มอง ‘ประยุทธ์’ ผ่านสายตา ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ชี้ ‘โอกาส’ ประเทศสูญหายไป

หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 2 มีนาคม 2566 ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี เลือกตั้งปี 2566 ได้สัมภาษณ์พิเศษ “อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักวิชาการประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ประเด็น 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ส่งผลกระทบอะไรต่อการเมืองไทยมากที่สุด และการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงหรือนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นได้หรือไม่

 

มอง ‘ประยุทธ์’ ผ่านสายตา ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ชี้ ‘โอกาส’ ประเทศสูญหายไป เลือกตั้งต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ใช่เปลี่ยนนายกฯ ทุกระบบกำลังพังลงต่อหน้า

 

: 8 ปี ประยุทธ์ ส่งผลกระทบอะไรต่อการเมืองไทยมากที่สุด?

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ “โอกาส” จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 มันก็ไม่ได้ดีอะไรมากนักหรอกนะครับ แต่อย่างน้อยสุดมันให้โอกาสในการที่เราจะพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป แล้วการพัฒนาประชาธิปไตย ผมว่ามันไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยเฉยๆ มันยังบังคับให้การพัฒนาเศรษฐกิจตามไปด้วยเหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องที่นายทุนบางคนที่เข้าถึงอำนาจของรัฐที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ใช้อำนาจนั้นในการผูกขาดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเอาเปรียบคนอื่น

ถามว่าใน 8 ปีที่ผ่านมาในทางเศรษฐกิจมันมีคนเอาเปรียบชาวไร่อ้อยไหม มีคนเอาเปรียบประเทศไทย โดยการเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะมากไหม มีเยอะมากๆ

ถามว่า ถ้าในระบอบประชาธิปไตยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไหม อาจจะเกิดขึ้น แต่คนโวยวายได้ไง ให้การเอาเปรียบเหล่านี้ไม่ค่อยได้กำไรเท่าไหร่

สิ่งนี้ที่ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่เป็นความสูญเสียที่สุดของประเทศเรา คือโอกาสทางการเมือง การพัฒนาการเมือง โอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจ ใน 8 ปีนี้มันทำให้เราหันกลับไปจมอยู่กับเศรษฐกิจแบบชนิดที่มันมีคนเป็นคนจัดการ จะจัดการโดยซื่อสัตย์หรือจัดการโดยคดโกงก็แล้วแต่ แต่ว่ามีคนอื่นเป็นคนจัดการโดยประชาชนไม่สามารถเข้าไปต่อรองได้

ที่ผ่านมา 8 ปี ผมคิดว่ามันมีกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปต่อรองได้เยอะมากเลย เหมืองทองอัครา นี่คือตัวอย่างชัดเจนมาก บทจะไม่ทำอะไรก็ปล่อยให้ประชาชนต้องรับมลพิษเต็มๆ บทจะทำคุณก็สั่งยกเลิกเฉยๆ คราวนี้คุณก็โดนค่าปรับอ่วม แล้วก็เอาสิทธิประโยชน์ของการสัมปทานไปแลกกับเขา อย่างนี้เป็นต้น

: การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้จะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงหรือนำไปสู่การปฏิรูปได้ไหม?

ผมเชื่อว่า ไม่

เหตุผลของผมคือ ประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ในระยะเวลาประมาณร้อยปีที่ผ่านมา ที่คุณพบว่าเราไม่สามารถจะเปลี่ยนเฉพาะตัวนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงหรือเกี่ยวกับตำรวจได้

มันจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างในหลายเรื่องด้วยกัน ตรงนี้ที่คุณเรียกว่าอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันมีคนจำนวนหนึ่งที่มากพอสมควร แต่ยังไม่ใช่เสียงข้างมาก ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้สำนึกได้แล้วว่าจำเป็นจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมการณ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือระดับโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ

มันถึงเวลาเปลี่ยนโครงสร้างแล้ว

: พรรคที่ขายแนวคิดเชิงปฏิรูปในเวลานี้มีเฉพาะพรรคก้าวไกล แต่พรรคก้าวไกลมีโอกาสจะเป็นฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล

ผมคิดว่าเวลาที่เป็นฝ่ายค้าน เราชอบนึกว่าการเป็นฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้ ส่วนตัวผมกลับคิดตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลใน 4 ปีที่ผ่านมาในฐานะฝ่ายค้าน ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากขนาดไหน ผมว่ามากกว่าที่ประชาธิปัตย์ได้ทำผ่านมา 30-40 ปีด้วยซ้ำ

อย่างการเสนอยกเลิก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร มันไม่เคยอยู่ในความคิดคนไทยส่วนใหญ่มาก่อน แต่นี่เป็นทางเลือกที่คนจำนวนมหึมาทีเดียวที่คิดว่าทำไมเราต้องเกณฑ์ทหาร อันนี้คือทางเลือกใหม่ และผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มากเสียยิ่งกว่านโยบายว่าเราควรขจัดขยะแบบนั้นแบบนี้

อันนั้นก็สำคัญไม่ใช่ว่าไม่สำคัญเลย แต่ว่าการเสนอทางเลือกใหม่ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะงั้นอย่าไปนึกว่าถ้าเป็นพรรคฝ่ายค้านแล้วจะไม่มีประโยชน์อะไร

ผมกลับคิดว่าตรงกันข้าม ถ้าคุณยังยืนยันอยู่ในจุดเดิม ผมไม่รู้ว่าก้าวไกลจะยืนยันอยู่ในจุดเดิมหรือไม่ แต่ถ้าคุณยังยืนยันอยู่ในจุดเดิม การเป็นฝ่ายค้านอาจจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นฝ่ายรัฐบาลด้วยซ้ำ

: ถ้าเพื่อไทย-พลังประชารัฐจับมือกันเป็นรัฐบาล ภาพการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร?

ผมยอมรับทั้งนั้นไม่ว่าภาพไหนก็แล้วแต่ แต่ทีนี้ปัญหาก็คือว่าภาพนี้คือภาพที่คุณไม่คิดจะแก้โครงสร้างเลยหรือ คุณเชื่อเพียงแค่ว่าเพื่อไทยกับพลังประชารัฐจะเอาคนดีมาทำงานในโครงสร้าง ในทัศนะผมมันไม่เวิร์กแล้ว เพราะสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว

: การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก อาจต้องรอการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ในทัศนะผม ระบบเก่าไม่ว่าจะเป็นศาล ตำรวจ ระบบราชการ สถาบันต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งวิชาการด้วย พังลงต่อหน้า แบบที่เห็นๆ อยู่ เวลานี้คุณยังเชื่อมหาวิทยาลัยอยู่ไหม อาจารย์ไปซื้องานวิจัยมาขอตำแหน่งขอรางวัลกันบ้าง มันเหลืออะไรบ้างในประเทศนี้ แล้วถ้าคุณไม่แก้อะไรเลย สมมุติ พรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ คำถามคือถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกแก้ ไอ้ความเฟะฟอนของมันจะปรากฏชัดขึ้น

ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเลวนะ เขาก็ไม่ต้องการให้มันเกิดการเฟะฟอนหรอก แต่ตัวระบบเก่ามันไม่เอื้อให้คุณอยู่ต่อไปได้แล้ว คำถามคือถ้าเป็นเช่นนั้น สำนึกของคนไทยว่า เราจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างมากกว่าการเปลี่ยนตัวนายกฯ จะเกิดขึ้นไหม ผมว่าเกิด จะเกิดในกลุ่มคนส่วนใหญ่ไหม ผมว่าจะเกิดเป็นคนส่วนใหญ่ เวลานี้เกิดแต่มันอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่

ผมมองว่าทุกสังคมพยายามรักษาตัวระบบเก่าที่อย่างน้อยมันเคยเวิร์ก เคยทำงานมาก่อน คุณก็อยากจะรักษามันไว้เพราะหวังว่ามันจะทำงานต่อไป คุณจะปฏิรูปจะเปลี่ยนมันดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องปล่อยให้มันพัง ผมว่าทั้งโลกเราก็คิดแบบนี้กันทั้งนั้น

แต่ในกรณีประเทศไทยผมคิดว่ามันไม่มีทาง สมมุติพรรคเพื่อไทยยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2557 ถามว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ต่อไป ระบบเหล่านี้จะพังให้เราเห็นต่อหน้า ก็พังอยู่ดี เพราะคุณยิ่งลักษณ์เองก็ไม่ได้ขัดขืนระบบเหล่านี้ คุณยิ่งลักษณ์ไม่แม้แต่จะยอมเซ็นด้วยซ้ำไป เพื่อให้ประเทศไทยยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่เต็มตาว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดมันจะทำไปสู่การรัฐประหารแล้วก็อาจจะมีการยิง แล้วแกก็ไม่ยอมเซ็น

ผมคิดว่าตัวระบบมันค่อยๆ พังสลายลง จนถึงปัจจุบันนี้ผมคิดว่ามันแทบไม่เหลืออะไรเลย

: การปฏิรูป จะสามารถฝากความหวังไว้ที่ไหนได้บ้าง

ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนสำนึกมากขึ้น ในที่สุดก็จะรู้และเลือกพรรคที่ควรเลือก ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคก้าวไกล และเชื่อว่าในระยะยาว หากคะแนนทางฝ่ายที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานโครงสร้างมีมากขึ้น ก็จะมีพรรคที่หันมาแก้ไขถึงระดับพื้นฐานแบบก้าวไกลมากขึ้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับการมองเห็นและการตัดสินของประชาชน ในฐานะ “ผู้เลือก” นั่นเอง