ระบบธนาคารโลก วิกฤตหรือแค่ปั่นป่วน?

Photo by GABRIEL BOUYS / AFP

คําถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ ระบบการธนาคารทั่วโลกในเวลานี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปี ที่เกิดขึ้นเมื่อธนาคารขนาดยักษ์ในสหรัฐอเมริกาอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มทั้งยืนหรือไม่

หลายคนตั้งคำถามนี้ขึ้นหลังจากได้เห็นกับตาว่า ธนาคารอย่างน้อย 4 แห่ง 3 แห่งเป็นธนาคารขนาดกลางในสหรัฐอเมริกา กับอีกแห่งเป็นธนาคารระดับโลกที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของสวิตเซอร์แลนด์และทวีปยุโรปอย่างเครดิตสวิส ซึ่งเอสแอนด์พีเคยจัดให้เป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับที่ 45 ของโลกเมื่อปี 2021 นี่เอง

ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงชั่วสัปดาห์เดียว ในกรณีของธนาคารในสหรัฐอเมริกา การล้มครืนของแต่ละธนาคารกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นด้วยซ้ำไป

ที่เหลือเชื่อมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือการล้มของธนาคารเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปฏิรูปแวดวงธนาคารครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เมื่อปี 2007-2008 ที่ผ่านมา เพิ่มการกำกับดูแลและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

การล้มทั้งยืนของ 4 ธนาคารในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องชวนตะลึง และเชื่อมโยงไปถึงหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน

 

ทั้งหมดเริ่มจากกรณีของธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) ธนาคารภูมิภาคขนาดกลางในซานฟรานซิสโก ที่มุ่งเน้นทำธุรกรรมกับบรรดาสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ซิลิคอน วัลเลย์ โดยเฉพาะ เพราะเป็นช่องว่างที่บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ให้ความสำคัญ

ในช่วงระหว่างปี 2020-2022 ฐานเงินฝากของเอสวีบี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสตาร์ตอัพและกิจการเวนเจอร์ แคปิตอล (วีซี) ทั้งหลายขยายเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว ถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วจนน่าทึ่ง

เอสวีบีทำเช่นเดียวกับที่แบงก์พาณิชย์ทั่วไปทำ นั่นคือนำเอาเงินฝากที่มีอยู่ไปลงทุน แต่แทนที่จะลงทุนในระยะสั้นเพื่อความคล่องตัวของธนาคาร เอสวีบีกลับนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนระยะยาวในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เพื่อการเคหะ ซึ่งมั่นคงและดูมีเหตุผลในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพรวดพราดตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษของสหรัฐ

การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลลบ 2 ด้านต่อเอสวีบีอย่างกะทันหัน ทางหนึ่ง เงินฝากที่เคยไหลมาเทมา หดหายไป เพราะบริษัทวีซีทั้งหลายเริ่มดึงเงินไปลงทุนด้านอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเร็วกว่า ขณะที่สตาร์ตอัพทั้งหลายก็เริ่มดึงเงินฝากออกไปใช้มากขึ้น

ในอีกทางหนึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระยะยาวลดวูบลง นักลงทุนหันไปลงทุนทางอื่น ผลตอบแทนจากพันธบัตรและตราสารหนี้ลดวูบตามกลไกตลาด

เอสวีบีเกิด “ขาดทุนทางบัญชี” ขึ้นมหาศาลในพริบตา

ทั้งสองอย่างนั้นทำให้เอสวีบีเกิดปัญหาสภาพคล่อง เงินสดในมือที่มีน้อยอยู่แล้วเหือดหาย จนต้องขายทรัพย์สินคือพันธบัตรที่ถือครองอยู่แบบขาดทุนบักโกรกเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ก่อนล้ม 1 วัน เอสวีบีแถลงว่าขาดทุนเพราะการนี้ไป 1,800 ล้านดอลลาร์

เมื่อสิ่งที่เคยเป็นเพียงเรื่องเล่าลือ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่นในเอสวีบีก็หมดไป ภาวะที่ฝรั่งเรียกว่า “แบงก์ รัน” คือการแห่ถอนเงินฝากอย่างแตกตื่นก็เกิดขึ้นตามมา

ที่ชวนคิดก็คือ การเบิกถอนแบบดิจิทัลทำให้เอสวีบีล้มครืนได้ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง

ซิกเนเจอร์ แบงก์ ธนาคารขนาดกลางอีกแห่งที่เน้นทำธุรกรรมกับแวดวงคริปโต พังพาบตามมาด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน ต่อด้วย เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์

แต่ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกอย่างแท้จริงก็คือการล้มทั้งยืนของเครดิตสวิส ธนาคารอายุ 167 ปีของสวิตเซอร์แลนด์

เพราะนี่คือธนาคารที่ทำธุรกรรมอยู่ทั่วโลก เมื่อสิ้นปี 2021 มีทรัพย์สินอยู่สูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบไม่ได้เลยกับเอสวีบี ที่มีสินทรัพย์เพียง 209,000 ล้านดอลลาร์

ที่สำคัญก็คือ ทั้งเอสวีบีและเครดิตสวิส ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันด้วยซ้ำไป

แต่เครดิตสวิสเหมือนกับเอสวีบีอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ บริหารงานย่ำแย่มานานปี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคยล้มเหลวในโครงการใหญ่ ทำขาดทุนไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ต้นทุนความเชื่อมั่นของธนาคารจึงย่ำแย่ ถึงขนาดที่ระยะหลังถูกเรียกว่าเป็นธนาคารที่อ่อนแอที่สุดของยุโรป

ในวันที่หุ้นกลุ่มธนาคารในสหรัฐอเมริกาและตลาดใหญ่อื่นๆ ทั่วโลกถูกเทขายทิ้งอย่างหนัก หุ้นเครดิตสวิสร่วงหนักกว่าใครถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จนธนาคารแห่งชาติสวิส ซึ่งเป็นธนาคารกลางตัดสินใจเข้าอุ้ม เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามออกไปทั่วโลก

แล้วบังคับขายให้กับยูบีเอส กิจการธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิสอีกรายที่เป็นคู่แข่ง

การเข้าเทกโอเวอร์กิจการของธนาคารอย่างเอสวีบี, ซิกเนเจอร์ หรือการลงขันกันของธนาคารขนาดใหญ่เข้าอุ้มเฟิร์สท์ รีพับลิก และการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วของธนาคารกลางสวิส ช่วยระงับไม่ให้ปัญหาลุกลามไปใหญ่โตในระดับโลก

แต่ยังไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อระบบธนาคารขึ้นมาในทันทีทันใด

กระนั้นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เชื่อกันว่า ระบบธนาคารทั่วโลกยังไม่น่าจะเกิดวิกฤตจนพังพาบทั้งยืนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน แม้ว่าปัญหายังไม่ยุติแบบสะเด็ดน้ำก็ตามที

สถานการณ์ในยามนี้ ชวนให้นึกถึงสำนวนอังกฤษที่ว่า When the tide receding, we see who has been swimming naked. “เมื่อน้ำลด เราก็จะเห็นได้ชัดว่าใครเปลือยกายว่ายน้ำ”

นักลงทุนทั่วโลกยังคงมองหาธนาคารที่เปลือยเปล่าว่ายน้ำอยู่ต่อไป