ในประเทศ / เบื้องหลัง 6+4 คำถาม ปุจฉา-วิสัชนา การเมือง มั่นใจ หรือ หวาดกลัว

ในประเทศ

บื้องหลัง 6+4 คำถาม ปุจฉา-วิสัชนา

การเมือง มั่นใจ หรือ หวาดกลัว

การตั้งชุดคำถามเกี่ยวกับการเมืองให้ประชาชนตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนมิถุนายน 4 คำถาม ครั้งล่าสุดอีก 6 คำถาม

4 คำถามเดิม ชุดแรก ประกอบด้วย ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

หากไม่ได้จะทำอย่างไร

การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไขและแก้ไขด้วยวิธีอะไร

สำหรับ 6 คำถาม ชุดสอง ได้แก่

วันนี้จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้า คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่า คสช. รัฐบาล นายกฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ

6 คำถามใหม่ของผู้นำรัฐบาลและ คสช. ยังคงเปิดให้ประชาชนตอบแสดงความเห็นได้ตามช่องทางเดียวกับ 4 คำถามเดิม

ผ่านศูนย์ดำรงธรรมทุกระดับและศูนย์บริการประชาชนทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยจะทำหน้าที่รวบรวมประมวลผลคำตอบในรอบทุก 10 วัน นับจากวันที่ 13 พฤศจิกายน เป็นต้นไป

โดยไม่มีกำหนดปิดรับ

สิ่งที่ตามมาหลังการจุดพลุ 6 คำถามใหม่ ก็เป็นเช่นเดียวกับ 4 คำถามเดิม เนื่องจากคำถามทั้ง 2 ชุด มีลักษณะต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ถึงแม้จะตั้งขึ้นคนละช่วงเวลาก็ตาม

เป็นคำถามเกี่ยวกับการเมือง การเลือกตั้ง พรรคการเมืองและ คสช. อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป

ไม่เพียง “วิธีการ” ที่เป็นปัญหา อย่างที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ “ไม่ใช่การสำรวจความคิดเห็นตามหลักสถิติที่เขาทำกัน” เนื้อหาที่บรรจุอยู่ภายใน 6+4 คำถาม

ยังแสดง “เจตนา” ของ “ผู้ถาม”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งเกี่ยวกับ 6 คำถามของผู้นำรัฐบาลและ คสช. ว่า

มีจุดมุ่งหมายเปิดเผย ไม่อ้อมค้อมอำพรางใดๆ คือ เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจออกไป แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ถึงแม้ในความเห็น นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จะมอง 6 คำถามว่าเป็นความพยายาม “โยนหินถามทาง”

ต้องการ “ชั่งน้ำหนัก” หาก คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อาจต้องการความแน่ใจ ว่าหาก “อยู่ต่อ” แล้วจะเป็นอย่างไร

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ แกนนำ นปช. มองทะลุไปอีกระดับว่า ทั้ง 6 คำถามไม่ใช่แค่โยนหินถามทาง แต่เป็นการ “หงายไพ่”

สอดคล้องกับ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. ที่ว่า เป็นการ “เปิดหน้า” เจ้าของคำถาม ให้รู้ว่าจะเล่นการเมือง

“ถึงไม่พูดตรงๆ ก็พออนุมานได้ว่าท่านน่าจะเล่นการเมืองต่อ ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดโออาสให้อยู่แล้ว ไม่ว่าลงเลือกตั้งหรือไม่ลงเลือกตั้ง ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้” นายถาวร ระบุ

เป็นทิศทางมุมมองคล้ายกับ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า

คำถามของนายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นการเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ปิดบัง ว่า คสช. จะพาตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างใกล้ชิด

ผ่านการตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่

ตรงนี้เอง ทำให้หลายคนหวนนึกเชื่อมโยงไปถึงการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม “พี่ใหญ่ คสช.” ส่งสัญญาณแบไต๋ออกมาก่อนหน้า 6 คำถาม

หากจำเป็น คสช. ก็ต้องตั้งพรรคการเมือง

ถามว่าทำไมผู้นำรัฐบาลและ คสช. ถึงต้องออกมา “หงายไพ่” 6 คำถาม บวกกับ 4 คำถามเดิมในช่วงนี้

มีการวิเคราะห์ไว้หลายเหตุผล

จำนวนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนรัฐบาล คสช. และจะให้คำตอบได้ตามที่ตนเองต้องการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าคำตอบถึงความจำเป็นในการมีพรรคการเมืองใหม่ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพ คำตอบถึงสิทธิของ คสช. ในการสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

คำตอบจากการเปรียบเทียบสถานการณ์ ประสิทธิภาพการทำงาน การมีธรรมาภิบาล ระหว่างรัฐบาลชุดปัจจุบันกับรัฐบาลในอดีต รวมถึงการตำหนิพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลด้วยข้อมูลบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางคนวิเคราะห์สวนทางว่า คำถาม 6+4 ข้อ ไม่ได้แสดงถึงความมั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

แต่น่าจะเป็นในทางตรงกันข้ามมากกว่า

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เริ่มมีความไม่มั่นใจว่าการ “อยู่ต่อ” ในอำนาจหลังการเลือกตั้ง จะมีสภาพอย่างไร

ยังเป็นการสะท้อนถึงความวิตกกังวลว่า คสช. ไม่มั่นใจในอนาคตทางการเมือง เนื่องจากคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช. ลดต่ำลงมาก ในช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแม็ป

จนไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่า หลังการเลือกตั้ง ประชาชนยังยินดีต้อนรับการกลับมาเป็นรัฐบาลต่ออีกสมัยหรือไม่

ทั้งยังบ่งชี้ความลังเล ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ตนเองทำมาตลอด 3-4 ปี ตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจ ยกร่าง-ทำประชามติ-ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

จะบรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่วางไว้

เนื่องจากผ่านมากว่า 3 ปี ก็ยังไม่สามารถทำลายพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างราบคาบ ยิ่งไปกว่านั้นพรรคดังกล่าวยังมีแนวโน้มว่าจะ “ฟื้นคืนชีพ” ขึ้นมาได้อีกครั้งหากปล่อยให้มีการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการ “โยนหินถามทาง” “หงายไพ่” หรือ “เปิดหน้าเล่น”

สิ่งที่อยู่เบื้อง 6 คำถามก็จึงเป็นความ “หวั่นไหว”

ไม่มั่นใจว่าจะ “เสียของ” หรือไม่

เป็นเรื่องต้องเฝ้าติดตามต่อไป

ว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือตอบคำถาม 6+4 ข้อมากน้อยเพียงใด แต่ถึงที่สุดแล้ว เรื่องของจำนวนก็ไม่สำคัญไปกว่าวิธีการได้มาซึ่งคำตอบว่ามีความแม่นยำ น่าเชื่อถือขนาดไหน

ในขณะที่ “การเลือกตั้ง” เครื่องมือสอบถามความเห็นทางการเมืองของประชาชน ที่มีประสิทธิภาพ ในการได้มาซึ่งคำตอบเที่ยงตรง แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากที่สุด กลับถูกกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม

ทำให้ “ด้อยค่า” ลงไป อย่างน่าเสียดาย