จับตานโยบายการศึกษา เรื่องใหญ่ที่ถูกมองข้าม?

เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองเริ่มประกาศนโยบาย เดินสายหาเสียง ซึ่งเท่าที่ดู ส่วนใหญ่จะเน้นโยบายด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง แก้จนเป็นหลัก

ขณะที่นโยบายด้านการศึกษากลับถูกพูดถึงน้อย

ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่ใช่ตัวชูโรง ที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากนัก

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มองว่า เป้าหมายของคนที่เข้าผู้ที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้องเป็นหลัก เพราะทำให้ได้คะแนนเสียง ขณะที่นโยบายด้านการศึกษา ไม่สามารถทำคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้มากนัก

จึงเห็นได้ว่า นโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคจะไม่ค่อยมีความชัดเจน ส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายประชานิยม

ที่ชัดเจนคือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เน้นแจกของฟรี ทั้งเรียนฟรีถึงปริญญาตรี โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน ฟรีอินเตอน์เน็ต 1 ล้านโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงหมู่บ้าน ตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน โดยให้เงินหมู่บ้านหรือชุมชนละ 2 ล้าน เพื่อให้ทุกคนสามารถตั้งตัวได้มีเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น

ส่วนพรรคเพื่อไทย สะท้อนประชานิยม เช่น เงินตอบแทนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือนแล้ว สายอาชีพมีรายได้ คือการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าฝึกงานจริงตามสายอาชีพ ให้เรียนไปทำงานไปมีรายได้ตั้งแต่ 6,000 บาทขึ้นไป

การสนับสนุนสวัสดิการคนวัยเริ่มงาน ด้วยการอุดหนุนค่าอินเตอร์เน็ต รถเมล์ฟรี นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ผู้สูงอายุควรได้โอกาสเข้าอบรมฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ฟรีในสถาบันการศึกษาต่างอีกด้วย เป็นต้น แต่ก็มีจุดเด่นในเรื่องการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา

แม้แต่ก้าวไกล ก็ยังไม่โดดเด่น เน้นประชานิยม ทั้งเรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต การศึกษาที่ปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม ประกอบด้วย ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที ยกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัพเดตเหตุการณ์บ้านเมือง ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น ส่วนพรรคอื่นๆ ก็ไม่มีความแตกต่าง เรียกว่าเป็นรายละเอียดมากกว่านโยบาย

ดังนั้น ตอนนี้จึงอยากเห็นพรรคการเมืองประกาศนโยบายทางการศึกษาที่ไม่ใช่ประชานิยม เป็นนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศ ที่สำคัญอยากเห็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่สังคมโลกยุคใหม่ อยากฝากนักการเมืองให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แม้จะมีผลต่อคะแนนเสียงน้อย แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะการจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ต้องใช้นโยบายการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน

 

ขณะที่ตัวแทนสถานศึกษาเอกชน อย่างนายประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ในฐานะนายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) บอกชัดว่า หลายรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการศึกษา ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด

แต่งบฯ ที่ได้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนบุคลากร ส่วนงบฯ พัฒนาก็จะทุ่มลงไปที่สถานศึกษาของภาครัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงบฯ ซ่อมสร้างอาคารสถานที่ เงินอุดหนุนรายหัว และงบฯ พัฒนาในเรื่องอื่นๆ ถึงจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเอกชนที่เข้ามาช่วยรัฐจัดการศึกษา

แต่การอุดหนุนงบฯ พัฒนาต่างๆ กลับได้รับไม่เท่าเทียม อย่างเช่น งบฯ อุดหนุนรายหัว ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกร้องให้มีการอุดหนุน 100% เท่ากับสถานศึกษารัฐ ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะขอมาหลายปี ก็ยังไม่ได้รับ

ส่วนตัวไม่คาดหวังอะไรมากกับพรรคการเมือง เพราะพอเข้ามาเป็นรัฐบาลก็คงไม่ได้ตามที่ขอ แต่ก็อยากให้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญ ต่อสายอาชีวะ อยู่ที่ 50:50 หรือ 60:40 ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้

สาเหตุเพราะผู้กำหนดทิศทางการดำเนินการส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการ ดังนั้น ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับสถานศึกษารัฐก่อน ทำให้สถานศึกษาเอกชนไม่ได้รับภาคเป็นธรรมเท่าที่ควร

 

ปิดท้ายที่นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เห็นไม่ต่างกันว่า แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการศึกษาน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาทำยาก ต้องใช้เวลานาน

โดย 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายการศึกษาที่ทำให้ประเทศเสียเวลาอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกฎหมายการศึกษาที่ผลักดันไม่สำเร็จ เป็นตัวบ่งบอกว่า ถ้าไม่มีนโยบายที่ดี ไม่มีนโยบายที่เข้มแข็ง และไม่มีสภาราษฎรที่มุ่งมั่น จะทำให้ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ เท่าที่ดูนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค จืดชืด เป็นนโยบายหาเช้ากินค่ำ ไม่หนักแน่น ไม่มีทิศทาง เป็นนโยบายชั่วครั้ง ซึ่งชั่วคราว ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ยังไม่มีนโยบายไหนที่มุ่งประโยชน์แก่ผู้เรียน ส่วนใหญ่จะหาเสียงกับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น มีไม่กี่พรรคที่มีนโยบายการศึกษาที่ดูเข้าท่า สาเหตุที่พรรคการเมืองไม่นิยมนำนโยบายเรื่องการศึกษามาหาเสียง เพราะเป็นเรื่องยาก และการศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยมที่จะนำมาหาเสียงได้

ขณะที่แต่ละพรรคก็ไม่มีแกนหลักด้านการศึกษา ดังนั้น จึงประกาศนโยบายเรื่องนี้มาค่อนข้างน้อย ที่ประกาศมาส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเดิม ไม่พัฒนา ไม่มีอะไรที่เป็นความหวัง หรือทำให้การศึกษาของประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง

อยากเห็นความชัดเจนในการผลักดันการศึกษาจากรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่นำ 8 ปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เพื่อจัดทำนโยบายแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศ โดยจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องจะดำเนินการอย่างไร

เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ที่ยังค้างอยู่ในสภา จะเดินหน้าต่อ หรือจะปัดตกและทำใหม่, แนวทางการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ไปที่สถานศึกษา เป็นต้น

นอกจากนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องมองเป้าหมายของประเทศ คือ จะพัฒนาเด็กอย่างไรให้เป็นพลเมืองที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักสิทธิและหน้าที่ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และขอให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลวางคนที่จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ. และวางผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ดี โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจการศึกษา สามารถจัดการแก้ไขปัญหาการศึกษาได้

อย่าวางคนตามโควต้าการเมือง และให้ใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เหมือนที่ผ่านมา

เข้าใจว่า นาทีนี้ หลายพรรคคงมุ่งโชว์นโยบาย แก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก เพื่อดึงคะแนนเสียงจากคู่แข่งให้ได้มากที่สุด แต่หวังว่า เมื่อได้มาเป็นรัฐบาลแล้ว จะไม่มองข้ามการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจหลัก สร้างคนพัฒนาประเทศ… •

 

| การศึกษา