เยาวราช

พิชัย แก้ววิชิต

เยาวราช

 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นสำเพ็ง กับชุมชนชาวจีนที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้ว

คราวนี้ถึงแม้ไม่ใช่ภาคต่อ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้กับความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันอย่างเสียมิได้ ด้วยเพราะสำเพ็งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญมาโดยตลอด จนเมื่อมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนเยาวราชจึงถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการค้าขายของชาวจีนกับชาวต่างชาติ และรองรับกับความศิวิไลซ์ที่จะตามมา

“เยาวราชถนนสายมังกร” ถนนที่มีความยาวไม่เกิน 2 กิโลเมตรนี้ กับเรื่องราวของสามัญชนคนไม่ธรรมดาของชาวจีน ในย่านเยาวราช กับบทบาทที่ข้องเกี่ยวอยู่ด้วยในสังคมไทย

เยาวราชยังมีรสชาติอื่นอีกไม่ใช่แค่พียงรสชาติของอาหาร เยาวราชยังมีสิ่งอื่นอีกที่สะดุดตาสะดุดใจไม่แพ้เรื่องราวเงินๆ ทองๆ

เยาวราชยังมีภาพเรื่องราวอื่นๆ อีก ที่เรายังไม่เคยเห็น

 

“เยาวราชซ่อนเร้น” เจ้าพ่อ เจ้าสัว เจ้าสำนัก เรื่องเล่าที่ผมได้เดินไปตามถนนเยาวราช ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย เพื่อไปให้ถึงกับสถานที่จริง การชักชวนอีกครั้งของศูนย์ข้อมูลมติชน (Matichon information Center หรือ MIC)

กับทริปในครั้งนี้ ที่ได้รับเกียรติจากอาจารย์จิว (สมชาย แซ่จิว) หนึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องราววัฒนธรรมจีน ที่ได้นำเดินและบอกเล่าเรื่องราวของเยาวราชในอีกแง่มุมในความเป็นเยาวราช ที่ผมและคนอื่นๆ มีมาร่วมทริปอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เริ่มกันกับสถานที่ช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างมูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย ได้จดทะเบียนไว้เมื่อ พ.ศ.2474 โดยการร่วมมือกันของ “เจ้าสัว” จีนทุกกลุ่มภาษา

ด้านหลังมูลนิธิเป็นโรงพยาบาลเทียนฟ้า สถานพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาฟรีกับผู้ป่วยที่ขัดสนเงินทองโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

ซึ่งถ้าใครมีโอกาสไปเยาวราช ก็สามารถแวะไปร่วมทำกิจอันเป็นกุศลนี้ได้ตามสะดวก

ออกจากมูลนิธิเทียนฟ้า เดินมุ่งหน้าไปทางตรอกโพธิ์ ซึ่งเป็นย่านจีนจนเข้าไปสู่ “ถนนพาดสาย”

พาดสายคำนี้มาจากรถรางที่วิ่งผ่านจะมีไฟฟ้าพาดสายกับตัวรถราง

ถนนพาดสายมีตรอกที่มีชื่อว่า “ตรอกแขวนคอ” อยู่เยื้องกับร้านกาแฟเอี๊ยะแซ อาจารย์จิวเล่าให้ฟังว่า ข้างในตรอกมีต้นไทรที่มักจะมีคนมาผูกคอตายกันในตรอกนี้ด้วยความสิ้นหวังจากความล้มเหลวในชีวิต

จากนั้นไปกันต่อจนได้พบกับ “ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี่ยเยี้ย” สร้างขี้นในสมัยรัชกาลที่ 5

ใกล้ๆ กันยังมี “สมาคมฮากกา” ชั้นสามเป็นศาลเจ้ากวนอูที่มีม้าเซกเทาว์ ที่ใครมีลูกหลานที่ดื้อมักจะมาขอให้เป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่าย

เยาวราชถนนสายมังกร ถนนที่มีความยาวไม่เกิน 2 กิโลเมตรนี้ กับเรื่องราวของสามัญชนคนไม่ธรรมดาของชาวจีน ในย่านเยาวราช กับบทบาทที่ข้องเกี่ยวอยู่ด้วยในสังคมไทย / เทคนิค : F.8 1/1250 ISO 200 / สถานที่ : ถนนมังกร

ยังมีอีกหลายสถานสำคัญๆ ที่บนเส้นทางชีวิตของชาวจีนในย่านเยาวราช

ไม่ว่าจะเป็นโรงมหรสพขึ้นชื่ออย่าง “โรงงิ้วฮั่งจิว” “ศาลเจ๊สัวเนียม” ซึ่งเป็นเจ้าสัวในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นผู้สร้าง “ตลาดเจ๊สัวเนียม” หรือ “ตลาดเก่า”

เดินขยับมาอีกนิดจนได้พบกับ “วัดกันมาตุยาราม” ซึ่งเป็นวัดที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดย แม่กลีบ (กลีบ สาครวาสี) เจ้าสำนักหญิงงามเมือง ซึ่งเป็นลูกสาวของคุณยายแฟง ที่ได้สร้าง “วัดคณิกาผล” ไปแล้วก่อนหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3

และสองวัดที่ได้ถูกสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้หญิง ด้วยจำนวนเงินของเจ้าสำนักหญิงงามเมืองในย่านเยาวราชเมื่อครั้งอดีต

และกับสถานที่สุดท้ายการไปพบกับ “เจ้าพ่อ” ที่สถานีตำรวจพลับพลาชัย “ยี่กอฮง” ที่พึ่งในยามยากของใครต่อใครเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ในย่านเยาวราชเมื่อครั้งอดีต ที่แม้จะเสียชีวิตไปนานแล้ว

ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่พึ่งในทางโชคลาภของผู้คนขอให้ช่วยเหลือ ยี่กอฮง หรือ “เจ้าสัวฮง” ที่เป็นทั้งอั้งยี่ ยี่กอ นายอากรบ่อนหวย ทำหนังสือพิมพ์ ทำโรงสี และพ่อค้าเดินเรือกล และไม่ประสบผลในท้ายที่สุด

 

เรื่องราวของเส้นทางสายมังกร ต้นแต่ต้นทริป ยังมีเกร็ดความรู้อีกมากมายที่ผมไม่ได้เล่าและยากนักที่จะเล่าได้หมด ด้วยความจำและความยาวของบทความจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าพอสังเขป อาจมีข้อมูลตกหล่นไปบ้างผมคงต้องขออภัย ด้วยเพราะผมเองยังใหม่มากกับเรื่องราวเมื่อครั้งเก่าก่อน แต่ก็สนุกและตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เดินหน้าตามหาอดีตที่ยังซ่อนเร้น

ขอบคุณ MIC ที่ชวนมาเดินเล่น และแถมยังเลี้ยงกระเพาะปลาคาเธย์กันอีก ขอบคุณอาจารย์จิวที่นำเดินไปตามหาเยาวราชที่ซ่อนเร้น ขอบคุณพี่เอก (ฝ่ายศูนย์ข้อมูลมติชน) ที่ได้เล่าจนเห็นภาพความสำคัญของจิตรกรรมฝาฝนังในพระอุโบสถ ของวัดกันมาตุยาราม ของหายากในรัชกาลที่ 4

ขอบคุณเพื่อนร่วมทริปทุกๆ ท่าน ขอบคุณทุกๆ คนที่ตามอ่านจนถึงบรรทัดนี้

ขอบคุณมากมายครับ •

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต