หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (2)

เกษียร เตชะพีระ

คณะกรรมการแอตแลนติก (The Atlantic Council) อันเป็นสถาบันคลังสมองอเมริกันชั้นนำด้านกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคง ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และเล็งการณ์ล่วงหน้า 167 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลกออกมาเมื่อต้นปีนี้ว่าพวกเขาเล็งเห็นแนวโน้ม 10 ประการว่าการเมืองโลกน่าจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2033 (https://www.atlanticcouncil.org/content-series/atlantic-council-strategy-paper-series/2023-global-foresight-survey/)

ต่อจากแนวโน้ม 1) รัสเซียมีศักยภาพจะล่มสลาย ลำดับต่อไปได้แก่…

2) เกิดประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหม่ๆ

2.1) ประเทศใดบ้างน่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า?

(มีผู้ตอบคำถามนี้ 149 คนโดยสามารถเลือกได้มากกว่าหนึ่งประเทศ)

ขณะผู้ตอบ 13% เห็นว่าจะไม่มีประเทศหน้าใหม่ใดในโลกได้อาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นมาในทศวรรษหน้า ทว่า ผู้ตอบกว่า 75% กลับระบุประเทศเฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ ที่คาดว่าจะกลายเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงเวลาที่ว่านี้

ปรากฏว่าอิหร่านติดอันดับประเทศที่ผู้ตอบเชื่อมากที่สุดว่าจะเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ถึง 68% โดยเป็นไปได้ว่าจะเกิดอย่างเร็วที่สุดในปีนี้ (https://www.atlanticcouncil.org/content-series/atlantic-council-strategy-paper-series/risks-opportunities-2023/) ทว่า นอกจากอิหร่านแล้ว ผู้ตอบคาดว่ายังจะมีประเทศอื่นติดอาวุธนิวเคลียร์ได้อีกอย่างน้อยหนึ่งประเทศในช่วงสิบปีข้างหน้าด้วย

การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการแก่งแย่งแข่งขันระดับภูมิภาคที่น่าจะทำให้อาวุธนิวเคลียร์ยิ่งแพร่กระจายออกไปสู่ประเทศใหม่ๆ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย (32%) ซึ่งเป็นคู่แข่งของอิหร่านในตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ (19%) ซึ่งเป็นคู่แข่งของเกาหลีเหนือ รวมทั้งญี่ปุ่น (14%) ซึ่งเป็นคู่แข่งจีนในเอเชียตะวันออก

2.2) ประเทศใดบ้างน่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า?

(มีผู้ตอบคำถามนี้ 147 คนโดยสามารถเลือกได้มากกว่าหนึ่งประเทศ)

มองในแง่ดี ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 58% เชื่อว่าจะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ ในช่วงสิบปีข้างหน้า ขณะผู้ตอบที่เชื่อว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีอยู่ 31% โดยเน้นไปที่กรณีความขัดแย้งระดับภูมิภาค

ตัวเก็งว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอีกสิบปีข้างหน้าอันดับหนึ่งได้แก่รัสเซีย (14% ของผู้ตอบ) โดย 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ตอบนี้คาดว่ารัสเซียจะรบกับนาโต

ตัวเก็งอันดับสองว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสิบปีข้างหน้าคือ เกาหลีเหนือ (10%) โดยคาดว่าจะใช้รบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ มากกว่าจะใช้ต่อกรกับประเทศที่มีแสนยานุภาพนิวเคลียร์เหนือกว่าอย่างอเมริกา

ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ตอบน้อยนิดที่คาดว่าการระงับการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่นานาประเทศน่าจะให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นสูงสุดในสิบปีข้างหน้าซึ่งมีแค่ 2%

ขณะที่ผู้ตอบ 10% ระบุว่าการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์หรือสงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์/อาวุธมหาประลัยอื่นเป็นความเสี่ยงภัยสูงสุดที่โลกเผชิญแต่กลับได้รับความใส่ใจไม่เพียงพอ

3) ความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐได้เตือนว่าจีนอาจเปิดยุทธการเพื่อผนวกไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่เร็วกว่าที่คาดหมายไว้ว่าจะเกิดระหว่างบัดนี้ไปถึงปี 2027 (https://news.usni.org/2022/10/19/chinas-accelerated-timeline-to-take-taiwan-pushing-navy-in-the-pacific-says-cno-gilday) สอดรับกับผลสำรวจความเห็นผู้ตอบแบบสอบถามที่ประเมินว่าจีนจะใช้กำลังยึดไต้หวันคืนภายในสิบปีข้างหน้าถึง 70% ขณะที่มีผู้ตอบแค่ 20% เห็นว่ามันจะไม่เกิดขึ้น

น่าสังเกตว่าในสถานการณ์สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนปัจจุบัน ผู้ตอบส่วนใหญ่กว่า 60% กลับไม่เห็นว่ารัสเซียจะปะทะทางทหารกับนาโตในสิบปีข้างหน้า อันบ่งชี้ว่าพวกเขาเชื่อว่าจะจำกัดขอบเขตสงครามไว้เฉพาะในยูเครนได้หรือเล็งเห็นชัดว่ารัสเซียอ่อนแอเกินกว่าจะหาญรบกับนาโต

ในเงื่อนไขที่หากจีนโจมตีไต้หวันทางทหาร ย่อมจะส่งผลให้สหรัฐต้องเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือ ประกอบกับบรรดาผู้ตอบมองว่าความขัดแย้งจีน-ไต้หวันน่าจะเป็นไปได้มากกว่าความขัดแย้งรัสเซีย-นาโต

ทำให้สรุปได้ว่าภัยสงครามระหว่างมหาอำนาจที่มีความเสี่ยงสูงสุดในรอบทศวรรษหน้าอาจจะเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ไม่ใช่ยุโรป

4) สหรัฐแยกคู่กับจีน

กล่าวขวัญกันมากเรื่อง “การแยกคู่/แยกทาง” (decoupling) หรือการคลี่ปมพัวพันกระสันรัดระหว่างเศรษฐกิจของอเมริกากับจีนให้คลายออก อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามของคณะกรรมการแอตแลนติก ฟันธงว่าการแยกคู่/แยกทางขาดจากกันทางเศรษฐกิจของสองประเทศไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งในสิบปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ถึงแม้จะเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และออกมาตรการจำกัดกีดกันการค้า/เทคโนโลยีโต้ตอบกันไปมา แต่กระนั้นโดยภาพรวมผู้ตอบราว 58% เห็นว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือเศรษฐกิจอเมริกันกับจีนก็คงจะแค่พึ่งพากันและกัน “น้อยลง” ในหนึ่งทศวรรษหน้าเทียบกับทุกวันนี้

ขณะที่ผู้ตอบ 23% ยังเชื่อว่าอเมริกากับจีนจะพึ่งพากันทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ และหากจำกัดวงแคบลงมาเฉพาะในหมู่ผู้ตอบ ที่เชื่อว่าจีนจะบุกไต้หวัน สัดส่วนตัวเลขดังกล่าวก็ขยับเปลี่ยนไม่มาก คือจาก 58% ต่อ 23% –> เป็น 64% ต่อ 22% เท่านั้น

ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าในความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 80% คือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีนในสิบปีเบื้องหน้าจะเป็นไปอย่างจำกัด ถ้าจะแยกคู่/แยกทางกันก็เป็นไปอย่างช้าๆ นั่นเอง

 

5) อำนาจอเมริกันในอนาคต

โดยทั่วไป ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าสหรัฐจะยังคงมีพลังอำนาจยืนยงอยู่ในสิบปีข้างหน้า แม้จะเล็งเห็นด้วยว่าสหรัฐคงมีพลังแห่งชาติโดดเด่นเป็นเอกในบางด้าน ทว่า ด้อยกว่าในด้านอื่นๆ

ผู้ตอบถึง 70% ทำนายว่าสหรัฐจะยังคงเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารครอบงำโลกในปี 2033 ซึ่งนับว่าสูงมากในสภาพที่กังวลกันว่าจีนกำลังเร่งปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยขนานใหญ่และสหรัฐกำลังสูญเสียความได้เปรียบทางทหารไป

นอกจากนี้ ผู้ตอบราวกึ่งหนึ่งคิดว่าสหรัฐจะยังคงธำรงรักษาการครอบงำทางเทคโนโลยีเหนือทุกประเทศไว้ได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแง่การทูตและอำนาจเศรษฐกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เชื่อว่าสหรัฐจะยังคงมีฐานะครอบงำในทศวรรษหน้าลดฮวบลงมาเหลือแค่ 30% และกว่า 30% เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งชวนสนเท่ห์ว่ามันจะส่งผลสะเทือนอย่างไรต่อฐานะอำนาจด้านอื่นของสหรัฐ? ในเมื่ออำนาจทางทหารก็ขึ้นอยู่กับการมีพันธมิตรที่เข้มแข็งและอานุภาพทางเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีมากพอควร

ขณะที่อำนาจทางเทคโนโลยีก็พึ่งพาอาศัยสมรรถภาพของประเทศในการปรับเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปใช้ในทางพาณิชย์เป็นอันมาก

 

น่าสังเกตด้วยว่าในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม มีกลุ่มย่อย 2 กลุ่มที่มีทัศนะตรงข้ามกันสุดโต่งเกี่ยวกับอำนาจของสหรัฐในสิบปีข้างหน้า กล่าวคือ :

กลุ่มเล็งการณ์ร้าย : มีราว 19% ของผู้ตอบทั้งหมด พวกนี้เชื่อว่าถึงปี 2033 จะเกิดเรื่องเลวร้ายต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับสหรัฐได้แก่ สหรัฐจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว, หรือไม่ประเทศสหรัฐก็จะแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ, สหรัฐจะไม่สามารถคงอำนาจครอบงำโลกไว้ได้ต่อไปไม่ว่าในด้านการทหาร เศรษฐกิจ การทูตหรือเทคโนโลยี

กลุ่มเล็งผลเลิศ : มีราว 12% ของผู้ตอบทั้งหมด พวกนี้เชื่อว่าสหรัฐจะยังคงเป็นอภิมหาอำนาจเดี่ยว ครอบงำต่อไปในทุกด้านไม่ว่าการทหาร เศรษฐกิจ การทูตและเทคโนโลยี

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)