจึงจะทำได้ ฯ…”

ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2458 เป็นต้นมา วัดรังษีสุทธาวาสจึงถูกยุบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ และชื่อของวัดก็ได้กลายมาเป็นเพียงชื่อคณะหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ ชื่อว่า “คณะรังษี” จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ภาพแผนผังวัดรังษีสุทธาวาส จาก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475”

เมื่อผนวกรวมโดยสมบูรณ์แล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพก็ได้เกิดขึ้นมากมาย สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้มีพระดำริให้ย้ายเสนาสนะที่อยู่ในเขตสังฆาวาส ริมถนนดินสอเข้ามาในเขตสังฆาวาสด้านทิศใต้ทั้งหมด

เปลี่ยนสถานภาพของเขตสังฆาวาสริมถนนดินสอให้กลายเป็น “ที่ธรณีสงฆ์” และให้สร้างตึกแถวขึ้นเพื่อให้คนมาเช่า ส่วนเขตสังฆาวาสด้านทิศใต้ถูกจัดการใหม่โดยแบ่งออกเป็น 3 คณะย่อย คือ คณะเหลืองรังษี คณะแดงรังษี และคณะเขียวรังษี

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนจาก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475” ซึ่งจะพบว่าพื้นที่สังฆาวาสริมถนนดินสอได้ถูกรื้อย้ายออกไปแล้วจนหมดสิ้น และมีตึกแถวสร้างขึ้นตลอดแนวเขตวัดรังษีสุทธาวาสด้านถนนดินสอตามพระดำริสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ

นอกจากการรื้อเสนาสนะลงเป็นจำนวนมากแล้ว “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475” ยังแสดงให้เห็นว่า ได้มีการรื้อถอนกำแพงแก้วที่ล้อมเขตพุทธาวาสวัดรังษีสุทธาวาสลงด้วย พร้อมทั้งอาคารเล็กๆ อีก 3-4 หลังซึ่งไม่ทราบได้ว่าเป็นอาคารอะไร

 

เหตุผลอีกประการที่ทำให้มีการยุบรวมวัดรังษีสุทธาวาส เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ (นอกเหนือไปจากความร่วงโรยของวัดและการจัดการศึกษาของพระสงฆ์) ก็คือ ความต้องการที่จะพัฒนาวัดรังษีสุทธาวาสให้เป็นพื้นที่ในด้านการศึกษาแก่ฆราวาส

แนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นจาก จดหมายของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ทำบันทึกกราบบังคมทูล รัชกาลที่ 6 ไว้เมื่อ พ.ศ.2464 ความตอนหนึ่งว่า

“…สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ได้ทรงปรารภว่า จำนวนภิกษุสามเณรต่อไปจะต้องน้อยลงโดยเหตุเนื่องด้วยอิคอนอมิกส วัดที่ไม่มีพระอยู่หรือมีพระน้อย ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องร่วงโรย จำต้องคิดแก้ไขให้เป็นที่ชุมนุมคนมากๆ จึงจะครึกครื้น และนำมาซึ่งความสัทธาของมหาชนที่จะช่วยกันทนุบำรุง ผู้ที่จะมาชุมนุมกันอยู่ได้มากๆ ก็คือเด็กนี้เอง วัดใดเป็นที่ชุมนุมเด็กมากๆ แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บิดามารดาผู้ปกครองเด็กจะไม่ฝักใฝ่ในกิจการของวัดนั้น จึงทรงเห็นว่าวัดทุกวัดควรจัดเป็นโรงเรียน…นี้เป็นอนาคตของวัดตามพระประสงค์และจะเป็นสิ่งที่วิเศษมากถ้าได้จัดสำเร็จ เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่วัดอื่นๆ จะทรงเริ่มด้วยวัดรังษีสุทธาวาสซึ่งกำลังซุดโซมด้วยขาดการบำรุงนั้นก่อน จะทรงขอพระบรมราชานุญาตยุบลงเป็นคณะหนึ่งของวัดบวรนิเวศ…”

(ดูใน สจช., มร. 6ศ/5 โรงเรียนวัดบวรนิเวศฯ (3 มิ.ย. 2456-11 ธ.ค. 2467) เรื่องบันทึกพระดำริห์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการจัดการศึกษาของวัดและการฝึกหัดครู, หน้า 10)

จากคำอธิบายดังกล่าว เราจะเห็นว่า การผนวกรวมวัดรังษีสุทธาวาสนั้น ในอีกแง่หนึ่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ในพื้นที่วัด หรือพูดอีกอย่างก็คือ “โรงเรียนวัด” นั่นเอง