“ขอน” คำโบราณของล้านนา ที่เกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี

จะไพอูาค้อฯงเพิ่นฯมาตี จะไพอูาขอฯรผีเพิ่นฯมาไห้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จะไปเอาก๊องเปิ้นมาตี๋ จะไปเอาขอนผีเปิ้นมาไห้”

ก๊อง แปลว่า ฆ้อง

ขอน ในที่นี้หมายความว่าซากศพที่ยังไม่ได้ฝังหรือเผา คำว่า ขอนผี ก็หมายถึงซากศพ

ไห้ แปลว่า ร้องไห้

หมายความว่า อย่าเอาฆ้องคนอื่นมาตี อย่าร้องไห้ให้กับศพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ผู้ใหญ่ในล้านนามักจะสอนลูกหลานว่า อย่าไปก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น หรือเอาปัญหาของผู้อื่นมากังวลขบคิดให้เปลืองอารมณ์

หรือร้องไห้ให้กับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง

 

สําหรับคำว่า “ขอน” เป็นคำโบราณของล้านนา สมควรที่จะทำความเข้าใจในความหมายที่ทุกวันนี้แม้แต่คนทางเหนือเองก็แทบไม่ได้ใช้ และอาจจะลืมเลือนไปแล้ว

– ขอน แปลว่า ขอนไม้ หรือท่อนไม้ แบบเดียวกับภาคกลางก็ได้ เช่น เด็กเกาะขอนลอยตัวอยู่กลางน้ำ

– ขอน ที่แปลว่า ร่างที่ตายแล้ว หรือซากศพ จะให้ชัดเจน บางทีเขาก็เรียกว่า ขอนผี หรือขอนกระด้าง ไปเลย เช่น ขอนลอยน้ำมา ขอนในที่นี้จะแปลว่าอะไรก็ได้ แต่ถ้าบอกว่า ขอนไม้ลอยน้ำมา หรือขอนผีลอยน้ำมา คำบอกเล่าก็จะชัดเจนขึ้น

– ขอน ที่แปลว่า จิตวิญญาณ ใช้กับการทรงเจ้าเข้าผี เป็นการสื่อสารกับคนตายไปแล้ว เรียกอีกอย่างว่า “การลงขอน”

ล฿งฯขอฯรติดฯตํ่อฯกับฯฯฅ฿นฯตายฯ ลงขอนติดต่อกั๋บคนต๋าย แปลว่า ทรงเจ้าเพื่อติดต่อกับคนตาย

คนล้านนาเชื่อว่าหากคนตายไปแล้วไม่ได้สั่งเสีย ตายกะทันหัน อุบัติเหตุ เป็นต้น คนล้านนาโบราณจะนิยม “ทำพิธีลงขอน” บางทีก็เรียกว่าพิธี “สู่ผีลง” เพื่อถามคนตายว่าต้องการอะไร อยากให้ทำอะไรให้บ้าง หรือบางครั้งก็เป็นการสั่งเสียสั่งลา เพื่อที่จะได้ตัดความอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อกัน

เชื่อว่าหากทำเช่นนี้คนที่ตายไปแล้วจะหมดห่วง ทำให้ไปสู่สุคติ และคนที่ยังอยู่ก็จะทำใจได้ง่ายขึ้น

ในชุมชนจะมีบางคนที่สามารถติดต่อกับวิญญาณได้ เรียกว่า คนทรง หรือม้าขี่ หรือม้าทรง มีสำนักเข้าทรงเป็นเรื่องเป็นราว ในพิธีกรรมเขาจะเอาของใช้ของผู้ตายเช่น เสื้อผ้า ไปกองปนๆ กัน เมื่อประทับทรงแล้ว จะให้คนทรงเลือก

ถ้าเลือกได้ถูกต้องก็เป็นการยืนยันว่าญาติจะได้ติดต่อสื่อสารกับวิญญาณตัวจริงของผู้ตาย

แต่ถ้าคนทรงเลือกไม่ถูกตั้งแต่ต้น ก็แปลว่าจบกัน ผีที่มาเข้าทรงอาจจะสวมรอยมาผิดตัว

– ขอน ที่เป็นลักษณนาม แปลว่า คู่ ใช้กับสิ่งของที่มาเป็นคู่ เช่น กระบุงขอนหนึ่ง เวลาหาบก็ต้องหาบหน้า หลัง เป็นคู่ รองเท้าก็นับเป็นขอน เป็นต้น

ทุกวันนี้อิทธิพลของภาษาไทยกลางมีศัพท์อื่นที่เอามาใช้แทนคำว่า “ขอน” เวลาพูดถึงขอน คนรุ่นใหม่ในล้านนาก็จะคิดถึงขอนไม้เช่นเดียวกับคนไทยภาคอื่นๆ •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่