รมว.สุชาติ ส่ง เลขาฯ สปส. ประชุม SSA เจรจาข้อตกลงด้านการประกันสังคมไทย – ญี่ปุ่น มุ่งดูแลสิทธิผู้ประกันตน

รมว.สุชาติ ส่ง เลขาฯ สปส. ประชุม SSA เจรจาข้อตกลงด้านการประกันสังคมไทย – ญี่ปุ่น มุ่งดูแลสิทธิผู้ประกันตน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นหัวหน้าคณะเจรจาการจัดทำข้อตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมเจรจาความตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความต่อเนื่องของความเป็นผู้ประกันตนระหว่างผู้ประกันตนของประเทศญี่ปุ่นกับผู้ประกันตนของประเทศไทย กรณีที่ผู้ประกันตนไปทำงานที่ประเทศไทยและผู้ประกันตนที่ไปทำงานประเทศญี่ปุ่นสามารถนับระยะเวลาต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสิทธิ์การคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญให้กับผู้ประกันตนของประเทศไทยในขณะเดียวกันเพื่อเป็นสิทธิ์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญให้กับผู้ประกันตนประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยจะได้ดำเนินการในรายละเอียดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตามข้อตกลงดังกล่าว

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการเจรจาความตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีประเด็นในการเจรจาหารือทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ ขอบเขตการบังคับใช้ การนับรวมเวลาการประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อให้เกิดสิทธิบำนาญ คำจำกัดความของสมาชิกครอบครัวและผู้อยู่ในอุปการะซึ่งเป็นผู้มีสิทธิสืบเนื่องจากบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับหรือเคยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายประเทศคู่สัญญา วิธีการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประกันตนและผู้มีสิทธิสืบเนื่องจากผู้ประกันตน และวิธีการติดตามทายาทและผู้มีสิทธิที่อยู่ในต่างประเทศ วิธีการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนข้ามประเทศ การยกเว้นไม่บังคับใช้ SSA กับลูกจ้างที่ทำงานบนเรือเดินทะเลหรืออากาศยาน วิธีการคำนวณเงินบำนาญที่ได้รับตามผล SSA วิธีการขอและยื่นใช้ใบรับรองสถานะการประกันตนในประเทศต้นทาง รวมทั้งภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน การให้บริการ และการรับ/ส่งเอกสาร

“ผลจากการประชุมครั้งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกันตนและกองทุนประกันสังคมทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการลดภาระการจ่ายเงินสมทบซ้ำซ้อนของสองประเทศสำหรับลูกจ้างที่นายจ้างส่งไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สาขาในต่างประเทศ และการนับรวมระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบเพื่อก่อให้เกิดสิทธิรับบำนาญกรณีชราภาพตามสัดส่วนในการจ่ายเงินสมทบของแต่ละประเทศต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าวทิ้งท้าย