กองทัพผลัดใบ จากแผง ตท.22 สู่เงื้อมมือ ตท.23 เดิมพันเก้าอี้นายกฯ เดิมพันเก้าอี้ผบ.ทบ.

กองทัพผลัดใบ กลางการเมืองร้อน จากแผง ตท.22 สู่เงื้อมมือ ตท.23 เดิมพัน เก้าอี้นายกฯ เดิมพัน เก้าอี้ ผบ.ทบ.

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทำงานการเมืองเต็มตัวแล้ว หลังจากเข้าไปนั่งทำงานที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค หรือโปลิตบูโร

ทั้งการลาราชการ สวมเสื้อพรรคไปประชุม และร่วมกิจกรรมพรรค ในการสวมเสื้อพรรคให้สมาชิกใหม่ แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่

หลังจากมีข่าวสะพัดว่า เปลี่ยนใจ ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเท่านั้น ไม่ต้องการทำหน้าที่ ส.ส. หลัง พล.อ.ประยุทธ์บอกกับแกนนำพรรคว่า “ถ้าเลือกตั้งชนะ ก็ทำต่อ แต่ถ้าแพ้ ผมก็กลับบ้าน ส่วนพวกคุณ ก็ทำกันต่อไป”

เพราะหากเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็จะต้องเข้าสภาในฐานะฝ่ายค้าน ดังนั้น จึงไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยอมเป็นฝ่ายค้าน จึงทำให้เดาใจกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี แกนนำพรรค จะอยากให้เป็นนักการเมืองเต็มตัว ประชาธิปไตยเต็มใบก็ตาม

แต่ในเมื่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติมาถึงขนาดนี้ ทุ่มสุดตัวขนาดนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จึงยืนกรานว่า พรรค รทสช.จะไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เพราะมีคนที่จะมาสานต่อ

 

แน่นอนว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ แต่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ โดยยอมให้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. เป็นนายกฯ เพื่อฝ่าด่าน 250 ส.ว. และเป็นตัวเชื่อมกับกองทัพ ในฐานะพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ นัยว่าจะเป็นคนถอดสลักรัฐประหาร

แต่อย่างไรก็ตาม กำลังเป็นที่จับตามองว่าโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารมี 2 ช่วง คือ หลังการเลือกตั้ง และกำลังจัดตั้งรัฐบาล หานายกฯ หากยืดเยื้อ และมีความวุ่นวาย จนมีการประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง หรือการตัดสินของ กกต.

ในขณะนั้น จะเป็นช่วงที่ ผบ.เหล่าทัพในชุดปัจจุบันคงยังอยู่ในตำแหน่ง จนกว่าจะเกษียณ 30 กันยายน 2566 โดย ผบ.เหล่าทัพล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ด้วยกันหมด

ทั้งบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่นั่งมา 3 ปี บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. รวมทั้ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่กำลังนับถอยหลังเกษียณ

แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์บ้านเมือง ณ เวลานั้นจะเป็นเช่นไร หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นรัฐบาลไม่ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย

แม้จะเป็นที่รู้กันว่าหากพรรคเพื่อไทยจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังใช้ พล.อ.ประวิตรในการทลายกำแพง 250 ส.ว. และป้องกันการถูกรัฐประหารก็ตาม แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดที่จะยืนยันว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก

แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะยืนกรานเช่นเดิม เมื่อถูกถามเรื่องโอกาสในการปฏิวัติรัฐประหาร หากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง เปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐบาล

“ไปสวดมนต์ไหว้พระ นอนหลับ พักผ่อน อย่าไปคิดแต่เรื่องการเมือง หรือการปฏิวัติรัฐประหาร” พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่ให้ความสนใจกับกระแสความหวาดหวั่น รัฐประหาร

โดยเฉพาะเมื่อมีการเชื่อมโยงกับแผงอำนาจที่แบ็กอัพ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพ และเคยอยู่ในทฤษฎีสมคบคิด จนทำให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. มาแล้ว

เพราะบรรดากองหลัง กองเชียร์ กองหนุนของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังอยู่ครบ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่กันไป

ขาดแค่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกเป็นไอดอล เพราะเมตตาผม และอบรมสั่งสอนผมมาเยอะ ผมได้ไปขออนุญาตท่านแล้ว แม้ท่านจะไม่อยู่แล้ว ว่าขอให้ผมทำให้สำเร็จ เหมือนยุคโชติช่วงชัชวาล

จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มอนุรักษนิยมยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่เสื่อมคลาย จึงอาจเป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐต้องมีการเสริมภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตรว่าเป็นอดีตนายทหารเสือราชินี ผู้จงรักภักดี เทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ก็อยู่หน่วยทหารเสือฯ มาด้วยกัน

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ.

แต่หากสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังการเลือกตั้งผ่านเลยไปได้ถึง 1 ตุลาคม 2566 รัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะได้เจอกับ ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ ที่เปลี่ยนใหม่ยกแผง แทนคนที่เกษียณ

แม้ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นช่วงที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปลายปีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลใหม่ นายกฯ คนใหม่ หรือ รมว.กลาโหมคนใหม่จะแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ได้

โดยเฉพาะ ผบ.ทบ.ที่มีแคนดิเดตอยู่แค่ 2 คน และต้องเป็นนายทหารคอแดง จาก ฉก.ทม.รอ.904 ระหว่างบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 23 มาด้วยกัน

พล.อ.เจริญชัยเติบโตมาจาก ร.21 รอ. เป็นทหารเสือราชินี เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน พล.อ.สุขสรรค์ เป็นสายบูรพาพยัคฆ์ที่เติบโตมาจาก ร.12 รอ. และถือเป็นทหารในสาย 3 ป. มาด้วยกัน

แต่เมื่อมาเป็นทหารคอแดงแล้ว ก็ไม่ใช่สายตรงของคนใดใน 3 ป. แต่เป็นทหารของพระราชา และทหารของประชาชน ตามม็อตโต้ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ระบุมาตลอด

ดังนั้น การเลือก ผบ.ทบ.จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลใหม่ รมว.กลาโหมคนใหม่ หรือนายกฯ คนใหม่ แต่อยู่ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่เป็นทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และแผงหลังของ พล.อ.ณรงค์พันธ์นั่นเอง

ดังนั้น ระหว่าง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์ คนใดคนหนึ่งจะได้เป็น ผบ.ทบ. ส่วนอีกคนมีแนวโน้มที่จะข้ามไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ด้วยเพราะมีข่าวสะพัดในแวดวงเตรียมทหาร 23 ว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่หลัง 1 ตุลาคมนี้อาจจะเป็นเตรียมทหาร 23 ยกแผงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพไทย

เพราะหาก พล.อ.สุขสรรค์ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็คาดว่า พล.อ.เจริญชัยจะได้ข้ามไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะอาวุโส ครองอัตราพลเอกพิเศษมาแล้ว

เพราะหากต้องไปเทียบกับบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รุ่นน้องเตรียมทหาร 24 หรือบิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร ตท.24 ที่ครองอัตราพลเอกพิเศษเช่นกัน

จากที่ พล.อ.ทรงวิทย์ และ พล.อ.ธิติชัย เพื่อนเตรียมทหาร 24 ด้วยกัน จะชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกันเอง แต่ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะชิงกับรุ่นพี่เตรียมทหาร 23 อย่าง พล.อ.เจริญชัยด้วย

ในทางกลับกันหาก พล.อ.เจริญชัยได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คอแดง คนที่ 3 พล.อ.สุขสรรค์ก็จะข้ามไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

แต่ก็อาจจะเสียเปรียบ พล.อ.ทรงวิทย์และ พล.อ.ธิติชัย รุ่นน้อง ตท.24 เรื่องอาวุโส เพราะยังเป็นพลเอก ยังไม่ได้เป็นพลเอกพิเศษ

ดังนั้น จึงให้รอดูพลังของเตรียมทหารรุ่น 23 รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะเป็นใจให้ต้องมีการผนึกเป็นแผงอำนาจเตรียมทหารรุ่น 23 คุมกองทัพหรือไม่

ในส่วนของกองทัพเรือ ก็มีแคนดิเดต ผบ.ทร. ที่เป็นเตรียมทหารรุ่น 23 ถึง 2 คน คือ เสธ.โอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ และบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

แต่ก็ต้องชิงกับ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ทร. เตรียมทหาร 25 แต่ทว่าอาวุโสกว่า เพราะติดยศพลเรือโทและพลเรือเอกก่อน

ขณะที่กองทัพอากาศเตรียมทหารรุ่น 23 เป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.มากถึง 3 คน ทั้งบิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. บิ๊กจ๋า พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้ช่วย ผบ.ทอ. และบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสนาธิการทหารอากาศ

จากเดิมที่เชื่อกันว่าบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ.คนก่อนวางตัว พล.อ.อ.ณรงค์ น้องรักเอาไว้ก็ตาม แต่กระแสข่าวในกองทัพอากาศ ณ เวลานี้ กลับโฟกัสไปที่ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ สะกิดนักข่าวให้จับตามอง

ท่ามกลางกระแสข่าว ความห่างเหินทางใจระหว่าง พล.อ.อ.อลงกรณ์ กับ พล.อ.อ.ณรงค์

แม้ว่าลูกทัพฟ้าจำนวนไม่น้อยที่เอาใจช่วย พล.อ.อ.ชานนท์ แคนดิเดตอีกคนที่ถือว่ามีความสามารถสูง แต่เพราะแค่ถูกตีตราว่าเป็นน้องรักของบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. หลังเกิดตำนานทุ่งดอนเมืองแตกร้าวต่อเนื่องมาตั้งแต่ พล.อ.อ.มานัต รุ่นพี่ ตท.20 เกษียณ แต่กลับมีเรื่องขัดแย้งขัดใจกับบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ที่ตั้งมาเอง ต่อเนื่องมาจนถึง พล.อ.อ.นภาเดช ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 21 ของ พล.อ.อ.แอร์บูล

แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะ พล.อ.อ.อลงกรณ์มีความเป็นตัวของตัวเองไม่น้อย และจากการที่ พล.อ.อ.ชานนท์ไม่ได้ถูกเด้งออกนอกกองทัพอากาศในการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อตุลาคม 2565 ก็สะท้อนถึงคอนเน็กชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระหว่าง พล.อ.อ.อลงกรณ์ กับกลุ่มต่างๆ ที่สนิทสนมกับ พล.อ.อ.มานัต เพราะหลายโครงการที่ริเริ่มในยุค พล.อ.อ.มานัตก็ได้เดินหน้าต่อ

 

ดังนั้น ทางเตรียมทหาร 23 เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพยกแผงทั้ง 4 คน ก็จะทำให้เป็นแผงอำนาจที่แข็งแกร่งเพราะล้วนเป็นเพื่อนรักกันมา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็น่าจับตามองว่า หากเป็นรุ่นเดียวกันทั้งหมดจะคุยกันง่าย หากคิดก่อการใด

จึงไม่แปลกที่หากคอการเมืองมองข้ามช็อตไปถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และการแต่งตั้งโยกย้ายทหารครั้งใหญ่ก็อาจจะเกิดความหวาดหวั่น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ขึ้นอีก โดยเฉพาะหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและเดินหน้าในการพานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศ โดยละเลยต่อกระบวนการยุติธรรม

แม้จะมี พล.อ.ประวิตรร่วมรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรี เสมือนเป็นตัวประกันฝ่ายทหาร มีน้องๆ ในกองทัพและในสังกัดก็ตาม แต่ก็ไม่อาจจะรับประกันได้ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น

แม้ว่าจะเป็นที่รับรู้กันว่าหลังยุคเปลี่ยนผ่าน มีสัญญาณบางอย่างที่ตีความได้ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นง่ายดายเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว ประกอบกับการปรับโครงสร้างใหม่ของกองทัพบก การย้ายโอนหน่วยคุมกำลังรบหลักที่เคยถูกเรียกว่าเป็นหน่วยปฏิวัติ ไม่ได้ขึ้นตรงอยู่กับกองทัพบกอีกต่อไปก็ตาม