กระบวนการยุติธรรมทรงเอ

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

กระบวนการยุติธรรมทรงเอ

 

“ทรงเอ” หรือ “ผู้ชายทรงเอ” คำศัพท์ใหม่ฮิตติดหูในช่วงที่ผ่านมา ย่อมาจากคำว่า “เอเย่นต์” มักหมายถึงผู้ชายที่มีรูปลักษณ์คล้ายกลุ่มพ่อค้าสีเทาๆ

ลุคดูรวยมากๆ แต่ไม่มีข่าวว่าประกอบธุรกิจอะไร ราวกับว่าเงินลอยมาจากอากาศ

ครั้งนี้ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน ที่ได้รับการขนานนามต่อท้ายตำแหน่งว่าทรงเอ แต่เป็นสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติท่านหนึ่ง

เรื่องราวของท่านนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ส.ส.ตัวตึงประจำสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดประเด็นร้อนอีกครั้ง อภิปรายถึงความสัมพันธ์ของนายมิน ตุน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา ซึ่งพัวพันกับการค้ายาเสพติด และอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติดเดียวกันกับผู้มีเกียรติท่านหนึ่ง

ย้อนกลับไปต่ออีกนิด วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ตรงกับวันจันทร์ และเป็นวันราชการวันแรกของเดือนตุลาคม พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตร กองกำกับการสืบสวน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ตำแหน่งขณะนั้น) พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดีเครือข่ายยาเสพติดและฟอกเงินของนายมิน ตุน ลัต ยื่นศาลอาญา ขอออกหมายจับ ส.ว.ท่านดังกล่าว ผู้พิพากษาเวรศาลอาญาก็อนุมัติออกหมายจับ

เรื่องราวคงจะจบลงแบบไม่มีอะไรน่าแปลกประหลาดใจ หากเรื่องนี้จบลงเพียงเท่านี้ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น พ.ต.ท.มานะพงษ์ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้กลับไปพบผู้ใหญ่ศาลอาญา 3 ท่าน โดยมีการเรียกร้องให้ตำรวจท่านดังกล่าวถอนคำร้องขอออกหมายจับ ส.ว. ที่เพิ่งได้รับไปเมื่อเช้า

ระหว่างพูดคุยกันได้ตามผู้พิพากษาเวรที่เป็นผู้อนุมัติออกหมายจับเข้ามาในห้อง และท้ายที่สุด ผู้พิพากษาเวรท่านนั้นก็ได้เพิกถอนการออกหมายจับ ส.ว.ท่านนั้น ในรายงานกระบวนการพิจารณาตอนหนึ่งระบุให้ออกหมายเรียกท่าน ส.ว.ก่อน หากไม่มาตามหมายเรียกค่อยออกหมายจับ

จากวันนั้นถึงวันนี้ระยะเวลาล่วงเลยผ่านมาเกือบ 6 เดือน ยังไม่มีการออกหมายเรียกแต่อย่างใด

 

รายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากจดหมาย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอออกหมายจับ ส.ว. และการเพิกถอนหมายจับ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2566 เขียนโดย พ.ต.ท.มานะพงษ์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์เอง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากฝ่ายตำรวจเพียงฝ่ายเดียว

แต่ต่อมาบันทึกข้อความของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหลุดว่อนในโลกอินเตอร์เน็ต ชี้แจงกรณีเพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการทำบันทึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ในบันทึกมีการชี้แจงประเด็นสำคัญอยู่ 4 ประเด็น คือ

1. พ.ต.ท.มานะพงษ์ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา

2. ผู้พิพากษาเวรผู้ออกหมายจับไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2565 และ พ.ศ.2548 คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พ.ศ.2565 ระเบียบศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการคดีของศาลอาญา ลงวันที่ 1 เมษายน 2565 เนื่องจากผู้พิพากษาเวรมิได้ปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่ได้รับมอบหมาย ก่อนการออกหมายค้นหรือหมายจับ คดีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียหาย เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ บุคคลในสถานทูต หรือผู้พิพากษา

3. เนื่องจากการร้องขอให้ออกหมายจับ แม้การกระทำความผิดจะมีโทษสูงสุดจำคุกเกิน 3 ปี ซึ่งอาจออกหมายจับได้ ตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(1) ก็ตาม แต่หากไม่ปรากฏว่าการออกหมายเรียกก่อนจะมีผลเสียหายแก่คดี เสี่ยงต่อการที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี การจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น ศาลจึงพิจารณาให้ออกหมายเรียกแทนที่จะออกหมายจับ (แน่ใจได้อย่างไรว่าเครือข่ายยาเสพติดจะไม่ยุ่งเหยิงกับคดี)

4. ผู้พิพากษาเวรไม่ทราบว่าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับเป็นสมาชิกวุฒิสภา หากทราบก็จะไม่ออกหมายจับ แสดงให้เห็นว่าเป็นการออกหมายจับโดยผิดหลงไป

 

เท้าความซะยืดยาว สำหรับรายละเอียดข้อเท็จจริงฉบับเต็มของทั้งสองฝ่าย หาได้จากอินเตอร์เน็ตครับ

สมมุตินะครับสมมุติ สมมุติว่าเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายเล่าเป็นเรื่องจริง เพราะผ่านมาเกือบเดือน ยังไม่มีฝ่ายใดออกมาโต้แย้งว่าอีกฝ่ายเล่าเรื่องเท็จแต่อย่างใด

ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ติดตามดราม่าเรื่องราวในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ได้แต่เฝ้ารับชมและถอนหายใจ รำพึงรำพัน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ปล่อยให้ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติท่านนั้นลอยตัว ปล่อยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทุกท่านมีมลทินมัวหมองแทน

หากเกิดขึ้นในหน่วยงานอื่น กระผมคงไม่เขียนถึง แต่ครั้งนี้องค์กรกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย ให้ปล่อยผ่านไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้

 

มาพิจารณาข้อกฎหมายกันครับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไว้ในมาตรา 27 ว่า “บุคคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”

ตามระเบียบศาลอาญาที่กำหนดให้ต้องปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อนนั้น สร้างความสงสัยถึงความไม่เสมอภาคกันในกฎหมาย ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24(1) ให้อำนาจผู้พิพากษาท่านหนึ่งมีอำนาจออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่ง ซึ่งรวมถึงหมายจับด้วย กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายอยู่ในระดับพระราชบัญญัติ อยู่สูงกว่าระเบียบศาลอาญา

กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 กำหนดเหตุการณ์ออกหมายจับไว้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเช่นกัน

ระเบียบศาลอาญา หรือระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นข้อปฏิบัติผูกพันเฉพาะบุคคลในองค์กรเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกองค์กร และมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเล็กกว่าพระราชบัญญัติ

การฝ่าฝืนระเบียบเป็นเรื่องภายในองค์กร ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยลงโทษกันเองในองค์กร แต่ไม่เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอก

เมื่อตำรวจขอออกหมายจับ แม้ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คำร้องขอก็ไม่เป็นที่เสื่อมเสียไป สามารถใช้อ้างต่อบุคคลอื่นได้ ศาลอาญาเมื่อผู้พิพากษาเวรออกหมายจับโดยผิดหลงเพราะไม่รู้ว่าบุคคลตามคำร้องขอออกหมายจับเป็นสมาชิกวุฒิสภา หมายจับก็ไม่เสื่อมเสียไป ยังคงมีผลบังคับใช้ได้ต่อไป

ตามคำชี้แจงของตำรวจ นอกจากกระบวนการพิจารณาอาจขาดความอิสระในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทตามหลักกฎหมายของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังขาดความเป็นอิสระเพราะเกรง “ผู้ใหญ่” จะตำหนิ ทำให้เป็นที่น่าสงสัยอย่างมากว่า “ผู้ใหญ่” ที่ตำรวจอ้างนั้นคือใคร

มีคนที่ใหญ่กว่าองค์กรยุติธรรมที่คนระดับอธิบดีในกระบวนการยุติธรรมต้องเกรงใจหรือ

หากเป็นจริง องค์กรอำนวยความยุติธรรมคงไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อีก เท่ากับเป็นการยอมรับโดยชัดแจ้งว่า “สั่งได้”

 

ความจริงแล้วหากบริหารจัดการคดีนี้อย่างละเอียดรอบคอบกว่านี้ คงไม่กลายเป็นประเด็นร้อนอย่างทุกวันนี้

แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มีมากมายหลายแนวทาง เช่น ให้ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับติดต่อเข้ามาเพื่อขอเพิกถอนหมายจับ หรือหากเห็นเองว่าเป็นการออกหมายจับเนื่องจากผิดหลงไป ขอเพิกถอนเองได้ ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง

แต่กลับเลือกสั่งให้ตำรวจขอเพิกถอนหมายจับเอง ราวกับเป็นกระบวนการยุติธรรมทรงเอ เพราะไม่มีระเบียบอนุญาตให้สั่งให้ตำรวจมาถอนคำร้องขอออกหมายจับ ทั้งที่ตำรวจเป็นคนนอกองค์กร

เมื่อเล่นการเมืองไม่เป็น จึงถูกการเมืองเล่นงานแทน