เปิดปมยื้อรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกมการเมือง-ผลประโยชน์ กระทบศก.-บริการประชาชน

อาจเรียกได้ว่า เป็นความคืบหน้าที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

สำหรับเรื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) หลังจากที่ครม. นัดส่งท้ายเมื่อ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องให้ครม.พิจารณา แต่สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ถอนเรื่องออกจากที่ประชุม

อ้างเหตุผลว่าเพราะกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของศาล

ทำให้ต้องรอพิจารณาใหม่ในสมัยรัฐบาลหน้า ซึ่งตามไทม์ไลน์แล้วเร็วที่สุดคงเป็นช่วงกลางปี และหากมีปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องนี้อาจถูกลากยาวไปถึงปลายปี 2566 ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผลเสียในหลายมิติ ไม่ว่าประเด็นความล่าช้าในการเชื่อมต่อการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย การแบกภาระต้นทุนค่าก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟื้อ

ตลอดจนการเสียโอกาสของประชาชนที่จะได้ใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีคุณภาพ

หากยึดหลักการที่ว่าเวลาเป็นต้นทุนที่มีค่า การประวิงเวลาไปเช่นนี้ย่อมไม่เกิดผลดี

หากพิจารณาตามขั้นตอนการเสนอราคาต่อรัฐ พบว่า การเปิดซองประมูล เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

ผลปรากฏว่า บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เอาชนะคู่แข่งขัน คือ กลุ่มบริษัท ITD Group ด้วยการเสนอผลประโยชน์สุทธิ รับค่าสนับสนุนการก่อสร้างจากรัฐบาลเป็นเงิน 78,288 ล้านบาท ขณะที่คู่แข่งอย่าง ITD Group เสนอรับค่าสนับสนุน 102,635 ล้านบาท

ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประมูลงานปกติ บริษัทเอกชนที่เสนอราคาที่ดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ มีการเจรจาตกลงรายละเอียด ผ่านการตรวจสัญญาจากกฤษฎีกา ทุกอย่างก็น่าจะยุติ และสามารถเดินหน้าโครงการได้

แต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีความพยายามนำข้อมูลตัวเลขการเสนอราคาของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) นำโดย BTSC บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบมจ.ซิโนไทยฯ ที่ยื่นซองประมูลในครั้งก่อนมาอ้างอิงแบบมึนงง เพราะถูกยกเลิกไปแล้วอย่างถูกต้องตามระเบียบโดยมติของคณะกรรมการมาตรา 36 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 กระทั่งต่อมากลายเป็นคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

และผลปรากฎว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน ระบุว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่การแก้ไขในหลักการสำคัญตามมติครม. จึงไม่ต้องเสนอให้ครม.พิจารณาอีกรอบ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

จึงไม่ได้เป็นการละเมิดต่อบีทีเอส และไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บีทีเอส

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามนำตัวเลขดังกล่าวมาประโคมผ่านสื่อบางกลุ่ม ระบุว่า หากปล่อยให้เซ็นสัญญาไปจะทำให้รัฐเสียหายถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

โดยเมื่อไปดูรายละเอียดของตัวเลขดังกล่าวพบว่า เป็นการนำตัวเลขการขอเงินสนับสนุนจากรัฐ 79,000 ล้านบาท ไปหักลบกับผลประโยชน์ที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้รฟม. ในระยะเวลา 30 ปี เป็นจำนวน 70,000 ล้านบาท เมื่อหักลบกลบหนี้แล้วเท่ากับว่า BTSC จะขอรับเงินสนับสนุนเพียง 9,000 ล้านบาท

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ที่ขอสนับสนุน 78,288 ล้านบาท จึงกลายเป็นข้อกล่าวอ้างว่าทำให้รัฐประหยัดงบประมาณไปได้ 6.8 หมื่นล้านบาทนั่นเอง

คำถามที่ต้องเกิดขึ้นก็คือ หาก BTSC เชื่อมั่นว่าสามารถยื่นประมูลงานได้ในราคาเพียง 9,000 ล้านบาทเช่นนี้ เหตุใดถึงไม่ยื่นเสนอซองตามที่คณะกรรมการมาตรา 36 เป็นผู้กำหนด หากการแข่งขันเป็นไปตามกติกา เงื่อนไขที่เป็นธรรม หากผลออกมาว่าเป็นผู้ชนะการประมูล ย่อมไม่มีใครสามารถโต้แย้ง

การกางตัวเลขที่ไม่ได้นำมายื่นประมูลนั้นนอกจากผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังกลายเป็นข้อสงสัยว่า หากให้ใครก็ได้ที่ไม่ได้เข้าประมูล เปิดราคาที่ชนะฝ่ายตรงข้าม แล้วกดดันให้สังคมต้องเดินไปตามแนวทางดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพรบ.ร่วมลงทุน ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการตามมาตรา 36 เท่ากับว่าเลือกเอาตามสะดวกไปเลยใช่หรือไม่ !?

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งชัดเจนว่าปม “สายสีส้ม” กลายเป็นเรื่องที่มี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวพันอย่างปฏิเสธไม่ได้

เมื่อบางพรรคการเมืองนำตัวเลขดังกล่าวมาประโคม โจมตีการประมูลงานของรัฐที่ผ่านขั้นตอนการรับรองทางกฎหมาย รวมทั้งการออกมาของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ประกาศว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเรื่องไม่โปร่งใส ระบุมีหลักฐานการโอนเงินทอนของโครงการจำนวน 30,000 ล้านบาท ไปจ่ายค่าคอมมิชชั่นที่ประเทศสิงคโปร์ เข้าบัญชีธนาคาร HSBC เอามาเป็นทุนทางการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

แต่เมื่อ “กระทรวงคมนาคม” ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยทำหนังสือขอเอกสารหลักฐาน กลับถูกปฏิเสธ แล้วบอกว่าเป็นแค่การเตรียมการ ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สุด เพราะยังไม่มีแม้แต่การเซ็นสัญญา ยังไม่ได้เริ่มโครงการ ใครที่ไหนจะไปโอนเงินล่วงหน้ากันถึง 30,000 ล้านบาท

จนเกิดข้อกังขากันว่า เป้าหมายการเคลื่อนไหวเป็นการโจมตีเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่


นอกจากนี้ หากพิจารณาตามหลักการที่ยืนอยู่บน “ข้อเท็จจริง” ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่รัฐเองพร้อมสนับสนุนงานโยธาฯ ในวงเงิน 91,000 ล้านบาท ซึ่งก็คือ “ราคากลาง” ที่รัฐเห็นว่าสมเหตุสมผลนั่นเอง

หากมีเงินทอน 30,000 ล้านบาทจริง เท่ากับว่าเอกชนที่ชนะประมูลสามารถทำงานดังกล่าวได้ในวงเงินเพียง 40,000 ล้านบาทกระนั้นหรือ ?

เพราะหากทำได้จริงก็ต้องไปไล่เบี้ยคณะกรรมการฯ ที่จัดทำราคากลางเพราะถือว่าทำออกมาสูงเกินจริงไปมากมาย

ทั้งที่ลักษณะเนื้องานเป็นการทำสถานีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน มีการจุดเจาะผ่านถนนราชดำเนิน ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เรียกได้ว่าเป็นงานระดับมหากาฬ ต้องใช้ความรู้ความสามารถและทุนทรัพย์มหาศาล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโบราณสถาน และความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปอย่างมาก จะมีต้นทุนได้ถูกเช่นนั้นได้จริงหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น ยิ่งน่ากังขามาก ที่จะมีการกล่าวอ้างว่าสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยเงิน 9,000 ล้านบาทนั้ สามารถทำได้ตามข้อเสนอหรือไม่อย่างไร

ซึ่งกรณีดังกล่าว นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ BTSC เป็นคู่สัมปทานกับรฟม.ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล ซึ่งผ่านการยื่นประมูลในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ข้อเสนอของ BTSC ไม่ได้ดีอย่างที่กล่าวอ้างเหมือนในส่วนของสายสีสัม

กล่าวคือ BTSC เสนอค่างานโยธาราว 2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับราคากลาง ส่วนผลตอบแทนอายุสัมปทาน 30 ปีเช่นกัน BTSC เสนอผลตอบแทนเพียง 250 ล้านบาท ใกล้เคียงกันทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง และถ้าคิดตามฐานมูลค่าปัจจุบัน (PV) จะเหลือเพียง 151 ล้านบาทด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ หากสามารถให้ผลตอบแทนรัฐได้มากเหมือนที่กล่าวอ้างกับสายสีส้ม ก็น่าจะต้องแก้ไขสัญญาของสายสีชมพู และสายสีเหลือง เพื่อให้รัฐได้รัลผลตอบแทนมากขึ้นใช่หรือไม่ !

นายภคพงศ์ ยังให้ข้อมูลกับสื่อด้วยว่า อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ผ่านการเปิดซองตามกระบวนการอย่างถูกตัว ซึ่งไม่ควรจะนำมาอ้างอิงด้วยซ้ำ พร้อมสื่อสารไปยัง BTSC ที่ใช้การฟ้องร้องตามกฎหมาย ซึ่งรฟม.ก็ยอมรับในสิทธิ และต่อสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา เมื่อศาลมีคำพิพากษา ก็ควรจะเคารพ ไม่ควรใช้การกดดันนอกศาล เมื่อคำพิพากษาไม่ได้ออกมาตามที่ต้องการ

“การที่รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ไม่สามารถลงนามสัญญา ย่อมกระทบให้การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้าไปด้วย ซึ่งกระทบทั้งแง่เศรษฐกิจ ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินไว้ราว 4.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการเสียประโยชน์ของประชาชนในการรับบริการภาครัฐ การเสียงบประมาณบำรุงรักษาในช่วงที่ยังไม่ใช้งาน ไม่เป็นผลดีกับภาพรวมของประเทศเลย” ผู้ว่าฯ รฟม. ระบุ

ถือเป็นข้อมูลอีกด้านที่ต้องพิจารณาด้วยเหตุและผล!!!