คุณสมบัติบางประการ ของเจ้าชายน้อยและองค์มจะตู้ด

แม้จะเกิดในตระกูลขุนนางมั่งคั่ง แต่ ซีโมน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (2441-2521) ก็เป็นสตรีหัวก้าวหน้าในยุคแรกๆ ที่เปิดเสรีให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือและไล่ล่าหาโอกาส เพราะทันทีที่ได้ประกาศนียบัตรจากโรงเรียนแห่งชาติ-เดอชาร์ตส์ในปี พ.ศ.2469 ตอนอายุ 28 และทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่ลิยงบ้านเกิด 2 ปี ซีโมนก็สมัครไปทำงานที่เขตอาณานิคมแห่งโพ้นทะเล

ซีโมนซึ่งการฝึกงานเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์สำนักศูนย์วิจัยศึกษากรุงฮานอยได้ 2 ปี เธอถูกตัวไปประจำที่ไซ่ง่อน แหล่งรวมตัวของพวกนักคิดนักเขียนยุคใหม่ที่หลากหลายสายพันธุ์(1)

ที่นี่เองที่ นางสาวเดอ แซ็งเต็กซูเปรี วัย 32 ปีเริ่มเขียนความเรียง (essai) เรื่องสั้น นวนิยายและบทกวี ที่จำนวนมากไม่เคยถูกนำไปตีพิมพ์!

กล่าวกันว่า ความผูกพันด้านการเขียนนั้น มาจากสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวที่เธอเทิดทูนในพรสวรรค์การประพันธ์ของเขา คนใช้สกุลร่วมกับเธอในฐานะน้องชายร่วมอุทร และเจ้าของผลงาน “Le Petit Prince-เจ้าชายน้อย” – อังตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exup?ry, 2443-2487)

แต่ซีโมนเหมือนจะกลับไปฮานอยและตีพิมพ์รวมเรื่องสั้น-บทกวีเล่มแรกในชื่อ M?t?ores ซึ่งเป็นปีเดียวกับเจ้าชายน้อยของอังตวนมีชีวิตในโลกวรรณกรรม (2486)

น่าแปลกที่งานของซีโมนกลับตีพิมพ์ในนามปากกาว่า ซีโมน เดอ เรเม็งส์ (Simone de Remens) แทนนามสกุลจริงที่เธอใช้ร่วมกับอังตวน

เกิดอะไรขึ้นฤๅ? ทำไมซีโมนจึงปฏิเสธนามสกุลซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการสิ่งพิมพ์อย่าง “เดอ แซ็งเต็กซูเปรี” เล่า?

เรื่องจริงก็คือ น้องชายอังตวนของเธอต่างหาก ไม่อนุญาตให้เธอร่วมใช้ “เดอ แซ็งเต็กซูเปรี” ร่วมกับเขาในสายอาชีพนักประพันธ์(2)

โดยก่อนหน้านั้น ซีโมนเคยตีพิมพ์ผลงานชิ้นหนึ่งลงในวารสารอาณานิคมชื่อ Gringoire และลงชื่อว่า S. de Saint-Exup?ry แลเป็นเหตุให้คนในแวดวงสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสเข้าใจผิดคิดไปว่าเป็นผลงานของอังตวนที่พวกเขารู้จัก

เมื่อเรื่องเข้าหูไปถึงแซ็งเต็กซูเปรี-น้องชาย ที่ทั้งขุ่นเคืองและหัวเสีย และตามมาด้วยเงื่อนไขอันไร้ทางเลือกหรือโต้แย้งต่อซีโมน ด้วยข้อห้ามไม่ให้เธอใช้สกุลเขา

ทว่า เมื่ออังตวนหายสาบสูญไปกับเครื่องบินที่เขาควบคุม ชีวิตทั้งหมดของซีโมนด้านวงวรรณกรรมก็จบสิ้นไปด้วยกัน

น่าสนใจว่า สายสัมพันระหว่างพี่น้องคู่นี้มีความรื่นรมย์เยี่ยงใด และเป็นไปดังที่ #antoinedesaintexupery.com เล่าไว้หรือไม่ว่า ซีโมนเป็นผู้หญิงแจ่มใส และเธอนี่เองที่ตั้งฉายาน้องชายว่า ราชาพระอาทิตย์ (Le Roi soleil) วลีที่คนในวงการพากันเรียกขาน

และหากอังตวนเองก็คงรักพี่สาวคนนี้ จากที่เขาเคยไปเยี่ยมเธอที่อินโดจีน (2477) เขาย่อมรับรู้ถึงความกระหายในการเขียนหนังสือของเธอ

แต่จาก Paul Webster หนึ่งในผู้เขียนอัตชีวประวัติ อังตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ที่ทำให้ทราบว่าอังตวนนั่นเองที่ไม่อนุญาตให้ซีโมนใช้ชื่อสกุลร่วมกับตน

เมื่อกลับไปฝรั่งเศสในวัย 56 ปีและเหรียญเกียรติคุณระดับชั้น “L?gion d”honneur” ในฐานะผู้อุทิศตนต่อรัฐบาลฝรั่งเศสแห่งโพ้นทะเล

ไม่มีอะไรติดค้างหรือชวนให้ครุ่นคิดสำหรับชีวิตซีโมน ในภาคอินโดจีนหรือกัมพูชาใต้ และในช่วงท้ายชีวิต ที่เธออุทิศตนไปกับการเผยแพร่ผลงานของน้องชายไปทั่วประเทศ

ซีโมนหนอ เธอช่างเหมือนอากาศที่แจ่มใส ตามคำบอกเล่าที่กล่าวไว้

แต่เมื่ออังตวนสาบสูญไปจากโลก มีเหตุปรากฏว่า มีสตรีอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ซีโมน ผู้เขียนหนังสือในนาม เดอ แซ็งเต็กซูเปรี เธอมีชื่อว่า มาดามก็องซูโล (Consuelo) เศรษฐีม่ายที่สมรสกับอังตวนในปี 2474

เมื่ออังตวนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในเวลาไม่นาน ภรรยาม่ายของเขาได้เขียน “เรื่องเล่าของนางกุหลาบ” (The Tale of Rose) แต่แล้วก็มีเหตุอันน่าประหลาด

ที่ทำให้ไม่แน่ใจว่า อะไรที่เป็นเหตุให้ The Tale of Rose ต้องอยู่ในภาวะหายไปจากโลกนี้ถึงครึ่งศตวรรษ! เมื่อต้นฉบับ “เรื่องเล่าดอกกุหลาบ” ของ มาดามเดอ แซ็งเต็กซูเปรี นี้ เกิดอันตรธานหายไป โดยนับตั้งแต่วันที่เธอเขียนบันทึกจนถึงวันเสียชีวิตไปนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว

“The Tale of Rose” จึงถูกค้นพบอย่างบังเอิญในห้องใต้หลังคา

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลงใจ (โดยส่วนตัวของฉันเองว่า) จะโดยวิถีกรรมของอังตวนที่บันดาล หรือมาดามแซ็งเต็กซูเปรีเองที่ตั้งใจ?

เมื่อต่อมามีการค้นพบหลักฐานลายมือเขียนของ อังตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ระหว่างเดือนเมษายน 2486-พฤษภาคม 2487 หรือก่อนที่เขาบินหายไปจากโลกนี้เพียง 2 เดือนถึงความสัมพันธ์แต่ฝ่ายเดียวที่เขามีต่อหญิงอื่นซึ่งไม่ใช่ภรรยา!

อังตวนตกหลุมหลงรักเจ้าหน้าที่ในกองทัพฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งเขาพบเธออัลจีเรีย และสตรีวัย 23 ปีคนนี้เองที่น่าจะเป็น “แม่นางกุหลาบผู้ยโส” ของอังตวนแต่ผู้เดียว

เธอผู้ทำให้เขาสยบยอมและปวดร้าวในความไม่สมหวัง จนกลายเป็นที่มาของ “เจ้าชายน้อย” ที่อังตวนใช้เป็นเครื่องมือบอกเล่าความรู้สึกโดดเดี่ยวของตน

เธอไม่เคยเรียกฉัน…ฉันซึ่งคลั่งไคล้เธออย่างมาก

โอ แม่ดอกกุหลาบงามดอกนั้นที่สอนบทเรียนให้นายแซ็งเต็กซูเปรี

แต่ย้อนไปในปี พ.ศ.2496 ปีที่ซีโมนเกษียณราชการที่ฮานอยนั้น พนมเปญกัมพูชา “เจ้าชายน้อย”(3) องค์แรกในสมเด็จนโรดมสีหนุราชกับพระชายาโมนิก ประสูติกาลนามนโรดม สีหมุนี ซึ่ง 2 ปีถัดมา พระบิดาของพระองค์ก็สละราชสมบัติเพื่อทำงานการเมือง และเป็นสถาปนิกผู้สถาปนาระบอบสังคมราชานิยม ผู้ลุ่มหลงภาพยนตร์ซึ่งถูกวิจารณ์ยุคต่อมาว่า เต็มไปด้วยจารีตแปลกๆ แบบสีหนุ

กระนั้น ก็จารีตแบบสีหนุนั่นแหละที่ทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในปี พ.ศ.2509

“Le Petit Prince du Peuple” หรือในชื่อเขมรว่า “ปรอเจียกุมาร” ถ่ายทำที่ปราสาทองกอร์กันดาลที่เขียนบท กำกับการแสดงและอำนวยการสร้างโดยจารีตแบบสีหนุ

และปีนี้เจ้าชายน้อยฯ (ของประชาราษฎร์) ภาพยนตร์ที่พระบาทมุนีนาถนโรดม สีหมุนีแสดงนำก็เวียนมาบรรจบครบรอบ 50 ปีพอดี

ทรงเป็นปรอเจียกุมาร-เจ้าชายน้อยผู้น่ารักในขณะพระชนม์ 13 พรรษา ที่ทรงด้วยรูปโฉมบอบบางเหมือนนักระบำปลายเท้า

และจริตในพระองค์ที่เดียงสา มีความชื่นชมปรีดาในเรื่องง่ายๆ เช่น ทรงพระสำราญในท่ามกลางประชาชนสามัญที่ยากไร้ รับฟังเรื่องราวของพวกเขาอย่างปลอบโยนและใส่ใจ

ที่สำคัญ คือ ทรงตรัสเป็นภาษาเขมรยาวๆ ตามบทสนทนากับประชาชน ซึ่งไม่พบในหมู่ราชนิกุลนโรดม เว้นเสียแต่จะเป็นนักการเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป “เจ้าชายน้อยฯ” องค์นั้นกับพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ยังคงมีบางอย่างที่ เหมือนกันในท่าประทับยืนและการเคลื่อนไหวที่เนิบช้า ทว่า นุ่มนวล เหมือนนักระบำปลายเท้าที่ทรงโปรด และจากรอยแย้มพระสรวลขณะยืนประทับชมการแสดงชัยยัมของชาวบ้าน

นั่นเกือบจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ที่พระองค์ทรงประทับยืนท่ามกลางประชาชน (ผู้ยากไร้) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในปัจจุบัน นับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติปี 2547

และนี่ความดีเด่นที่มีอยู่ในภาพยนตร์แบบสีหนุคิสต์ นั่นคือ การแสดงออกอย่างเดียงสาในทุกๆ สถานการณ์ของเจ้าชายน้อยองค์หนึ่ง ซึ่งปราศจากความกระหายในอำนาจ ที่แม้แต่เมื่อยืนต่อหน้าศัตรู ก็ทรงยินดีโน้มพระศอไปสังเวยคมดาบ

ก็คุณสมบัติในข้อนี้เองมิใช่หรือ? ที่ทำให้พระองค์อยู่ในท่ามกลางสถานะพ้นภัยจากหมู่ปัจจามิตร

ในชีวิตจริง ณ วังเขมรินทร์ที่ไม่มี “เนี้ยะตา-เทวดา-ผู้มีบุญญาธิการ” ไม่ช่วยเหลือเหมือนในหนัง แถมหันไปหันมา มีแต่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักพระราชวัง ที่ภักดีต่อแห่งพรรคซีพีพีเต็มไปหมด

ไม่มีใครเลยที่ใส่ใจและปกป้องพระองค์เหมือนในภาพยนตร์ ดังหลายๆ ฉากที่พระบิดาทรงกำกับถ่ายทำ ซึ่งมีแต่รอยแย้มสรวล น่าเอ็นดูใน “เปรี๊ยะองค์มจะตู้ด”(3)

และคุณสมบัติพิเศษของพระองค์ที่อาจพอบรรเทา

และในวันไร้สุขที่ต้องเป็นกษัตริย์

(1) อังเดร มาร์ลโรซ์ เคยให้การสนับสนุนกลุ่มปัญญาชนเคลื่อนไหวในไซ่ง่อน

(2) HA, Marie-Paule : French Women & the Empire: the case of Indochina, สนพ.อ๊อกซ์ฟอร์ด, น.211

(3) “เปรี๊ยะองค์มจะตู้ด” หรือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาเขมร แปลโดย Christophe Macquet-ศ. ด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีมหาวิทยาลัยพนมเปญ, SIPAR-สนพ./2546