พลังใหม่ = ประชาธิปไตยแบบ more than and better? | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

“การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเทคะแนนให้พลังใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้คนจำนวนมากตระหนักว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คือความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ในอนาคต มิใช่วนเวียนอยู่แต่กับเอาทักษิณไม่เอาทักษิณ เอาประยุทธ์ไม่เอาประยุทธ์ วนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ที่ล้อมสังคมไทย กักขังสังคมไทยไว้ตั้งแต่ปี 49 ไม่ให้ไปไหน”

Facebook ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ข้อเขียนของปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และเขียนขึ้นมาด้วยความห่วงกังวลของอนาคตของพรรคก้าวไกลว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าพรรคก้าวไกลอาจได้ ส.ส.เพียง 30 คนซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองใดๆ ได้

หากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นพรรครัฐบาล ก้าวไกลอาจมีสภาพเป็นได้เพียง “ลูกไล่” ของพรรคเพื่อไทย

ได้อาศัยเป็นพรรคร่วม ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมาสัก 2 เก้าอี้ ที่ไม่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามเจตนารมณ์ของพรรค

ดังนั้น ปิยบุตรจึงอยากเสนอให้พรรคก้าวไกลปรับกลยุทธ์การสื่อสารและการทำแคมเปญหาเสียงของพรรคก้าวไกลว่าต้องแก้ “ปมแลนด์สไลด์” ของเพื่อไทยให้ได้

ยุทธศาสตร์ที่ปิยบุตรเสนอคือ ต้องทำให้คนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะมาที่ 1

จากนั้นให้โละวาทกรรมว่าด้วย “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” ออก แต่หันมาใช้วาทกรรม “พลังเก่า vs พลังใหม่” แทน

และทำให้คนชื่อว่า ก้าวไกล = พลังใหม่ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยได้

 

เมื่ออ่านข้อเขียนนี้จบ ฉันเข้าใจได้ถึงความอึดอัดของปิยบุตรที่มองเห็นล่วงหน้าว่า การแข่งขันในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก้าวไกลไม่มีส้มหล่นใส่เหมือนเมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่

นั่นคือ ไม่มีทั้งระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว และไม่มีทั้งการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนของไทยรักษาชาติหล่นมาอยู่กับอนาตใหม่

และหากจะพูดกันตามตรง การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการชิงที่สี่กันระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ

การเสนอการจัดกลุ่มพรรคการเมืองเป็น พลังใหม่ vs พลังเก่า แทนที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย vs พรรคฝ่ายเผด็จการ จึงเป็นข้อเสนอค่อนข้างเด็ดขาด แตกหัก

เพราะถ้าอิงอยู่กับการจัดประเภทแบบเดิม พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะประกอบไปด้วย เพื่อไทย, ก้าวไกล, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย, เพื่อชาติ

แต่ถ้าเราจะจัดกลุ่มพรรคการเมืองเป็นพลังเก่า vs พลังใหม่ ก็ต้องถามปิยบุตรว่า มีพรรคไหนเข้าข่ายเป็น “พลังใหม่” บ้าง?

หันซ้ายหันขวา อ้าว มีพรรคก้าวไกลพรรคเดียว

คำถามคือใจคอปิยบุตรจะให้พรรคก้าวไกลบินเดี่ยวเป็นพรรค “พลังใหม่” ความหวังหนึ่งเดียวของสังคมไทยอย่างนั้นหรือ?

สมมุติว่า ก้าวไกลจะบินเดี่ยวตัดขาดจากพรรคฝั่งประชาธิปไตยอื่นๆ เพื่อจะชนะที่ 1 ในสนามการเลือกตั้ง

คำถามต่อไปคือ ชนะได้อย่างไร? ลำพัง “ความเชื่อมั่น” ล้วนๆ ภายในเวลา 3 เดือนที่เหลืออยู่ จะทำให้พรรคก้าวไกลหยิบชัยชนะที่ 1 ได้จริงหรือ?

 

หันมาดูวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ทำไมจึงต้องแลนด์สไลด์

โจทย์การปลดล็อกประเทศไทยออกจากมรดกของการบริหารประเทศจากคณะรัฐประหารและเครือข่าย อันดับแรกเราต้องรู้ว่า ส.ว. 250 เสียงในสภา เป็น “คะแนนสำเร็จรูป” คะแนนที่นอนรออยู่ในสภา เพื่อสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ดังนั้น ไม่ว่าประวิตร หรือประยุทธ์ จะลงเลือกได้มากี่เสียง เสียงนั้นจะถูกนำไปบวกกับเสียง ส.ว. 250 เสียงเสมอ

เช่น หากรวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส. 25 คน เมื่อโหวตเลือกนายกฯ เขาจะมีเสียง 25 + 250 = 275 เสียง

ถ้าประวิตรได้ 70 เสียง ก็มีแนวโน้มว่า จะเป็น 70 + 250 = 320 เสียง

ถ้า ส.ว.เสียงแตก ลองลบไปฝั่งละ 50 ประยุทธ์จะมี 225 เสียง, ประวิตรจะมี 270 เสียง

ทีนี้เข้าใจหรือยังว่า ถ้าเราอยากจะชนะเสียง ส.ว. พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยต้องได้คะแนนเสียง 300 เสียงขึ้นไป จะให้ชัวร์ควรได้ 320 เสียงด้วยซ้ำ ซึ่ง พรรคเพื่อไทยเคยได้ 377 เสียงมาแล้ว

 

ถ้ามองตัวเลขตรงนี้จะเห็นว่าการเสนอโมเดลแลนด์สไลด์ ไม่ใช่เพราะกระหายอำนาจ แต่เพราะต้องการเสียงที่มากพอจะปิดสวิตช์ ส.ว.

หากปิดสวิตช์ ส.ว.สำเร็จ สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการแก้ไขกติกาที่เป็นมรดกหรือผลพวงของการรัฐประหาร พร้อมๆ กับการเร่งมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่เป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า

โจทย์แลนด์สไลด์ เป็นโจทย์ที่เพื่อไทยฝากให้โหวตเตอร์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งสติคิดให้ดีๆ ว่า เป้าหมายของการเลือกตั้งครั้งนี้คือเลือกให้ชนะขาด เลือกเพื่อสะสางมรดกพกห่อของการรัฐประหาร

พูดง่ายๆ คือ ทุกๆ คะแนนที่โหวตเตอร์ลง ต้องลงให้กับคนที่มีโอกาส “ชนะ” สูงสุดเท่านั้น เพราะขืนลงคะแนนสะเปะสะปะ ลงคะแนนเพื่อสนองอีโก้ของตัวเอง ลงคะแนนเอาความเท่ ความคูล หรือแม้แต่ไปกาบัตรเสีย ก็ต้องคิดให้ดีว่า ทุกคะแนนที่เสียไปคือคะแนนที่เพิ่มให้กับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ หรือภูมิใจไทยเสมอ

แคมเปญโหวตเพื่อยุทธศาสตร์ แคมเปญโหวตให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ มันจึงไม่ใช่แค่โหวตเพื่อสนองต่อ “รสนิยมทางการเมือง”

แต่เดิมพันของเราคือ จะเอาประยุทธ์ ประวิตร และ ส.ว. ออกจากการเมืองไทยหรือไม่?

ถ้าอยากก็ต้องแลนด์สไลด์ ถ้าจะโหวตเพื่อสะใจที่เห็นเพื่อไทยแพ้ เดิมพันของเราก็คืออยู่กับนายกฯ คนต่อไปที่เชื่อประยุทธ์ หรือประวิตร

 

ทําไมต้องแลนด์สไลด์ที่พรรคเพื่อไทย เราไปเทแลนด์สไลด์ให้พรรคอื่นไม่ได้หรือ?

คำตอบคือ ได้แน่นอน แต่คำถามคือ มีพรรคไหนที่ยืนอยู่ใกล้กับจุดแลนด์สไลด์มากที่สุด?

พรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ได้หรือไม่?

ถ้าตอบแบบไม่รักษาน้ำใจก็คือ ไม่มี พรรคก้าวไกลไม่มีศักยภาพ ทรัพยากรที่จะแข่งขันเพื่อชนะได้จำนวน ส.ส.เขตเท่ากับพรรคเพื่อไทย

และสู้ไม่ได้แม้แต่ภูมิใจไทย หรือพลังประชารัฐ นี่เป็นความจริงที่แม้จะขมขื่น แต่เราก็ไม่อาจจะหนีจากข้อเท็จจริงนี้ได้

พรรคก้าวไกลต้องยอมรับว่าจุดแข็งของพรรคคือ ฐานเสียงที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งหากนับจำนวนแล้วอาจจะยังไม่ใช่ “เสียงส่วนใหญ่” หรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น ในฐานะโหวตเตอร์ เราก็ต้องคิดให้ดีๆ ว่า เราจะโหวต “ตามศักดิ์ศรี” แล้วจบลงด้วย พลังประชารัฐ ปชป. ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ได้เป็นรัฐบาล

หรือเราจะวางอีโก้ของเราชั่วคราวแล้วมองว่า ส่งพรรคที่มีความเป็นไปได้สูงสุดไปคว้าชัยชนะให้ถล่มทลาย เอาเครือข่ายรัฐประหารออก แก้ไขกติกา ซ่อมแซมสังคมไปอีก 4 ปี

จากนั้นมาวัดกันอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วดูว่าประชาชนจะเลือกใคร?

 

ฉันไม่เชื่อเรื่องพลังใหม่ และพลังเก่า เพราะคำว่า เก่า ไม่ได้แปลว่า “ไม่ดี” เสมอไป

คำว่า “ใหม่” ก็ไม่ได้แปลว่า “ดี” เสมอไป

ถึงที่สุดแล้ว ฉันก็ไม่แน่ใจว่า นิยามของคำว่าพลังเก่า กับพลังใหม่นั้นคืออะไร?

เอาอะไรมาวัดความเก่ากับความใหม่?

หรือเก่าคือ ประชาธิปไตยแบบเหมาะสม และใหม่คือประชาธิปไตยแบบ extreme? อย่างที่เพิ่งเป็นประเด็นกัน?

เก่าคือไม่แตะ 112 ใหม่คือแตะ 112? – อันนี้ไม่รู้จริงๆ

ตรงกันข้ามคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต่างหากที่ชัดเจน สะท้อนจุดยืน อุดมการณ์ว่า พรรคการเมืองนี้ต่อต้าน คัดค้านการรัฐประหาร ยืนยันให้ประเทศอยู่ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง

ส่วนในรายละเอียดนั้นให้ประชาชนเลือกและตัดสินว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบซ้าย หรือแบบขวา จะเอาสังคมนิยม หรือจะเอาเสรีนิยม

ดังนั้น โจทย์เฉพาะหน้าที่สุดของคนที่อยากออกไปจากอำนาจ เครือข่าย รูปแบบการเมืองที่เป็นมรดกของการรัฐประหารปี 2557 คือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

และคะแนนที่ปลอดภัยที่สุดคือ 300 เสียงขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้คือ เสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐบาลผสม หรือแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐบธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การมีเสียงข้างมากแบบทิ้งห่างจากฝ่ายค้านมากก็จะการันตีว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่า

แต่ทั้งหมดนี้ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองใดๆ ก็ไปบังคับขืนใจประชาชนให้เลือกไม่ได้

 

พรรคเพื่อไทยเสนอตัวว่า เป็นพรรคที่พร้อมที่สุด และโปรดให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเอา ส.ว.ออก เอาประยุทธ์ออก เอาประวิตรออก พวกนั้นออกไปแล้ว แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เลือกตั้งอีกครั้ง ค่อยว่ากันไปตามธรรมชาติ

หรือจะกดดันให้เพื่อไทยยุบสภาหลังจากจบภารกิจการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารแล้วประกาศเลือกตั้งใหม่ภายในปีที่สามของการเป็นรัฐบาลก็ยังได้

เสนอทางออกเท่าที่เห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุด แต่ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย อยากโหวตตามธรรมชาติ ตามใจตามรสนิยม ความเชื่อความชอบเหมือนเดิม ก็ไม่มีใครไปบังคับใครได้ นอกจากยอมรับผลที่จะตามมา ไม่ว่าผลนั้นจะคืออะไรก็ตาม

ส่วนคำถามเรื่องการจะจับมือกับใครหรือไม่จับมือกับใครหลังการเลือกตั้ง สำหรับฉันเป็นคำถามที่ไร้สาระ และไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ เว้นแต่ว่า การประกาศนั้นเป็น “จุดขายเดียว” ที่พรรคการเมืองนั้นมีอยู่ จึงต้องใช้มันในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการตลาด

พรรคที่มั่นใจในนโยบายของตัวเองว่าดีพอที่จะให้ประชาชนเลือก จะไม่สำคัญตัวเองผิด ลุกไปประกาศว่าฉันจะจับมือใคร ไม่จับมือใคร เพราะเราต้องให้เกียรติเสียงของประชาชนจนกว่าเสียงนั้นจะปรากฏออกมาเป็นคะแนนและเป็นจำนวน ส.ส.

เพราะท้ายที่สุด เราอาจจะมีคะแนนน้อยเสียจนไม่มีใครเห็นหัวเราเลยก็เป็นได้

 

พรรคเพื่อไทยมีสิทธิเสนอให้เสียงดังที่สุดว่าเราต้องการ 320 เสียงเพื่อจะทำอะไรบ้าง?

แต่จะได้หรือไม่? มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะให้คำตอบ

ดังนั้น คำตอบว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับประชาชนเท่านั้นจึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะสุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าสมการหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรคือประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมือง

ส่วนพรรคก้าวไกล ด้วยจุดยืน อุดมการณ์ที่วางไว้เป็นพรรคที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนชั้นกลางในเมือง คนหนุ่มสาว เสรีนิยม หัวก้าวหน้า หากยังคงมั่นคงในอุดมการณ์ ทำการเมืองเพื่อขยายแนวร่วม ในอนาคตอันใกล้ก็ย่อมเป็นพรรคการเมืองเป็นความหวัง เป็นสถาบันที่เข้มแข็งได้ด้วยการพิสูจน์ตัวเองกับประชาชนด้วยผลงานและความสม่ำเสมอ

ไม่มีหรอกพลังเก่า พลังใหม่ ประชาธิปไตยไม่มี more than and better

แค่สู้กันในสนามการเลือกตั้ง สู้กันในสภา – จะเก่าหรือใหม่ ก็ให้ประชาชนตัดสิน