ถ้าเราจบเรื่องนี้ ด้วยการเห็นแค่อาชญากรโหดร้ายหนึ่งคน เท่ากับเราไม่ได้เรียนรู้อะไร

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หากเราย้อนกลับไปที่เหตุการณ์การกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ฆาตกรรมที่ศูนย์เลี้ยงเด็กจังหวัดหนองบัวลำภู ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอย่างมาก น่าเศร้า และสร้างความเจ็บปวดแก่การรับรู้ในสังคม

เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่แม่วัย 17 ปี ได้ให้สารภาพถึงการทิ้งศพลูก หลังจากอุบัติเหตุที่นำสู่การเสียชีวิต (ตามคำให้การและข่าวที่ปรากฏในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

ผมไม่ขอก้าวล่วงหรือให้ความเห็นใดในทางคดีความที่จำเป็นต้องมีการสอบสวนดำเนินการอย่างละเอียด

แต่เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงวัย 17 ปีคนนี้ที่ได้ถูกเปิดเผยเรื่องราวชีวิตตามที่ต่างๆ สิ่งที่ชวนคิด

คือเธออยู่ในสังคมเดียวกับเรา เวลาเพียง 17 ปีที่เธอเติบโตในสังคมเดียวกับเรา หายใจด้วยอากาศเดียวกับเรา

ผ่านระบบการศึกษาแบบเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ใช้ชีวิตแบบเดียวกัน รวมถึงเรื่องเจ็บปวดและความสุขที่เธอมีในชีวิตก็คล้ายๆ กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ

หากเราผ่านเรื่องนี้ไปโดยไม่ตั้งคำถามต่อสภาพแวดล้อมที่ก่อร่างสร้างเธอขึ้นมา

เรากำลังพลาดโอกาสสำคัญเหมือนทุกครั้งเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศนี้

 

แน่นอนที่สุดว่า การกระทำสิ่งที่เลวร้าย มีทั้งปัจจัยส่วนตน และปัจจัยโดยรวมทางสังคม

เพราะแม้แต่สังคมที่มีความเสมอภาค ยุติธรรม เสรีภาพ รวมถึงยึดมั่นในหลักนิติธรรมก็อาจเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญได้เช่นเดียวกันไม่มีข้อยกเว้น

แต่มิใช่หมายความว่าการพยายามมุ่งแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างความไม่เป็นธรรมต่างๆ ไร้ความหมาย ที่ทำให้เราละเลยและมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาในระดับปัจเจกชนแทน

ซึ่งปกติแล้วกระบวนการทางกฎหมายมักให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัจจัยส่วนตัวเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษ การเยียวยา

แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นระยะยาว

หากเราตั้งคำถามใหม่ ที่ไปไกลกว่าการดำเนินคดีในรายกรณี

เราควรต้องแก้ไขอะไรบ้าง ที่วางเงื่อนไขให้เกิดความกวาดกลัว ความรุนแรงในสังคม

 

ความรุนแรงในครอบครัว ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นความรุนแรงทั่วไปให้กลายเป็นเรื่องปกติ

สามารถเห็นความรุนแรงในนามของความรักและปรารถนาดีได้

สามารถเห็นความรุนแรง ความขัดแย้งที่ถูกซ่อนเร้นปิดเงียบไม่ต้องพูดถึงก็ได้

ความรุนแรงระหว่างคู่สามีภรรยา ความรุนแรงจากแม่สู่ลูก จากพ่อสู่ลูก การปลูกฝังว่าความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้

ความรุนแรงจากความเหลื่อมล้ำ เมื่อเด็กตัวเล็กๆ ต้องไปทำงานกับพ่อแม่ เห็นสิ่งที่เจ้านายหรือคนมีเงินมีอำนาจเหนือพ่อแม่

เห็นสภาพการป่วยติดเตียงของคนในครอบครัวที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ครอบครัวกลายเป็นฝันร้าย

อยู่ในระบบการศึกษาก็แวดล้อมด้วยความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม ทั้งจากครู ไล่ลงมาถึงการกลั่นแกล้งแบ่งแยกในโรงเรียนที่ทำจนทุกอย่างเป็นปกติ

เมื่อมีความรัก ก็ไม่สามารถลองผิดลองถูกได้ไม่มีคำชี้แนะให้ความเห็นหรือตัวอย่าง เพราะชีวิตต่างแวดล้อมด้วยความรุนแรง

 

ผมเขียนมาถึงจุดนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเห็นภาพว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องราวที่แปลกใหม่แต่อย่างใด

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้

และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นปีสองปี

แต่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษต่อเนื่องมานับศตวรรษ

เราอยู่กับความผิดปกติจนกลายเป็นเรื่องปกติไป

ใครมีภูมิต้านทานดีก็สามารถเอาตัวรอดได้

ใครไม่สามารถต้านทานได้ชีวิตก็มีทางเลือกที่จำกัดและนำสู่การจมดิ่งในความรุนแรงและสิ้นหวังต่อไป

ย้อนกลับไปในประเทศนอร์เวย์เมื่อสิบกว่าปีก่อน เกิดเหตุการณ์การกราดยิงในเมืองหลวง ซึ่งเป็นการวางแผนของผู้ชายวัย 30 ปีเศษที่มีความคิดขวาจัดในการก่อเหตุเพื่อนำสู่การกราดยิงในค่ายเยาวชนด้วยความมุ่งหวังทางการเมือง

เขาถูกจับกุมและสืบสวน

สำหรับประเทศที่มีคดีฆาตกรรมทั้งปีประมาณ 50 คดี ยอดเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวถึง 60 กว่าชีวิตเป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญและนับเป็นการเสียชีวิตของพลเรือนที่เยอะที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลก

แต่คำแถลงของอัยการต่อเหตุการณ์นั้นน่าสนใจและเป็นกรณีศึกษาทางอาชญวิทยา

ด้วยเนื้อความที่ว่า

“จริงอยู่ ผู้ชายคนนี้ได้ทำสิ่งที่เลวร้าย เขาฆ่าคนบริสุทธิ์อย่างตั้งใจ เป็นสิ่งที่เลวร้ายไม่ว่าเราจะประเมินด้วยมาตรฐานไหน แต่เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้เลยหากเราสร้างข้อสรุปว่า เขาเป็นปีศาจร้าย และหลงลืมไปว่าเขาเติบโตมาในสังคมเดียวกับเรา เรียนโรงเรียนอนุบาลเดียวกับเรา ใช้โรงพยาบาลเดียวกับพวกเรา และครั้งหนึ่งเขาก็คงเคยมีฝันแบบเดียวกับพวกเรา หากเขาคือปีศาจ สังคมเราก็มีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในการสร้างปีศาจนั้น”

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอันน่าเศร้า เราจะไม่ปล่อยให้มันสูญเปล่า และทำมากกว่าแค่กระบวนการทางคดีความ

แต่นำสู่การถอดบทเรียนต้นตอของปัญหาอย่างจริงจังให้ไปไกลมากกว่าระดับปัจเจกชน

เพื่อให้มองเห็นความผิดปกติบางอย่างของสังคมที่เราจำเป็นต้องแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน