ทางเลือกเชิงนโยบาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ทางเลือกเชิงนโยบาย

 

สูตรสำเร็จอันหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ให้สัมภาษณ์สื่อต้องพูดเสมอก็คือ เนื่องจากเรามีพรมแดนติดกับพม่ากว่า 2,000 ก.ม. เราจึงไม่อาจมีนโยบายต่อรัฐบาลทหารพม่าอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้

แต่ก็น่าประหลาดที่นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยให้เหตุผลเลยว่าทำไม พูดเหมือนให้ผู้ฟัง (หรืออ่าน) สรุปเอาเองว่า พรมแดนยาวที่มีเสถียรภาพย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าพรมแดนยาวที่ไร้เสถียรภาพ

แปลตามตัว เสถียรภาพคือความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง จนนำไปสู่การคาดการณ์ได้อันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า, นักเรียน, หมอ, ตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคง อีกความหมายหนึ่งของพรมแดนที่มีเสถียรภาพก็คือ เคยเป็นแนวเป็นเส้นที่ตกลงกันไว้อย่างไร ก็ยังคงเป็นแนวเป็นเส้นเหมือนเดิมโดยไม่ขยับปรับเปลี่ยนด้วยกำลัง

แต่เสถียรภาพในแง่นี้มีกับพรมแดนไทยทุกด้าน ไม่ใช่อาเซียนและหลักประกันจากสหประชาชาติเพียงอย่างเดียว แต่เพราะไม่มีเพื่อนบ้านของเราสักประเทศเดียว ที่คิดจะขยายดินแดน แม้ในเกือบทุกด้านยังเหลือดินแดนเล็กๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ และปล่อยทิ้งไว้เป็น “No-Man’s Land” แต่ที่เหล่านั้นคือที่ปลอดภัยจากสองฝ่ายว่า จะไม่ใช้กำลังในการตัดสินชี้ขาด

ด้านพม่าเสียอีก ที่พรมแดนมีเสถียรภาพด้านนี้ยิ่งกว่าทุกด้าน เพราะมีสนธิสัญญาระหว่างไทย-อังกฤษที่ทำร่วมกันมาอย่างชัดเจนตั้งแต่โบราณแล้ว และรัฐพม่าเอกราชรับมรดกพรมแดนมาจากอังกฤษโดยเราก็ไม่เคยคัดค้าน ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับเนปิดอว์ โอกาสที่พรมแดนด้านนี้จะขาดเสถียรภาพในแง่ความมั่นคงแน่นอนของเส้นเขตแดนไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งด้วยที่ทั้งไทยและพม่าจะทำสงครามระหว่างกัน ไม่ใช่เพราะทั้งสองฝ่ายรักสงบนะครับ แต่ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าไม่มีทางเอาชนะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ สงครามจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่ให้ผลตอบแทนอะไรเลย

ถ้าไม่นับ “เสถียรภาพ” ในความหมายความแน่นอนมั่นคงของเส้นเขตแดน พรมแดนพม่า-ไทยมีเสถียรภาพจริงหรือ?

 

นี่เป็นสมมุติฐานที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ใดๆ รองรับเลย

อย่างที่เราทราบกันอยู่ทั่วไป พรมแดนด้านพม่าคือประตูใหญ่สุดของการนำเข้ายาเสพติด ทั้งเพื่อตลาดภายในของไทยเอง และการส่งออกไปเกือบทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นผู้ผลิตยาเสพติดคือกองกำลังของชนกลุ่มน้อยต่างๆ หลายกลุ่มได้ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าไปนานแล้ว แต่ก็เกินกำลังของรัฐบาลพม่า ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน จะควบคุมและลดปริมาณการผลิตยาเสพติดได้

ดังนั้น การลำเลียงยาเสพติดเข้าไทย จึงมักทำโดยกองกำลังติดอาวุธ เคยทำร้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเสียชีวิตมาหลายครั้งหลายหนแล้วด้วย

นอกจากยาเสพติดแล้ว ยังมีบ่อนการพนันขนาดใหญ่ของนายทุนจีน ในระยะแรกบ่อนเหล่านี้มุ่งตลาดคนจีนด้วยกันเองที่บินเข้ามาเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่บ่อนเปิดใหม่ตรงข้ามอำเภอแม่สอด คงหวังนักพนันจากฝั่งไทยมากกว่านักพนันจีน เพราะมีการแข่งขันสูงจากบ่อนในกัมพูชา, ลาว และพม่าเหนือ

ไม่ว่ายาเสพติดหรือบ่อนพนัน ไม่ได้สร้างรายได้แก่ชนส่วนน้อยผู้ผลิตหรือนายทุนจีนเพียงอย่างเดียว แต่อะไรที่ผิดกฎหมาย แต่ฝังตัวอยู่ในระบบ ย่อมสร้างผลประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจในรัฐนั้นๆ ด้วย เช่น บนเส้นทางลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ไทย บางส่วนต้องผ่านเขตที่กองทหารพม่าควบคุม จะขนยาเสพติดผ่านโดยไม่จ่ายค่าต๋งจึงเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับในฝั่งไทย จำนวนมากของยาเสพติดถึงมือตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่ถูกจับได้นับเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ถามว่าจะไม่สร้างผลประโยชน์ปลูกฝังขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทยเลยเชียวหรือ

บ่อนการพนันก็เช่นกัน ต้องอาศัยการเปิดพรมแดนให้นักพนันสามารถผ่านเข้าออกถึงบ่อนได้โดยสะดวก โดยไม่มีเจ้าที่ฝ่ายไทยคนใดเรียกรับผลประโยชน์เลย จะเป็นไปได้หรือ

 

ระบบปกครองใดก็ตาม ที่กระจายผลประโยชน์จากการทำผิดกฎหมายออกไปได้กว้างขวางในหมู่เจ้าพนักงาน จนเกิดประโยชน์ปลูกฝังในระบบ นั่นคือการทำให้เกิดความฟอนเฟะในระบบจนไม่อาจทำหน้าที่อื่นใดได้ นอกจากการเก็บค่าต๋งอย่างเป็นระบบระเบียบสวยงาม ไร้การรู้เห็นของสื่อและสาธารณชนเท่านั้น

ปัญหาความไร้เสถียรภาพที่ชายแดนระหว่างไทย-พม่านี้ ไม่ว่ารัฐบาลพม่าจะมาจากการเลือกตั้งอย่างสุจริต หรือมาจากการรัฐประหาร ก็ไม่มีอะไรต่างจากกัน

แม้ว่าพรมแดนไทย-พม่าไม่ถูกผู้มีอำนาจในพม่าปรับเปลี่ยนตามใจชอบ แต่เกิดการล่วงล้ำของกองกำลังติดอาวุธในพม่าอยู่บ่อยๆ รวมทั้งกองทัพของฝ่ายทหารเอง เช่น เครื่องบินรบที่ล่วงล้ำเข้าเขตแดนไทย หรือการยิงปืนใหญ่ที่เลยข้ามมาตกในชุมชนไทยทั้งนี้ยังไม่นับการละเมิดพรมแดนของกำลังชนกลุ่มน้อย ในบางช่วงเข้ามาตั้งกองบัญชาการทางฝั่งไทยด้วยซ้ำ อีกทั้งการค้าอาวุธเถื่อนตามชายแดนที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ทหารและเอกชนไทย

มีผู้อพยพหลบภัยสงครามเข้าสู่ประเทศไทยบ่อยๆ หลบภัยเป็นการชั่วคราวก็มี หนีภัยสงครามเข้ามาอยู่อย่างถาวรในค่ายกักกันก็ไม่น้อย แม้เราไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเลี้ยงดูค่ายกักกันเหล่านี้ (เพราะสหประชาชาติเป็นผู้จ่าย) แต่สภาพความเป็นอยู่อันน่าอเนจอนาถในค่ายกักกัน ก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ซ้ำนายทุนไทยบางราย ยังอาศัยเส้นสายเรียกเอาแรงงานของผู้ลี้ภัยไปใช้ประโยชน์ด้วยราคาค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ยังไม่นับผู้ลี้ภัยที่อาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศอื่น เช่น ชาวโรฮิงญา ก่อให้เกิดการค้ามนุษย์อย่างกว้างขวางตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่กาญจนบุรีไปตลอดชายฝั่งของคาบสมุทรมลายู จนประเทศไทยเองก็เคยถูกกีดกันการส่งออกด้วยข้อหาค้ามนุษย์

 

พรมแดนกว่า 2,000 ก.ม. ไม่ได้มีเสถียรภาพแต่อย่างไร และไม่ว่าไทยจะมีนโยบายเอาอกเอาใจฝ่ายทหารพม่าสักเพียงไร พรมแดนนี้ก็ไร้เสถียรภาพอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพราะพม่าเป็นรัฐล้มเหลว อันเป็นสิ่งที่เราควรยอมรับตามจริงเสียที การมีเพื่อนบ้านเป็นรัฐล้มเหลวจึงเป็นธรรมดาที่เราต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพตลอดแนวชายแดน

มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้พม่ากลายเป็นรัฐล้มเหลว แต่ปรากฏชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลพม่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารของกองทัพ ยิ่งการยึดอำนาจของนายพลมิน อ่อง ลาย ครั้งล่าสุด ยิ่งทำให้รัฐพม่าล้มเหลวหนักขึ้นไปกว่าเดิม เพราะแม้แต่ในดินแดนส่วนที่เคยเป็นพม่าแท้ (เช่น ในแถบตอนกลาง) ก็เกิดการต่อต้านกองทัพด้วยอาวุธและความรุนแรง โดยที่กองทัพไม่อาจปราบหรือขัดขวางการเจริญเติบโตของฝ่ายต่อต้านได้

เสถียรภาพของพรมแดนกว่า 2,000 ก.ม. จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพม่าหยุดความเป็นรัฐล้มเหลว ระหว่างการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และการมีรัฐบาลทหาร อย่างไหนจึงน่าจะทำให้พม่ายุติความเป็นรัฐล้มเหลวลงได้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยมีโอกาสมากกว่ามาก อย่างน้อยการเจรจาต่อรองระหว่างกองกำลังอิสระทั้งหลายกับรัฐบาลกลาง ก็ต้องทำโดยฝ่ายรัฐบาลกลางไม่อาจยื่นคำขาดกันง่ายๆ อย่างรัฐบาลทหาร

รัฐบาลของดอว์ซูจีเริ่มเปิดการเจรจากับชนกลุ่มน้อย ยังต้องอาศัยทางเดินอีกยาวไกล กว่าทุกฝ่ายจะเลือกการมีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครต้องเสียเปรียบให้ฝ่ายอื่นตลอดไป ในท้ายสุดอาจเป็นผลให้ต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างอำนาจถ่วงดุลระหว่างกัน แต่ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานสักเท่าไร ก็มีโอกาสที่จะเดินไปสู่ความเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพพอสมควรได้ พรมแดนกว่า 2,000 ก.ม. ก็จะเกิดเสถียรภาพที่น่าพอใจทั้งสองฝ่ายขึ้น

มองเสถียรภาพของพรมแดนในแง่รัฐล้มเหลว ไทยยิ่งควรร่วมมือดำเนินโยบายต่อพม่า อย่างเดียวกับมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ไม่ใช่หรือ เพราะเรามีพรมแดนติดกันเกิน 2,000 ก.ม. ก็ยิ่งต้องรับผลกระทบจากความเป็นรัฐล้มเหลวของพม่ามากกว่าคนอื่น ไทยยิ่งน่าจะเป็นประเทศหัวหอกในการร่วมผลักดันให้พม่ากลับเข้าสู่เส้นทางที่จะหลุดจากความเป็นรัฐล้มเหลว

 

อันที่จริงข้ออ้างพรมแดนกว่า 2,000 ก.ม.นั้นผมได้ยินจากฝ่ายทหารไทยก่อน เพราะทหารไทยและทหารพม่านั้นเหมือนกัน คือเข้ายึดครองอำนาจรัฐเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์ของกองทัพจะไม่ถูกมองข้ามหรือระงับไป รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารของไทย ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก constructive engagement หรือผูกพันกับพม่าอย่างสร้างสรรค์ แม้ว่านโยบายดังกล่าวนี้เคยล้มเหลวในพม่ามาไม่รู้จะกี่ครั้งกี่หนแล้วก็ตาม

แต่ความเป็นรัฐล้มเหลวของพม่ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลประโยชน์ปลูกฝัง ทั้งทางฝั่งพม่าและทางฝั่งไทย และตราบเท่าที่มันมีผลประโยชน์ปลูกฝังเช่นนี้ กองทัพไม่ว่าในรูปของกองทัพหรือรัฐบาล ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นมากไปกว่าไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่า

ผมแปลกใจที่นักวิชาการกลับพากันท่องบ่นมนตราของฝ่ายกองทัพอย่างเซื่องๆ เช่นนี้ อันที่จริงหน้าที่หลักของนักวิชาการคือเสนอ “ทางเลือก” ที่เป็นไปได้อื่นๆ อีกมากไม่ใช่หรือ เพราะถ้านักวิชาการไม่ทำ “ทางเลือก” เดียวที่เป็นไปได้คือ “สถานะเดิม” ไงครับ และสถานะเดิมอาจไม่มีประโยชน์แก่สังคมโดยรวมอีกแล้วก็ได้ เพราะมันสร้างผลประโยชน์ปลูกฝังให้แก่คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้สร้างทางออกของปัญหาที่สังคมโดยรวมต้องเผชิญ

ประเพณีทางวิชาการของไทย ไม่ปลูกฝังให้นักวิชาการรับผิดชอบต่อสังคม ลองเปรียบเทียบกับอุดมคติของ “บัณฑิต” ขงจื๊อก็จะเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามด้วยซ้ำประเพณีวิชาการของไทยมุ่งผลิตคนที่มีความรู้ไปรับใช้อำนาจ นักกฎหมายระดับ “อาจารย์” ของไทยทุกคนต่างเป็นผู้รับใช้เผด็จการในรูปแบบต่างๆ ตลอดมา

ทางเลือกเชิงนโยบายของเราจึงจำกัด เคยปราบยาเสพติดด้วยวิธีการอย่างไร ก็ยังคงทำมาจนถึงทุกวันนื้ ในขณะที่ยาถูกผลิตมากขึ้นจนราคาไม่แพงเหมือนเก่า และจำนวนผู้ใช้ยาก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ไทยต้องพึ่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นตลอดมา แม้แต่ที่ได้พบในอ่าวไทยก็ลดปริมาณลงอย่างมาก จนถึงทุกวันนี้แม้ว่าเชื่อมั่นในพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่จะหันออกจากพลังงานฟอสซิลไปสู่ทางเลือกอื่น ก็เป็นไปอย่างช้ามาก เพราะไม่มีทางเลือกในทางปฏิบัติให้เดิน

ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง, แหล่งน้ำธรรมชาติถูกทำลาย, การกัดเซาะชายฝั่งของทะเล,ช ฯลฯ ล้วนไม่มีทางเลือกอื่นใดใหม่ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่แล้วว่า นโยบายที่ใช้อยู่ไม่ก่อให้เกิดผลอะไร

กล่าวโดยสรุป สังคมที่ไร้ทางเลือกเกิดขึ้นจากความไม่รับผิดชอบของนักวิชาการ