“ฮิญาบ-นิกอบ-บูร์กินี” ภัยคุกคามหรือความรับรู้ผิดๆ?!

AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS

ต้องขอออกตัวก่อนว่าเรื่องที่จะเขียนถึงต่อไปนี้ตั้งอยู่บนความเคารพในทุกศาสนาและหลักคำสอนที่เป็นแนวทางในการยึดมั่นปฏิบัติตัวของผู้ที่เชื่อมั่นศรัทธาในศาสนานั้นๆ มิได้มีเจตนาที่จะลบหลู่ดูหมิ่น

เรื่องที่ว่าเป็นประเด็นที่กำลังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและมีการสะท้อนความเห็นออกมาในหลายแง่มุมต่อกรณีที่หลายเมืองของฝรั่งเศสออกมาตรการห้ามสตรีสวมใส่ “บูร์กินี” หรือชุดว่ายน้ำที่มีการออกแบบมาให้สตรีชาวมุสลิมได้สวมใส่ลงว่ายน้ำซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลาม

โดยเมืองนีซ เมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เป็นเมืองล่าสุดที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อกลางสัปดาห์ก่อน หลังจากเมืองคานส์ สถานที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก และเกาะคอร์ซิกา นำมาบังคับใช้ ที่ยังกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 38 ยูโร หรือประมาณ 1,500 บาท

มาตรการดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกและการแสดงทรรศนะไปต่างๆ นานาที่มีทั้งความงุนงง ไม่พอใจ โกรธเกรี้ยว ไปจนถึงขบขันเย้ยหยันประมาณว่าช่างคิดได้

และยังมีบางกลุ่มที่เห็นด้วย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง เช่น นายมานูเอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ที่ประกาศเดินหน้าจะให้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ โดยตัวเขาเองชี้ว่าชุดแต่งกายแบบบูร์กินีขัดแย้งกับค่านิยมของฝรั่งเศสและยังเป็นการยั่วยุที่ก่อความเสี่ยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศได้

นอกจากนี้ ยังมี มารี เลอ เปน หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติของฝรั่งเศสอีกคนที่เป็นหัวขบวนร่วมต่อต้านการใส่ชุดบูร์กินี ที่หลายคนยังเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการกดขี่ทางเพศ

ก่อนอื่นมาดูที่มาของชุดบูร์กินีกันว่าเป็นมาอย่างไร บูร์กินี เป็นชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวสำหรับผู้หญิงชาวมุสลิมเพื่อใส่ว่ายน้ำ เป็นฝีมือการริเริ่มออกแบบมาเมื่อกว่า 10 ปีก่อนของ อาฮีดา ซาเนตติ ดีไซเนอร์ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเลบานอน ซึ่งบอกว่าการดีไซน์ของเธอยึดตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามที่ให้ผู้หญิงแต่งกายมิดชิดเรียบร้อย

โดยชุดบูร์กินีจะปกปิดเรือนร่างของผู้สวมใส่ทั้งหมดยกเว้นมือ เท้า ใบหน้า และยังมีหมวกฮู้ดคลุมศีรษะ ซึ่งก็จะเหมือนกับฮิญาบและนิกอบ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมที่จะปกปิดเรือนร่างเกือบทั้งหมดตามข้อบัญญัติทางศาสนา

AFP PHOTO / SAEED KHAN
AFP PHOTO / SAEED KHAN

ส่วนการออกกฎห้ามใส่เครื่องแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมในลักษณะนี้ในหลายพื้นที่ของฝรั่งเศสมีขึ้นหลังจากฝรั่งเศสเผชิญเหตุโจมตีเลวร้ายถี่ขึ้นที่ถูกระบุว่ามีกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงอย่างกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) อยู่เบื้องหลัง เหตุโจมตีต่อเนื่องหลายจุดกลางกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และเหตุโจมตีครั้งล่าสุดที่คนร้ายใช้รถบรรทุกก่อเหตุพุ่งชนผู้คนไม่เลือกหน้าที่เมืองนีซ ขณะฝูงชนจำนวนมากออกมาฉลองวันชาติฝรั่งเศสกันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เฉพาะแค่ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้คนในสังคมต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาจากการกล่าวอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

นี่จึงเป็นที่มาของการบังคับใช้มาตรการนี้โดยที่ทางการฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลฝรั่งเศสงัดมาตรการเข้มงวดที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแต่งกายของชนมุสลิมออกมาใช้

จากข้อมูลของซีเอ็นเอ็นระบุว่า เมื่อเดือนเมษายนปี 2554 ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ประกาศห้ามสวมฮิญาบในที่สาธารณะ

และกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนด้วยการปรับเป็นเงิน 150 ยูโร หรือราว 6,000 บาท หรือให้ทำงานบริการสังคม ก่อนที่จะมีหลายชาติเอาอย่าง ใช้มาตรการทำนองเดียวกัน

เช่น ในเบลเยียมที่ออกกฎหมายห้ามสวมชุดคลุมปกปิดทั้งร่างกายมิดชิดในที่สาธารณะ และตอนนี้ในหลายประเทศก็มีการถกเถียงกันว่าควรจะออกกฎในลักษณะนี้มาบังคับใช้หรือไม่ เช่น ในเยอรมนีและอิตาลี

ยังมีปฏิกิริยาจากแวดวงสื่อมวลชนทั่วโลกที่พากันแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสมเหตุสมผลของการเลือกใช้มาตรการดังกล่าวในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากความรุนแรงหรือการก่อการร้ายจากกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งที่กำลังคุกคามความมั่นคงและความสงบสุขของโลกลำดับต้นๆ และการตั้งคำถามว่าการออกกฎแบบนี้เป็นการตีขลุมหรือคิดเข้าใจเหมารวมกันไปเองหรือไม่ ที่เห็นคนที่แตกต่างไปจากเรา จะกลายเป็นคนที่อยู่ตรงข้ามเรา

สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำในฟากฝั่งแอตแลนติกอย่าง นิวยอร์กไทม์ส พาดหัวข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแบบส่อเสียดว่า “ฝรั่งเศสชี้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงล่าสุดคือบูร์กินี”

 

ขณะที่ เดลีเทเลกราฟ สื่อแถวหน้าในอังกฤษ แม้จะแสดงความเข้าใจต่อความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ความมั่นคงปลอดภัยของทางการฝรั่งเศส แต่ก็ชี้ว่าไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นว่าการห้ามใส่บูร์กินีจะช่วยขัดขวางมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่งในฝรั่งเศสไม่ให้ก่อความรุนแรงได้

ที่มากไปกว่านั้น มาตรการดังกล่าวยังจะกลายเป็นการโดดเดี่ยวและจุดความไม่พอใจให้กับชนมุสลิมสายกลางที่ไม่ได้นิยมหรือมีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับความรุนแรงทั้งหลายแหล่

ในมุมมองของนักวิชาการด้านศาสนาและการเมืองอย่าง ซารา ซิลเวสตรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า กลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลเคด้าและไอเอสมักประสบความสำเร็จทุกครั้งที่ชาติตะวันตกตราหน้าหรือเลือกปฏิบัติกับชนมุสลิม และผลกระทบที่จะตามมาจากการบังคับใช้มาตรการหรือออกกฎหมายในลักษณะนี้จะยิ่งเป็นการทำให้ชนมุสลิมรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญหรือไม่ได้รับการต้อนรับให้เป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม นั่นอาจทำให้พวกเขาถอนตัวออกจากสังคมและอาจนำไปสู่การข้องแวะกับพวกหัวรุนแรงก็เป็นได้

ส่วน เนสรีน มาลิก คอลัมนิสต์จากเดอะ การ์เดียน ให้ความเห็นว่า นับแต่กระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลามถูกยกระดับขึ้น การออกกฎห้ามใส่ฮิญาบหรือชุดแต่งกายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนา ดูจะเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดสำหรับรัฐบาลในการแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับการก่อการร้าย หากแต่ไม่ได้มองลึกลงไปที่จะแก้ถึงรากเหง้าของปัญหา

ขณะที่ แพทริก ไซมอน ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้อพยพและชนกลุ่มน้อยจากสถาบันประชากรศึกษาในฝรั่งเศสมองว่า การถกเถียงกันเรื่องการใส่บูร์กินี กำลังกลายเป็นประเด็นที่มองกันว่าความเป็นชนกลุ่มน้อยกำลังเป็นปัญหามากกว่าที่จะมองถึงโครงสร้างทางสังคมของฝรั่งเศสว่านั่นแหละที่เป็นปัญหา

ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องมองให้รอบด้านทุกแง่มุม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิและคุกคามผู้อื่นโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ว่าจะต่อชนชาติไหน เชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด หรือชนชั้นวรรณะใดก็ตาม…