ความโปร่งใส ในการรายงานผลการเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคำ 3 คำ ที่มีความหมายต่างกัน คือ รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ รายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และการประกาศผลการเลือกตั้ง

รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการนั้น เร็วที่สุด อาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปิดการลงคะแนน เนื่องจากเมื่อประชาชนได้ลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว ย่อมปรารถนาจะเห็นผลการเลือกตั้งโดยเร็ว

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ ย่อมอยากทราบว่า ผลการเลือกตั้งที่เป็นภาพรวมทั้งประเทศ พรรคของตนได้จำนวน ส.ส.เท่าใด เพราะทุกจำนวน ส.ส.ที่ได้มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนรายงานผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการนั้น ต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากระดับกรรมการประจำหน่วย ระดับเขตเลือกตั้ง ไปจนถึงระดับประเทศ ตรวจสอบกระทบยอดทุกอย่างให้ตรงกัน มีการลงนามรับรองความถูกต้องจากกรรมการในทุกระดับ

ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาไม่ควรเกิน 3 วันนับจากปิดหีบก็จะสามารถนำเสนอรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้

ในขณะที่การประกาศผลการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบมาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีโอกาสในการกลั่นกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่ามีคดีทุจริตการเลือกตั้งหรือกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ โดยมีกรอบต้องประกาศผลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ตัวเลข 60 วันดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อให้เกิดความสุจริต เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งและให้ กกต.มีเวลาเพียงพอในการกลั่นกรองคนดีเข้าสภา

แต่มิใช่เพื่อให้ กกต.ยืดเวลาทำงานมากขึ้นแต่ได้ผลงานที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม

 

ผลการเลือกตั้ง
ที่ทุกฝ่ายต้องการรู้โดยเร็ว

หลังจาก 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง เป็นเวลาที่ทุกฝ่ายไม่ว่า ผู้สมัคร พรรคการเมือง ประชาชน สื่อมวลชน ล้วนปรารถนาต้องการรู้ผลโดยเร็ว

ย้อนหลังไปในอดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย การทราบผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการโดยเร็วอาจทำได้โดยการมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เช่น การใช้หน่วยมอเตอร์ไซค์ แบ่งพื้นที่ วิ่งตามเก็บคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ อาจมีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้ง ใช้อุปกรณ์วิทยุสื่อสารของตำรวจในการรายงานผลการเลือกตั้งของหน่วยที่ตนปฏิบัติหน้าที่เข้ามา เพื่อให้ส่วนกลางนำไปรวบรวมคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน

แม้ไม่ยืนยันถึงความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทราบผลดังกล่าวก็เป็นที่พึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในยุคที่เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน

คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยพัฒนาแอพพลิเคชั่น Rapid Report เพื่อให้กรรมการประจำหน่วยรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการผ่านโทรศัพท์มือถือของตนเข้าสู่สำนักงานในส่วนกลางโดยตรงและมีระบบในการประมวลผลโดยอัตโนมัติแบบ Real time คือแสดงผลจริงตลอดเวลา

ระบบดังกล่าวนี้ เป็นการตัดขั้นตอนที่จะต้องรวบรวมผลจากหน่วยเลือกตั้งไปยังเขต จากเขตไปจังหวัด และจังหวัดไปยังส่วนกลาง ซึ่งเป็นระบบการรายงานผลอย่างเป็นทางการซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบก็ทราบผลทั่วทั้งประเทศ

โดยใช้ครั้งแรกในคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 4 ในการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 และสามารถทราบผลอย่างไม่เป็นทางการร้อยละ 95 ในเวลาประมาณ 19.30 น. หรือ 3 ชั่วโมงครึ่งหลังปิดหีบ

 

การตัดสินใจยกเลิกระบบรายการงานผล
แบบไม่เป็นทางการ

ข่าวคราวเกี่ยวกับการยกเลิกระบบการรายงานอย่างไม่เป็นทางการปรากฏอยู่ในสื่อมาระยะหนึ่ง ในขณะที่ผู้บริหารของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ตอบอะไรในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน

จนเมื่อราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการยกเลิกระเบียบฉบับเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2561 จึงปรากฏความชัดเจนว่า ระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการซึ่งเคยอยู่ในระเบียบฉบับก่อน บัดนี้ได้ถูกยกออกจากระเบียบฉบับใหม่

นั่นแปลความหมายว่า การรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการบนแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตจะไม่มีอีกแล้วในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

 

สิ่งที่เข้ามาแทนที่

ระเบียบฉบับใหม่ กล่าวถึงเพียงแต่ระบบการรวมผลการนับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง โดยกรรมการประจำหน่วยจะส่งรายงานผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งตนเอง ที่เรียกว่า แบบฟอร์ม ส.ส. 5/18

ซึ่งมีรายละเอียด จำนวนบัตรเลือกตั้ง บัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่เลือกผู้สมัครใด ชื่อผู้สมัคร และคะแนนที่ได้รับ

พร้อมการเซ็นชื่อของกรรมการประจำหน่วยทุกคน และแบบฟอร์ม ส.ส. 5/18 (บช.) สำหรับรายงานผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไปยังคณะกรรมการประจำเขตเพื่อรวบรวมคะแนน

เมื่อได้ผลคะแนนที่รวมในระดับเขตเป็นอย่างไร จึงประกาศผลการนับคะแนน ณ สถานที่รวมคะแนน

และนำรายละเอียดของการรายงานผลการนับคะแนนทั้งหมดประกาศในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 5 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

 

สิ่งที่หายไปในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง

จากการออกแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีย้อนอดีตไปเกินกว่า 10 ปี สิ่งที่จะหายไปจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2566 คือ

1. ประชาชนจะไม่ทราบความเคลื่อนไหวของคะแนนใดๆ จากหน่วยเลือกตั้ง จนกว่าใบรายงานผลดังกล่าวจะไปถึงศูนย์รวมคะแนนระดับเขต แล้วเริ่มมีการคีย์คะแนนดังกล่าวเข้าโปรแกรมประมวลผลที่ศูนย์การรวมคะแนนระดับเขตที่ใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์เอ็กเซลในการบันทึก

โดย กกต.ได้ขอให้กรรมการประจำหน่วยถ่ายภาพเอกสาร ส.ส. 5/18 และ 5/18 (บช.) ส่งทางโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อความรวดเร็ว ไม่ต้องรอเอกสารจริง ที่จะส่งตามมาในภายหลัง และคาดว่า ความเคลื่อนไหวของคะแนนต่างๆ จะเริ่มรายงานให้สื่อมวลชนทราบได้ในเวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นไป

2. ประชาชนแทบจะไม่มีสิทธิรู้เลยว่า คะแนนของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ส่งจากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ตามแบบฟอร์ม ส.ส. 5/18 และ 5/18 (บช.) นั้น มีคะแนนแต่ละหน่วยเป็นอย่างไร

โดยการกำหนดให้นำเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายใน 5 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารจริง หรือเป็นเอกสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด มีผลการเลือกตั้งที่แตกต่างจากความเป็นจริง

3. ประชาชน สื่อมวลชน และพรรคการเมืองจะต้องรอเวลาอย่างน้อย 3-5 วัน จึงจะสามารถรู้ผลการเลือกตั้งทั้งประเทศ ว่าพรรคใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่หากสื่อมวลชน หรือพรรคการเมืองประสงค์จะรู้ผลโดยเร็ว ก็ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณอีกนับล้านบาท เพื่อจัดหาหน่วยที่คอยจดบันทึกคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งร่วมแสนหน่วยในการดำเนินการดังกล่าว

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หายไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ความเสียหายสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ ความเชื่อถือ เชื่อมั่นที่มีต่อผลการเลือกตั้งและการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คุ้มไม่คุ้ม โปรดพิจารณาเอง