กึ่งศตวรรษของ Linn Products

กึ่งศตวรรษของ Linn Products

 

ท้ายเที่ยวก่อนได้พูดอะไรออกมาคำ เกรงว่าคนเล่นเครื่องเสียงรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะยุคที่อะไรมันสะดวกดายและง่ายไปหมดแบบสตรีมมิ่งจะไม่เข้าใจ เลยขอนำมาขยายความสักเล็กน้อยก่อนไปพูดถึงเรื่องของลินน์ต่อ

นั่นก็คือคำว่า Voodoo Audio ด้วยมีอยู่ห้วงเวลาหนึ่ง ที่มีนักเล่นเครื่องเสียงอยู่กลุ่มจะหมกมุ่นกับการหาข้าวของอะไรแปลกๆ เข้ามาใช้ประกอบการเล่น เป็นต้นว่าเอามาวางตรงจุดนั้น จุดนี้ ตามตำแหน่งต่างๆ ภายในห้อง รอบๆ ชุดเครื่องเสียง

หรือไม่ก็เอามาวางบนเครื่อง บนลำโพง โดยมีที่ทางให้วางตั้งแบบเจาะจง แล้วบอกว่าช่วยให้เสียงดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่มีคำอธิบายถึงความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์เลย เท่าที่ฟังดูจะออกไปทางกล้อมแกล้มแบบสีข่างเข้าถูมากกว่า

ซึ่งต่างกับอีกกลุ่มหนึ่งในยุคไล่ๆ กัน ที่มีทางเล่นเป็นของตัวเองอีกแบบ และดูมีความน่าเชื่อถือหรือเป็นไปได้ในการยกระดับคุณภาพเสียงมากกว่าพวกเล่นแบบวูดู

นั่นก็คือพวก Tweak ครับ กลุ่มนี้ก็คือพวกที่เรียกกันว่า ‘นักโม’ (Modify) นั่นแหละครับ คือเป็นพวกที่ชอบเปลี่ยนหรือดัดแปลงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดมากับเครื่อง หรือของลำโพง ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีเกรดสูงกว่าของเดิมๆ ที่ใช้อยู่ในเครื่องนั้นๆ ซึ่งมักจะให้เสียงดีขึ้นกว่าเดิมจริง

แต่สุดท้ายก็หายหรือซาๆ ความนิยมไปทั้งคู่ ทั้งสองกลุ่มนั่นแหละครับ พวกชอบโม’ หายไปเพราะยิ่งทวีกมาก ยิ่งลงทุนมาก ทำไปทำมาเงินที่เสียไปกับการทวีกเอาไปซื้อเครื่องแพงๆ ได้เลย ก็เลยไม่รู้ว่าจะมาเสียเวลากับการทวีกหรือโมดิฟายอยู่ทำไม

ส่วนพวกสายวูดูนั่น ส่วนใหญ่มักจะค้นพบตัวเองว่าที่ทำๆ ไป แล้วว่าเสียงดีขึ้นน่ะ ทึกทักเอาเองกันทั้งนั้น

Linn Troika

กลับมาเรื่อง 50 ปี ของลินน์ที่ใคร่พูดถึงกันต่อครับ คืออยากจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของค่ายนี้เขาในวาระกึ่งศตวรรษ เสมือนบันทึกไว้จากความทรงจำ นอกจาก LP12 เครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ และลำโพงระดับ Entry Level สำหรับมือใหม่อย่าง Linn Kan แล้ว ค่ายนี้ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกแยะครับ โดยลินน์ คาน นั้นเป็นลำโพงที่ใช้ชุดตัวขับเสียงสำเร็จจากค่ายอื่นมาดัดแปลงให้เป็นเอกลักษณ์ตามแนวคิดของตัวเอง ซึ่งทวีตเตอร์แบบ Soft Dome นั้น เป็นของ Scanspeak ขนาด 19 มิลลิเมตร ส่วน Mid/Bass Driver ขนาด 110 มิลลิเมตร ใช้ KEF 110 โดยที่ครอสส์โอเวอร์ เน็ตเวิร์ก นั้นทางลินน์เป็นผู้ออกแบบเอง ส่วนโครงสร้างตู้ยึดแนวทางการออกแบบของ LS3/5a ที่รู้จักกันดีในชื่อ BBC Monitor นั่นเอง

Linn Kan ได้มีพัฒนาการต่อมาอีกสองเจเนอเรชั่น ครั้งแรกได้รับการปรับปรุงเป็น Kan Mk1 ส่วนครั้งหลังสุดปรากฏตัวในปี ค.ศ.1991 ในชื่อ Kan II และแผงขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบ Bi-Wire

ช่วงปลายทศวรรษที่ 80s อันเป็นห้วงเวลาที่คอมแพ็กต์ ดิสก์ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ลินน์ได้ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาอีกรุ่น ซึ่งได้ชื่อว่า Son of Sondek นั่นคือ Linn Axis ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงนักเล่นกลุ่มแผ่นสีเงินกลับมาหาแผ่นไวนีลเหมือนเดิม ภายใต้แนวคิดสามประการ คือ ต้องมีโครงสร้างรูปลักษณ์สวยงาม ติดตั้งและใช้งานง่าย (เนื่องเพราะ LP12 ได้ชื่อว่าติดตั้งยาก ต้องการความประณีตและฝีมือในการนี้แบบสุดๆ)

และประการสุดท้ายที่สำคัญยิ่งก็คือต้องมีประสิทธิภาพเหนือกว่ามาตรฐานของเครื่องเล่นซีดีที่ว่าดีในยุคนั้น

ซึ่งนับว่าลินน์ก้าวผ่านแนวคิดทั้งสามนั้นได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเทิร์นเทเบิลรุ่นนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และยังคงเป็นที่แสวงหาของนักเล่นกลุ่มวินเทจตราบทุกวันนี้ ทั้งยังมีราคาสูงกว่าเมื่อคราวออกตลาดที่ 313 ปอนด์ ไปแตะที่ระดับพันปอนด์อีกด้วย

พูดถึงตัวแท่นไปแล้ว ไม่บันทึกถึงหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง (Cartridge) ของเขาบ้างก็กระไรอยู่ ในยุคเฟื่องฟูของแผ่นไวนีลนั้น นอกจากหัวเข็ม Koetsu Black จะรับความนิยมสูงแล้ว อีกหัวเข็มที่ถูกประกอบเข้าโทนอาร์มติดแท่น LP12 มากอีกรุ่นคือ Linn Troika หัวเข็มแบบ MC: Moving Coil ออกตลาดมาช่วงกลางทศวรรษที่ 80s เพื่อแทนที่หัวเข็มรุ่น Karma มีโครงสร้างตัวถังขึ้นรูปด้วยโลหะ ใช้ระบบการติดตั้งแบบ 3 จุด มีความมั่นคงและแข็งแกร่งเชิงกลสูง ควบคุมการเคลื่อนไหวและป้องกันการสั่นสะเทือนได้ดีเยี่ยม

ทำให้ลดทอนความพร่าเพี้ยนของสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Linn Isobarik

สําหรับลำโพงของค่ายนี้ที่ยังคงเป็นที่จดจำมาถึงวันนี้ก็คือ Linn Isobarik (เรียกขานกันในกลุ่มนักเล่นว่า Briks บ้างก็เรียก Bariks) ลำโพงรุ่นแรกของแบรนด์ เป็นลำโพงระบบ 3-ทาง, 6-ไดรเวอร์ ใช้หลักการ Isobarik Loading ที่ออกแบบและคิดค้นขึ้นโดย Harry Olson แห่ง RCA Laboratories มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50s โดยใช้วูฟเฟอร์สองตัวต่อขนานกันแบบ In-Phase และจัดเรียงหันไปทางด้านหน้าเหมือนกัน

ตัวหนึ่งติดตั้งที่แผงหน้าตู้ ส่วนอีกตัววางซ้อนอยู่ในตู้ทางด้านหลัง โดยทั้งคู่อยู่ในตู้เฉพาะที่เป็นแบบปิดสนิท (Sealed Box) ซึ่งนอกจากช่วยให้เสียงเบสมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยพลังอีกด้วย (แต่ก็ต้องการกำลังขับจากแอมป์มากเป็นพิเศษเช่นกัน)

ขณะเดียวกันก็ใช้มิดเรนจ์และทวีตเตอร์อย่างละสองตัว โดยมิดเรนจ์/ทวีตเตอร์ชุดแรกวางอยู่เหนือวูฟเฟอร์ที่แผงหน้าตู้ โดยที่ไดรเวอร์ทั้งสามตัวจัดเรียงเอาไว้ในแนวดิ่ง ขณะที่มิดเรนจ์/ทวีตเตอร์อีกชุดวางอยู่ที่ผนังตู้ด้านบน

ลำโพงลินน์ ไอโซบาริก มีอยู่ด้วยกันสองรุ่น ที่ใช้เล่นกันในกลุ่มออดิโอไฟล์คือ Isobarik DMS ส่วนอีกรุ่นสำหรับใช้งานในสตูดิโอ คือ Isobarik PMS โดย DMS ออกตลาดก่อน ส่วน PMS ตามมาอีกสี่ปีหลังจากนั้น

แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘ลำโพงกินวัตต์’ แต่เกร็ดที่น่าสนใจของลำโพงรุ่นนี้ก็คือ เป็นที่นิยมใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพและสัมผัสความยอดเยี่ยมของ NAD 3020 อินติเกรตเต็ด แอมป์ ที่มีชื่อเสียงลือเลื่องมาตั้งแต่ยุค 70s ในแง่ของความคุ้มค่าหาใดเปรียบ เพราะแม้ว่าจะระบุกำลังขับเอาไว้ในสเปกเพียง 20Wrms แต่มันก็สามารถขับไอโซบาริกได้อย่างฉลุยน่าทึ่งมาก

และนั่นเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ที่ส่งผลให้ NAD 3020 ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบรรดาแอมป์ยอดเยี่ยมลอดกาลของวงการมาจนทุกวันนี้

Linn Sondek CD12

กล่าวสำหรับยุคสมัยดิจิทัล เครื่องของลินน์ที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้รุ่นหนึ่งคือ Linn Sondek CD12 ซึ่งโดดเด่นด้วยการออกแบบให้ระบบหัวอ่านเลเซอร์แยกออกจากแท่นชัสซีหลักของเครื่อง

ทำให้สามารถสร้างระบบป้องกันผลกระทบอันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งแรงจากภายนอก อาทิ คลื่นเสียงจากลำโพง ตลอดจนแรงภายในอันเนื่องมาจากการทำงานของเครื่อง ใช้ชุดประมวลผลสัญญาณดิจิทัลแบบความเร็วสูง (Hi-Speed DSP: Digital Signal Processor) ภาคจ่ายกระแสแบบ Switching ถูกห่อหุ้มเอาไว้อย่างมั่นคง จึงให้การทำงานที่เสถียรสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่องตลอดเวลา

ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่ให้เสียงดีที่สุดในยุคนั้น มีความเป็นดนตรีอย่างสมบูรณ์ มีโทนเสียงที่อบอุ่น นุ่มนวล พลิ้วไหวแต่ชัดเจน และเปี่ยมไปด้วยพลัง

จนได้รับการยกย่องว่าเป็น Sondek LP12 ของโลกดิจิทัลครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]