ข้อคิดเรื่องสิทธิพลีชีพ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ข้อคิดเรื่องสิทธิพลีชีพ

 

โดยแตกต่างตรงข้ามกับฐานคติของระบอบอัตตาธิปไตยต่างๆ ตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ ไปจนถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จ (absolute monarchy, military absolutist dictatorship, totalitarianism) ซึ่งมักทึกทักอ้างเอาชีวิตร่างกายทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองมาเป็นของรัฐ

แนวคิดปัจเจกนิยมเสรี (liberal individualism) ยืนกรานว่าชีวิตคุณเป็นของตัวคุณเอง (self-ownership) ตามหลักปรัชญาเสรีนิยมของจอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษ (1632-1704) ไม่ใช่ของรัฐ หรือจอมเผด็จการที่ไหนจะเคลมไปปู้ยี่ปู้ยำตามอำเภอใจได้

นี่ถือว่าเป็นสิทธิ์โดยธรรมชาติ (natural rights) ของปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนาม (individuals) และลงเรียกว่าสิทธิ์ (right) แล้ว ก็มีความหมายเฉพาะเจาะจงของมัน กล่าวคือ ปัจเจกบุคคลเจ้าของสิทธิ์ย่อมมีสมรรถภาพ (capacity) ที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำได้ตามใจชอบต่อสิ่งนั้น

รวมทั้งมีอำนาจ (power) ที่จะต่อต้านใครก็ตามแต่ที่บังอาจล่วงละเมิดสิทธิ์นั้นด้วย โดยอาจใช้กำลัง (force) ของตัวเองหรือผู้อื่นในการต่อต้านดังกล่าวได้ในขั้นสุดท้าย

ในทางกลับกัน คนอื่นก็ย่อมมีหน้าที่ (duty) จะต้องงดเว้นการกระทำใดๆ ซึ่งอาจแทรกแซงไม่ว่าในทางใดๆ ต่อสมรรถภาพของบุคคลที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำตามสิทธิ์นั้นเสีย (นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์, น.6-7)

ที่กล่าวมาย่อมแตกต่างจากความเข้าใจเรื่องสิทธิ์กับหน้าที่กระแสหลักในสังคมการเมืองไทยราวฟ้ากับเหว เพราะวิธีคิดของไทยในเรื่องนี้หมกมุ่นแต่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ (ในสภาพที่มีรัฐแล้ว ไม่ใช่ในภาวะธรรมชาติก่อนมีรัฐ) และมองมันแบบเน้นหนักรัฐส่วนรวมตามแนวคิดอินทรียภาพ (organicism)

วิธีคิดแบบปัจเจกนิยมเสรีจึงนับว่าขยับขยายเอื้อเฟื้อพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้แก่ปัจเจกบุคคลเหนือชีวิตร่างกายทรัพย์สินของตัวมากกว่าแบบไทยๆ ค่าที่ถือว่าในที่สุดแล้วรัฐมีไว้เพื่อรับใช้ปัจเจกบุคคล (ซึ่งหมายถึงพลเมืองแต่ละคนทุกๆ คนในฐานะที่เราต่างก็เป็นปัจเจก) ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลมีไว้เพื่อรับใช้รัฐ – อันเท่ากับกลับตาลปัตรความสัมพันธ์เรื่องนี้ของวัฒนธรรมสังคมการเมืองไทยแต่เดิม (ดูบทความชุด “วัฒนธรรมเผด็จการไทย” ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนสุดสัปดาห์, พฤศจิกายน 2564)

แต่หลักการความเป็นเจ้าของตัวเอง (self-ownership) ของปัจเจกบุคคลก็มีปัญหาและขีดจำกัดของมัน เพราะหากยึดมั่นถือมั่นกับหลักการนี้อย่างเดียวแบบสุดโต่ง ก็ย่อมหมายความว่าบุคคลมีสิทธิ์ขาดจะทำยังไงกับชีวิตตัวเองก็ได้ตั้งแต่อัตวินิบาตกรรม (suicide) ไปจนถึงอารยะขัดขืนแบบพลีชีพตามแนวทางสัตยาเคราะห์ของคานธี (https://www.the101.world/gandhi-satyagraha/)

จะเข้าใจปัญหาทางแพร่งอิหลักอิเหลื่อนี้ได้ก็เมื่อเราลองสมมุติสถานการณ์และถามตัวเองว่า :

– ถ้าเกิดลูกหลานที่บรรลุนิติภาวะแล้วของเรา บอกเราว่าเซ็งชีวิตจะฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตของเขาย่อม เป็นสิทธิ์ขาดของตัวเขาเอง เราจะห้ามมิได้, เราจะว่าอย่างไร?

– หรือในทางกลับกัน หากพ่อแม่ของเรา บอกเราว่าเบื่อโลกจะฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตของเขาย่อมเป็นสิทธิ์ขาดของเขา จะทำอย่างไรกับชีวิตตัวเองก็ได้, เราจะว่าอย่างไร?

 

แน่นอนในฐานะผู้รักห่วงใยใกล้ชิด เราย่อมพยายามพูดคุยปลอบโยนให้สติแง่คิดเพื่อเปลี่ยนใจคนที่ เรารักอย่างสุดสติปัญญาความสามารถ แต่ถ้าพูดไปทั้งหมดแล้วและเขาไม่เปลี่ยนใจ ยังยืนยันสิทธิ์ขาดของความเป็นเจ้าของตัวเองอยู่ จะทำอย่างไรกับชีวิตตัวเองก็ได้ เราจะทำอย่างไร?

ยอมปล่อยให้เขาใช้สิทธิ์โดยชอบของเขาตามหลักปัจเจกนิยมเสรีหรือ?

ความอิหลักอิเหลื่อ พิพักพิพ่วนเบื้องหน้าสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิต กล่าวคือ เราอดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวเองมีหุ้นส่วนในชีวิตของลูกหลาน พ่อแม่หรือคนที่เรารักด้วย ว่าหากแม้นเขาเสียชีวิตไป มันก็เหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิตเราพลอยตายไปด้วย

เราปรารถนาจะมีสิทธิ์มีเสียงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญขนาดนั้นต่อชีวิตของเขา…ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นของเราที่อยู่ร่วมกันด้วย

 

หลักคิดที่สะท้อนความเป็นจริงอีกด้านที่ยกมาได้แก่หลักการหนี้สังคม (dette sociale) ของชาร์ลส์ จี๊ด ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (1847-1932) ซึ่งตั้งอยู่บนความผูกพันเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยอย่างมิอาจแยกขาดหรือปฏิเสธได้ระหว่างบุคคลกับสังคมที่แวดล้อมชีวิตเขา ตั้งแต่ขนาดเล็กระดับครอบครัวและชุมชน ไปถึงขนาดใหญ่ระดับประเทศชาติ

จนกล่าวได้ว่าบุคคลกับสังคมมีพันธะธรรม (obligation) ต่อกัน ที่พึงต้องเสียสละอุทิศช่วยเหลือเกื้อกูลบำบัดทุกข์บำรุงสุขของกันและกัน

หลักดังกล่าวเป็นฐานคติของลัทธิภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ซึ่งนับเนื่องเป็นสังคมนิยมแบบหนึ่งที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ใช้มาประกอบการค้นคิดยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 (ดูรายละเอียดในปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ฉบับขยายความโดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ภราดรภาพนิยม (Solidarism) ของปรีดี พนมยงค์, 2558)

ดังตัวอย่างที่วุฒิสมาชิกหญิงหัวเสรีนิยมก้าวหน้าชาวอเมริกัน Elizabeth Warren แห่งพรรคเดโมแครตจากรัฐแมสซาชูเซตส์ อดีตศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยสาธกอธิบายไว้ว่า :

“ไม่มีใครในประเทศนี้รวยขึ้นมาได้โดยลำพังตัวเอง ไม่มีเลยสักคน คุณสร้างโรงงานอยู่ที่โน่น ดีแล้วค่ะที่คุณทำได้ แต่ดิฉันขอบอกกล่าวให้ชัดเจนว่า คุณขนย้ายสินค้าของคุณไปตลาดบนถนนที่พวกเราที่เหลือออกค่าก่อสร้างให้ คุณจ้างคนงานที่พวกเราที่เหลือออกค่าเล่าเรียนให้ คุณปลอดภัยอยู่ในโรงงานของคุณก็เพราะกำลังตำรวจและพนักงานดับเพลิงที่พวกเราที่เหลือออกค่าใช้จ่ายให้ คุณไม่ต้องวิตกกังวลว่าแก๊งโจรเสือจรจะบุกมายึดทุกอย่างไปจากโรงงานของคุณ…เอาล่ะทีนี้ตั้งใจฟังนะคะ คุณสร้างโรงงานขึ้นมาโรงหนึ่งและมันก็กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือความคิดที่ยิ่งใหญ่ – โอเคเลยค่ะ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงโปรดประทานพรให้คุณ! เก็บมันไว้เป็นกอบเป็นกำเลย แต่ส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมที่เป็นฐานรองรับมันก็คือคุณเก็บมันไว้เป็นกอบเป็นกำส่วนหนึ่งแล้วจ่ายล่วงหน้าให้ไอ้หนูคนถัดไปที่จะทยอยมาด้วย”

(คำปราศรัยที่รัฐแมสซาชูเซตส์, กันยายน 2011, Oxford Essential Quotations, 2016)

 

ตกลงแล้วในสถานการณ์คับขันแหลมคมปวดร้าวเฉพาะหน้าหนึ่งๆ เราควรเลือกตัดสินใจอย่างไรในเรื่องสำคัญต่อชีวิตความเป็นความตายของเรา?

ยึดหลักการความเป็นเจ้าของตัวเอง (self-ownership) โดยสิทธิ์ขาดแล้วตัดสินใจทำไปตามใจตนเพียงลำพังด้วยแนวคิดปัจเจกนิยมเสรี หรือเปิดช่องขยับขยายพื้นที่ให้คนอื่น/สังคมได้มีสิทธิ์มีเสียงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นด้วยตามหลักการหนี้สังคม (dette sociale) โดยพันธะธรรมที่พึงมีต่อกัน?

คงไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จตายตัวล่วงหน้าว่าจะให้น้ำหนักแก่หลักทั้งสองมากน้อยเท่าไรโดยเปรียบเทียบในสถานการณ์ที่เป็นจริงหนึ่งๆ? หรือขีดเส้นแบ่งปักปันว่าสุดเขตสิทธิ์อำนาจของหลักการนี้เพียงแค่นี้ ที่เหลือเป็นสิทธิ์อำนาจของอีกหลักการหนึ่ง?

เท่าที่เราทำได้คือคำนึงถึงทั้งสองหลักการควบคู่กันไปเวลา ตัดสินใจเรื่องทำนองนี้ ในฐานะเครื่องมือการคิดที่ช่วยให้ชั่งตรองได้อย่างรอบด้านรัดกุม ไม่สุดโต่งสุดเหวี่ยงไปด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว

ดังที่ Zygmunt Bauman นักสังคมวิทยาและปรัชญาชาวโปแลนด์ (1925-2017) ผู้ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ริบสถานะพลเมืองและขับไสไล่ส่งไปลงเอยที่อังกฤษหลังวิกฤตการเมืองโปแลนด์ปี 1968 เคยเตือนว่า :

“สิ่งที่อุดมคติของสุโขนคร (a happy city หรือเมืองแห่งความสุข) เรียกร้องต้องการก็คือการตกลงประนีประนอมเพื่อหันเหหางเสือไปสู่ดุลยภาพอันแนบเนียนระหว่างโอกาสกับภยันตราย เพื่อหา ‘ข้อไกล่เกลี่ยตกลง’ ระหว่างข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน – หาใช่เพื่อหา ‘ทางแก้ไข’ แบบขุดรากถอนโคนไม่ อาการพะวักพะวนสองจิตสองใจก็คือจะเสียสละเสรีภาพแต่เพียงน้อยนิดและไม่มากกว่านั้นอย่างไรดี คือสละมันเท่าที่จำเป็นแก่การทำให้ความทุกข์ระทมที่เกิดจากความไม่แน่ใจพอจะเป็นที่ทนรับไหว – คือพอจะอยู่กับมันไปได้”

“อย่างไรก็ตาม ตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ บรรดาความเพ้อฝันและแผนพิมพ์เขียวส่วนใหญ่ของสุโขนครโน้มเอียงไปสู่การประจัญบานกันในท้ายที่สุดระหว่างคู่ตรงข้ามซึ่งจะอยู่รอดได้ก็แต่เมื่ออยู่ด้วยกันทั้งคู่เท่านั้น กล่าวคือ ไม่มีฝ่ายใดจะเอาตัวรอดจากความดับสูญของอีกฝ่ายได้ สิ่งเหล่านี้คล้องจองพ้องรับกับความเจ็บปวดรวดร้าวที่ลึกซึ้งที่สุดและเยียวยาได้น้อยที่สุดของชายหญิงสมัยใหม่ ผู้ถูกผูกมัดให้กวัดแกว่งไปมาระหว่างความโหยหาชุมชนกับความกลัวว่าตัวตนจะสูญสลายไป – เพื่อที่จะค้นพบครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเสรีภาพ ที่ปราศจากชุมชนหมายถึงความบ้าคลั่ง ขณะที่ชุมชนที่ปราศจากเสรีภาพหมายถึงความเป็นไพร่ข้า”

(Life in Fragments : Essays in Postmodern Morality, 1995, p. 127)

ใต้ภาพ

แผนภูมิเทียบเคียงฐานคิดปรัชญาของปัจเจกนิยมเสรีกับภราดรภาพนิยม