MATICHON X ไข่แมว 2023 : ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 51

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

MATICHON X ไข่แมว 2023 : ผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินการ์ตูนการเมืองสุดแสบสันต์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 51

 

ในตอนนี้เราขอพักเบรกเรื่องราวการตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปนกันสักตอน เพื่อเป็นการต้อนรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ในปี พ.ศ.2566 นี้

ด้วยความที่ในครานี้สำนักพิมพ์มติชน มีเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่สำหรับมิตรรักแฟนศิลปะและคอการ์ตูนการเมือง ด้วยแขกรับเชิญอย่าง “ไข่แมว” ศิลปินนักวาดการ์ตูน เจ้าของเพจการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ผู้ใช้การ์ตูน 4 ช่อง สร้างเรื่องราวล้อเลียน เสียดสี ตีแผ่สังคมการเมืองไทยด้วยไอเดียแหลมคม และอารมณ์ขันแบบเจ็บๆ คันๆ ที่สื่อสารด้วยตัวละครเพียงไม่กี่ตัว (แต่คุ้นหน้าเหลือเกิน) เกาะกระแสข่าวเด่นประเด็นร้อนทางสังคมการเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และโดนใจประชาชนชาวไทย จนมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเกือบครึ่งล้านคน

โดย ไข่แมว ผู้นี้ ถูกเชื้อเชิญให้มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบของคีย์วิช่วลให้กับสำนักพิมพ์มติชนนั่นเอง

เรามาทำความรู้จักกับตัวตนของศิลปินนักวาดการ์ตูนสุดแสบสันผู้นี้ไปพลางๆ ก่อนที่จะได้เจอกับผลงานของเขาในบูธสำนักพิมพ์มติชนกันเถอะ

“แรงบันดาลใจเริ่มต้นในการถือกำเนิด ไข่แมว เกิดจากช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหารใหม่ๆ รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจออกคําสั่งจับกุมตัวประชาชนไปปรับทัศนคติกันเยอะมาก ตอนนั้นถ้าใครโพสต์วิพากษ์วิจารณ์หรือแซะรัฐบาลเมื่อไหร่ ก็จะโดนสั่งจับตัวไปปรับทัศนคติทันที ก็เลยวาดเป็นการ์ตูนล้อเลียนเผด็จการออกมา”

“ตอนแรกก็วาดเล่นๆ วาดไปวาดมา คนเริ่มแชร์เยอะขึ้น ผมเลยคิดว่าทำเป็นเพจขึ้นมาดีกว่า ก็เลยเกิดเป็นเพจ ไข่แมว ขึ้นมา ที่ตั้งชื่อว่า ‘ไข่แมว’ ผมได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน ‘ไข่กวน’ (โดย ยุชิโต้ อุซุย ผู้วาดเครยอน ชินจัง) และความเป็นทาสแมวของผม”

“ผมเรียนจบศิลปะมา แล้วก็มาทำงานแอนิเมชั่น แต่จริงๆ ผมวาดรูปไม่ค่อยเก่งหรอก ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ค่อยวาดการ์ตูนเท่าไหร่ มาเริ่มวาดจริงจังก็ตอนทำเพจไข่แมวนี่แหละ ที่เลือกเขียนการ์ตูนเพราะคิดว่าเราน่าจะถนัด และการ์ตูนก็เป็นงานที่น่าจะสื่อสารกับคนได้มากกว่าสื่ออื่นๆ”

“ด้วยความที่การ์ตูนมีความเป็นแฟนตาซี เราสามารถจับประเด็น โน่น นี่ นั่น มาใส่ในการ์ตูนให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนๆ ในสังคมตอนนั้นๆ ว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น เราก็เอามาผสมกับสิ่งที่กำลังฮิตๆ ในช่วงเวลานั้นอย่างหนัง, เพลง, การ์ตูน สำหรับผม การวาดออกมาเป็นการ์ตูนในสไตล์ของเรานั้นง่ายกว่าการพิมพ์ออกมาเป็นตัวหนังสือ”

โดยปกติ การ์ตูนช่อง (comic strip) หรือการ์ตูนการเมืองที่เราเห็นในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้นมักจะเล่าเรื่องด้วยภาพกับคำพูดหรือคำบรรยาย แต่การ์ตูนของไข่แมวมักเล่าเรื่องราวผ่านภาพแต่เพียงเท่านั้น โดยแทบจะไม่มีคำพูดหรือคำบรรยายเลย หากใช้ตัวละครหรือสัญลักษณ์ในภาพบอกใบ้ให้ผู้ชมรับรู้ได้ทันที

แม้จะไม่มีคำบรรยายใดๆ เลยก็ตามที โดยไข่แมวกล่าวถึงเหตุผลที่เขาทำงานในลักษณะนี้ว่า

“ผมไม่ชอบใส่พวกคำบรรยายในการ์ตูนของผม ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องไปเลยดีกว่า แล้วก็ให้คนดูไปจินตนาการกันเอาเอง แต่งานของผมไม่ได้ยากขนาดให้คนต้องตีความ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจต้องตีความเยอะหน่อย แต่ช่วงหลังๆ งานของผมไม่จำเป็นต้องตีความอะไรมากแล้ว อยากจะด่าก็ด่าไปตรงๆ เลย เพียงแต่จะใช้การสื่อสารด้วยภาพแทน”

“เวลาวาดการ์ตูนผมต้องคิดมุขก่อน ถ้าคิดไม่ออกก็จะยังไม่วาด เพราะงานจะไม่จบ เพราะฉะนั้น ก่อนทำก็ต้องมีการวางแผนนิดหนึ่ง”

“สมมุติตอนนี้ข่าวหรือประเด็นในสังคมที่เราจะพูด เราก็ต้องนึกว่ามีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นกระแสในสังคม อย่างหนังเรื่องนี้กำลังเป็นที่นิยม เราสนุกกับมันอยู่ เราจะหยิบหนังเรื่องนี้มาเล่นดีไหม? แล้วจะวาดให้เข้ากับข่าวนี้อย่างไรดี? เวลาวาดก็ต้องมีการวางแผน เพื่อวาดให้เรื่องจบใน 4 ช่อง”

พอวาดการ์ตูนที่มีมุขตลกร้ายเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐอย่างแสบสันต์ จะแจ้ง ตรงใจคนจนเป็นที่โจษขานและแชร์กันไปเป็นวงกว้างเช่นนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าก่อนที่จะวาดการ์ตูนแบบนี้ออกมา เขามีความกลัวหรือลังเลก่อนที่จะวาดบ้างไหม ซึ่งไข่แมวตอบเราว่า

“จริงๆ ผมก็เล่นมุขในขอบเขตของผมนะ เท่าที่เล่นคือมุขล้อพวกเผด็จการ แต่ถ้าไปไกลหรือแรงกว่านั้นผมก็จะยังเอาไว้ เอาจริงๆ คือผมอยากเล่นมุขแรงๆ อยู่แล้วแหละ แต่ถ้าคนที่แชร์การ์ตูนของผมไปแล้วโดนแจ้งความคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือคดีอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้นจากโพสต์ของเรา ผมก็คงรู้สึกแย่”

“แต่ท้ายที่สุด ผมก็แค่อยากจะสื่อสารในสิ่งที่ผมคิดออกมา ถ้าแค่วาดการ์ตูนล้อเลียนแล้วจะผิดกฎหมาย ต้องโดนคดี โดนจับติดคุกก็ติดไป ช่างมัน แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีใครโดนแจ้งความจากการแชร์การ์ตูนของผมนะ เพราะผมไม่ได้วาดออกมาเป็นภาพเหมือนอะไรขนาดนั้น จริงๆ ผมก็เขียนด่าเผด็จการไปตรงๆ แหละ แต่เหมือนการตีความของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

“บางทีคนอ่านอาจจะตีความไปอีกแบบหนึ่ง ก็อาจจะมีช่องว่างทางกฎหมายบางอย่างที่ทำให้เรายังวาดการ์ตูนล้อเลียนได้ แต่ผมก็ไม่ได้ศึกษากฎหมายอะไรขนาดนั้นนะ ผมแค่มองว่าภาพที่ผมวาดล้อเลียนนั้นไม่ได้เหมือนเท่าไหร่ แต่ถ้าใครจะคิดว่าเหมือน ก็แล้วแต่วิจารณญาณของเขา”

โดยส่วนใหญ่ ศิลปินที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศที่อำนาจรัฐควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก มักจะมีความสามารถในการล้อเลียนเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ก่นด่าผู้มีอำนาจรัฐได้อย่างแนบเนียน จนผู้เป็นเป้าหมายแทบไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกด่าอยู่ ไม่แน่ว่าไข่แมวเองก็มีความสามารถแบบนี้เช่นเดียวกัน

“จริงๆ เขาอาจจะรู้ว่าเราด่านะ แต่เขาไม่ได้สนใจมากกว่า หรือเขาอาจจะไม่เห็น เพราะเขาไม่ได้ติดตาม ในกรณีเพจของผมนะ หรือเขามองว่าไม่ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอะไร ก็แค่วาดการ์ตูน จะไปทำอะไรเขาได้? ก็วาดไปสิ เขาไม่ได้สนใจ ผมมองว่าสิ่งที่ผมทำเป็นแค่การสื่อสารประเด็นเหล่านี้ให้ออกไปในวงกว้าง ให้คนที่เห็นได้ฉุกคิด ถ้าคนฉุกคิด ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเอง และอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ในที่สุด แต่คนจะคิด หรือทำหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง ผมก็แค่พยายามสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ได้มากที่สุดมากกว่า”

ความโดดเด่นเป็นเอกอีกประการในงานการ์ตูนของไข่แมว คือความไวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถหยิบเอาเรื่องเด่นประเด็นร้อนในสังคมการเมืองไทยมาวาดเป็นการ์ตูนได้อย่างฉับไวทันอกทันใจผู้ชมอย่างยิ่งจริงๆ อะไรจริง! ซึ่งไข่แมวกล่าวถึงที่มาของความไวเช่นนี้ของเขาว่า

“ผมก็ต้องติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ต้องเช็กข้อมูลและที่มาของข่าวนั้นให้ชัวร์ก่อนที่จะเอามาเล่น ไม่อย่างงั้นเราจะเงิบ ที่สำคัญ ผมทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะผมสามารถวาดการ์ตูนบนโทรศัทพ์มือถือได้ ไม่ต้องกลับมาวาดที่บ้านให้เสียเวลา”

มีใครบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า วิธีการแก้เผ็ดและลดทอนอำนาจของเผด็จการ และเป็นการเอาคืนเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนที่ถูกกดขี่ คือการทำให้เผด็จการกลายเป็นตัวตลก ไข่แมวแสดงความเห็นให้เราฟังว่า

“ก็ต้องดูว่าเผด็จการรู้สึกเจ็บแสบไหม เวลาที่ถูกทำให้เป็นตัวตลก ถูกคนขำ ผมว่าเผลอๆ เขาก็อาจจะไม่แคร์หรอกนะ ถ้าเราคิดเข้าข้างตัวเองว่าเขารู้สึกเจ็บแสบ ก็อาจเป็นได้ ในช่วงแรกๆ ที่เกิดรัฐประหารใหม่ๆ ทุกคนต่างอึดอัด อัดอั้นตันใจ เพราะถูกควบคุมอย่างหนัก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่เพดานสูงขึ้น ใครๆ ก็สามารถออกมาพูด ออกมาล้อเลียนได้”

“ตอนนั้นพอมีใครออกมาทำอะไรแบบนี้ขึ้นมาให้เขาได้สะใจบ้าง ก็เหมือนเป็นการปลดปล่อยในอีกรูปแบบหนึ่ง”

ท้ายสุด ไข่แมวกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์มติชนในครั้งนี้ว่า

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมงานกับมติชนในการจัดบูธให้เป็นสไตล์แบบไข่แมว ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน พอมติชนติดต่อมา ก็ตกลงรับทำโดยไม่ลังเล รู้สึกดีใจที่ได้เผยแพร่งานของตัวเองอยู่ในบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พอเด็กๆ ที่มางานหนังสือเดินผ่านบูธแล้วเขาอาจจะสนใจการ์ตูนของผม เขาอาจจะสะดุดว่ามีการ์ตูน แล้วจูงแม่ไปบูธนี้ ได้ไปเห็น ได้อ่านหนังสือดีๆ เริ่มซึมซับ มีโอกาสตื่นรู้เรื่องสังคมการเมือง”

“แต่จริงๆ เด็กสมัยนี้เขาฉลาด เขาคิดของเขาเองได้ เราไม่จำเป็นต้องสอนเขาเลย งานที่ออกแบบให้มติชนคราวนี้ ผมจับกลุ่มไปที่คนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดเด็กๆ วัยรุ่น ให้มาสนใจ เราเลยทำให้ภาพออกมาสนุก ไม่เคร่งเครียดเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองว่าหนังสือจะต้องซีเรียส จริงจัง ผมเลยทำงานออกมาให้ดูสดใส ผ่อนคลายขึ้น”

พบกับผลงานศิลปะการ์ตูนของไข่แมว ได้ในบูธ M 49 สำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21

ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน พ.ศ.2566 นี้ •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์