เก๋ากี้ -โกจิเบอร์รี่ กับความดังตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ในฐานะยาเทวดา

เก๋ากี้…แดงเด่นเป็นสง่า ด้วยคุณค่าที่หลากหลาย

เก๋ากี้…เก๋ากี่…หรือเก๋าคี่…ล้วนเป็นชื่อเรียกเม็ดสีแดงๆ เล็กๆ เรียวๆ ที่เรามักเคี้ยวเจอในอาหารบำรุงกำลังและยาแผนโบราณจากแผ่นดินจีน ซึ่งชวนให้เชื่อกันว่า แม้จะมีขนาดแสนจิ๋ว แต่ก็แจ๋วด้วยพละกำลังที่จะสรรค์สร้างสรรพคุณอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

เม็ดเก๋ากี้ที่เราพบเห็นกันตามตำราทั้งอาหารและยาจีนนั้น เป็นเม็ดสีแดงแห้งๆ ซึ่งโดยมากจะนิยมทำตัวปะปนผสมให้กลมกลืนไปกับวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้หากไม่สังเกตสังกามากนัก บางครั้งก็อาจจะเผลอรับประทานไปโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้

ซึ่งหากจะกล่าวกันถึงชาติตระกูลของเก๋ากี้แล้ว เจ้าเม็ดเล็กๆ นี้จัดอยู่ในจำพวกผลไม้ ซึ่งก็เป็นผลไม้ที่มีลักษณะตรงตัวละม้ายคล้ายกับเก๋ากี้ที่เราเห็นตามจานอาหารนั่นเอง

โดยเป็นผลไม้ผลเล็กที่มีสีแดงบาดตา โฉมหน้าเป็นทรงยาวรี มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย ติดสอยห้อยอยู่กับขั้วสีเขียวที่เรียงตัวกันตามกิ่งของต้น หากมองดูใกล้ๆ หรือใช้แว่นขยายส่อง ก็อาจจะเผลอนึกไปได้ว่า เก๋ากี้นั้น มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นญาติพี่ญาติน้องกับพริกแดงและมะเขือผลเล็ก ด้วยรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันอยู่พอควร

เก๋ากี้ไม่เพียงแต่จะมีชื่อเรียกตามธรรมเนียมจีนกลางว่า โก๋วฉี่ หรือโก๋วฉี่จึ แต่ยังมีชื่ออันเก๋ไก๋ไฉไลในภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยเป็นชื่อที่ตั้งตามตระกูลภูมิพันธุ์ของเก๋ากี้ที่อยู่ในวงศ์วานว่านเครือของผลไม้ประเภทเบอร์รี่ว่า วูล์ฟเบอร์รี่ หรือโกจิเบอร์รี่

ซึ่งชื่อหลังก็กำลังเป็นที่โด่งดังในท้องตลาดบ้านเรา เนื่องจากมีผู้เข้าถึงคุณงามความชอบของเก๋ากี้ จนนำมาเติมแต้มแต่งปรุงเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จากนั้น ก็ปะป้ายชื่อแบบทันสมัยว่าโกจิเบอร์รี่เข้าไป นำมาใช้สร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้ไม่น้อย

จึงไม่น่าแปลกอะไรหากวัยรุ่นยุคใหม่จะไม่รู้จักเก๋ากี้ แต่มีปฏิสัมพันธ์กับโกจิเบอร์รี่แทน

อันว่าชื่อโกจิเบอร์รี่นั้น น่าจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อคราวที่โก๋วฉี่หรือเก๋ากี้เริ่มออกท่องยุทธภพนอกเหนืออาณาเขตของกำแพงเมืองจีน เข้าสู่ตลาดโลกในฐานะประเภทหนึ่งของเบอร์รี่ที่นำมาใช้แปรรูปกับผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าสมุนไพรที่ใช้กันแบบดั้งเดิม

แต่ครั้นจะให้ฝรั่งมังค่าเรียกชื่อว่า โก๋วฉี่ กันไปมา ก็ดูท่าจะไม่คล่องปากนัก เลยผันเสียงเลียนไปมาจากโก๋วฉี่เป็นโกจิ บวกเบอร์รี่ไปในที่สุด

เก๋ากี้มีพื้นเพถิ่นกำเนิดมาจากเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยหนิงเซี่ยเป็นชื่อเรียกเขตที่มีสถานะเสมอเหมือนมณฑล ส่วนหุยคือชื่อเรียกชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวมุสลิมส่วนหนึ่งของจีน คะเนกันว่า หนิงเซี่ยมีพื้นที่การเพาะปลูกเก๋ากี้ที่กว้างใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศและปลูกกันมายาวนานกว่า 600 ปีแล้ว

ส่วนเก๋ากี้ที่มีภูมิลำเนานอกหนิงเซี่ยนั้น ก็จะเป็นเก๋ากี้ที่ปลูกกันทางภาคเหนือและพื้นที่อื่นๆ เรียกรวมๆ กันว่า จงหัวโก๋วฉี่ หมายถึงเก๋ากี้จีนทั่วไป นอกจากนี้ ก็ยังมีให้พบได้ประปรายในญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ และบางประเทศแถบยุโรปเช่นกัน

ชื่อของเก๋ากี้เป็นที่รู้จักกันเป็นครั้งแรกๆ เมื่อราวสองพันกว่าปีก่อน ในฐานะประเภทหนึ่งของวัตถุดิบสำหรับประกอบการทำยาแผนโบราณ ขึ้นเองเป็นผลไม้ป่า ก่อนจะเริ่มสรรหามาปลูกกันเป็นไร่ให้เป็นเรื่องเป็นราวในกาลต่อมา

เล่ากันว่า ความดังของเก๋ากี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อครั้งพันกว่าปีก่อน ตอนที่มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งเดินทางค้าขายไปตามเส้นทางสายไหม จนมาแวะค้างอ้างแรมที่โรงเตี๊ยมกลางทาง พบเจอสตรีนางหนึ่งกำลังว่ากล่าวและตีชายชรา จึงรุดเข้าไปถามหาสาเหตุว่าเพราะอันใด จึงได้กล้าต่อว่าผู้อาวุโสกว่า แต่กาลกลับตาลปัตรเป็นว่า สตรีที่เห็นนั้น มีอายุได้ 200 กว่าปีแล้ว กำลังดุว่าหลานชายของตนที่ทำตัวนอกกรอบด้วยการไม่ยอมรับประทานยาสมุนไพร จนเป็นเหตุให้แก่ชราหูตาฝ้าฟางไปตามวัย

พ่อค้าดังกล่าวได้ยินเช่นนั้น ก็ตะลึงงันกันไปอยู่ชั่วเพลา จนได้สติคืนมา ก็รีบถามหาเคล็ดวิชาที่ทำให้อายุยืนยาวสาวสะพรั่งปานนี้

ถามไถ่ไปมาจึงได้ทราบว่า สตรีนางดังกล่าวรับประทานเก๋ากี้อยู่เป็นประจำ นับแต่นั้นมา เก๋ากี้จึงแพร่หลายเข้าสู่ภาคอื่นๆ ของจีนด้วยฐานะยาเทวดา

สำหรับผลเก๋ากี้ที่จะนำมาใช้ทำยา หรือที่ต่อมาได้ผันตัวเข้าสู่แวดวงอาหารด้วยนั้น เป็นผลเบอร์รี่ที่ต้องเก็บตอนสุกจนมีสีแดงจัด แล้วรีบนำมาวางบนลำอ้อย ผึ่งในที่เย็นจนผิวของผลไม้ยับย่น ก่อนจะนำไปตากแดดให้ความชุ่มชื้นออกมาจนผิวเปลือกค่อนข้างแข็งแต่เนื้อด้านในยังนิ่มอยู่ แล้วจึงนำไปตากแห้งอีกที

กลายมาเป็นเก๋ากี้ที่เราชินตา

เก๋ากี้มีสรรพคุณทางยามาเนิ่นนานจนเป็นที่ยอมรับกันทั้งในและนอกจีน กระทรวงสาธารณสุขจีนเองก็ได้จัดให้เก๋ากี้อยู่ในรายชื่อยาที่นำมารับประทานได้

ความโดดเด่นเป็นคุณของเม็ดเล็กๆ แดงๆ ที่ว่านี้ นอกจากจะมีป้ายโฆษณาที่ร่ำลือกันสืบมาว่าช่วยชะลอความแก่ได้แล้ว ยังมีคุณสมบัติอีกหลายประการ ทั้งบำรุงไต ให้ประโยชน์กับตับ กระชับความชุ่มชื้นให้ปอด ตลอดจนเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยังเป็นผลดีต่อสายตา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคุณประโยชน์ในการลดความดัน ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้กระปรี้กระเปร่า

และที่น่าฮือฮามากขึ้นก็คือ เก๋ากี้ยังมีดีตรงที่ช่วยเสริมความงามได้ด้วย โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับออกซิเจนของผิวหนัง ต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยทำให้ผิวพรรณขาวเนียนได้อีกต่างหาก

เมื่อพลิกดูสรรพคุณดังข้างต้นแล้ว เก๋ากี้จึงได้รับการพาตัวเข้าสู่ทั้งวงการอาหารและยาของจีนมาแต่ในอดีต และยังได้รับการพัฒนาต่อมาให้เข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสุขภาพอีกหลายประการในยุคหลังๆ ทั้งที่เป็นประเภทอาหารและเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ซึ่งนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดียิ่ง เพราะเก๋ากี้เอง จริงๆ แล้วมีค่าตัวที่ค่อนข้างเป็นมิตรด้วยสนนราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

ข้ามฟากมาฝั่งอาหาร เก๋ากี้ก็ได้รับความนิยมมานาน โดยเฉพาะในสูตรอาหารที่ใช้บำรุงกำลังวังชาอย่างน้ำซุป โจ๊ก และอาหารจำพวกตุ๋นและนึ่ง มักจะยกทัพจัดกระบวนมาพร้อมกับสมุนไพรและผลไม้อื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ทางการแพทย์เช่นกัน นำมาทำได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มอย่างน้ำชา และแม้เก๋ากี้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีรสเป็นเอกลักษณ์และช่วยชูรสให้กับอาหารจานนั้นๆ ได้ไม่น้อย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มสีสันให้ได้อีกด้วย

เก๋ากี้จึงเป็นผลไม้ผลเล็กที่แดงเด่นเป็นสง่า และเปี่ยมด้วยคุณค่าที่หลากหลาย สมกับที่อยู่คู่ตำรับตำราอู่อารยธรรมของจีนมานับพันปีได้อย่างเต็มภาคภูมิจริงๆ