คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ไม่มีพระพรหมและพระคเณศในพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรี

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งไปไหว้ครูดุริยางค์ไทย ที่ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผมไปทุกปีด้วยเหตุแรกคือ จะได้ไปไหว้ “ผี” เป็นการเชื่อมโยงตนเองกับผีพราหมณ์พุทธในช่วงเวลาพิธีกรรมอันเป็นช่วง “พิเศษ”

ซึ่งไม่มีพิธีอะไรอื่นที่จะเห็น “ภารตะ-สยาม ผีพราหมณ์พุทธ” ชัดเท่าพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรีอีกแล้ว

ทั้งยังจะได้สมาลาโทษหากไปล่วงเกิน “ครู” ไม่ว่าจะในข้อเขียนหรือในทางไหนๆ อีกได้สัญญากับครูผู้ประกอบพิธีคือ ท่านอาจารย์นัฐพงศ์ โสวัตร (ครูเฉียบ) ไว้ว่า ครูยังไปไหว ผมก็จะไป เจอกันที่เชียงใหม่ปีละครั้ง

ไปไหว้ครูแล้ว นอกจากความสบายอกสบายใจ ยังถือเสมือนได้ “ลงพื้นที่” ไปศึกษาหาความรู้จากของจริงโดยมีครูท่านเมตตาตอบคำถามให้ทุกอย่าง ไม่มีปิดบัง

กราบขอบพระคุณคุณครูมา ณ ที่นี้

 

ตําราไหว้ครูของครูเฉียบเป็น “ฉบับหลวง” กล่าวคือ เป็นฉบับที่ใช้กันในกรมศิลปากร ท่านรับมอบตำราเพื่อเป็นผู้ประกอบพิธีจากครูมนตรี ตราโมท

ครูมนตรี ตราโมท ได้รับมอบตำราจากท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และท่านครูพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านได้รับจากครูมี (แขก) มาอีกทอดหนึ่ง โดยครูมนตรีได้นำสองฉบับมารวมเข้าด้วยกัน ทั้งปรับแต่งโองการไหว้ครู รวมถึงเปลี่ยนแปลงเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครูไปจากเดิมบ้าง

ที่สำคัญสมัยที่ท่านครูอาคม สายาคม เสียชีวิตกะทันหัน ฝ่ายโขนละครขาดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูสายหลวง ครูมนตรีจึงต้องทำหน้าที่ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูแทน ในครั้งนั้นท่านได้แต่งบทไหว้ “พระภรตมุนี” คือครูฝ่ายละครขึ้นใหม่ (โอม พระภรตมุนี มหาฤๅษีผู้ทรงญาน รับเทวโองการจากพระมหาพรหม…) เพิ่มเติมไปในคำไหว้ครูที่ท่านมีอยู่

ท่านจึงเป็นผู้เดียวที่ทำพิธีครอบได้ทั้งโขนละครและดนตรีไทย

 

พวกโขนละครกับทางดุริยดนตรีนั้นแยกกันไหว้ครูเป็นคนละพวก แม้เทพยเจ้าจะเป็นเทพยเจ้าเดียวกันหรือคล้ายๆ กัน (อาจเน้นบางองค์ต่างกันไป) แต่มีรายละเอียดหลายอย่างต่างกัน

พิธีของทางฝ่ายโขนละครนั้น ในสมัยรัตนโกสินทร์มีบันทึกที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เนื่องจากได้ทำเป็นพิธีหลวง (อาจเพราะโขนเป็นราชูปโภค แต่ดนตรีนั้นไม่หวงห้าม ชาวบ้านจึงทำไหว้ครูกันเองด้วย) เป็นต้นว่าพิธีไหว้ครูในสมัยรัชกาลที่สี่ก็แตกต่างจากในสมัยรัชกาลที่หกและแตกต่างกับในสมัยปัจจุบัน เช่น ไม่ได้ทำเสากลางโรงละครเพื่อพิธีบางอย่าง หรือครูผู้ทำพิธีไม่ได้นั่งขันสาครแล้ว

ฝ่ายดนตรีอาจมีความซับซ้อนในเชิงพิธีกรรมและความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า เป็นต้นว่า ครูผู้อ่านโองการนั้นอ่านโองการสลับกับการเรียกเพลงหน้าพาทย์ โดยไม่ต้องรำเพลงหน้าพาทย์ ไม่มีการสรงน้ำเทวรูปพระไสยศาสตร์ ฯลฯ

ในพิธีฝ่ายดนตรี หัวโขนที่นำเข้ามาในพิธีไหว้ครู ผมสันนิษฐานว่าคงได้มาจากอิทธิพลของการไหว้ครูโขนละคร เพราะหัวใจของพิธีไหว้ครู (ซึ่งพัฒนามาจากเซ่นผี ที่สิงข้าวของทางช่างวิชาชีพของตัว) จะต้องไหว้ของประจำวิชาชีพของตน ฝ่ายละครเขาจึงต้องไหว้เครื่องโรงและหัวโขนต่างๆ ส่วนฝ่ายดนตรีก็ไหว้เครื่องดนตรีเป็นหลัก โดยเฉพาะ “ตะโพน” ต้องตั้งสูงกว่าเครื่องดนตรีอื่นและมีมัดอกเป็นผ้าขาวแสดงถึงความเคารพอย่างสูง

บางท่านว่าตะโพนแสดงถึงความเชื่อมโยงกับเครื่องดนตรี “แขก” คือกลองที่ใช้หนังรัดอย่างมฤทิงค์ นอกนั้นแล้ว เครื่องดนตรีอื่นๆ เกือบทั้งหมดเป็นของพื้นเมืองทั้งสิ้น ตะโพนจึงอยู่ในสถานะศักดิ์สิทธิ์กว่าของอื่น เพราะเป็นครู (คือวัฒนธรรมอินเดีย) แม้ในการบรรเลงก็นับถือตะโพน ถือกันว่าเป็นพระปรคนธรรพ หรือจอมคนธรรพ์

ความคิดอันนี้ผมลงด้วย แต่อยากคิดต่ออีกว่า หรือที่จริงในวัฒนธรรมพื้นเมืองเราเองก็เคารพบูชากลองชนิดต่างๆ อยู่แล้ว เช่น กลองในชุมชนอันเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ ครั้นรับคติครูจากอินเดียมาผสมด้วย ความหมายของกลองเดิมจึงยิ่งสูงส่งขึ้นอีก?

 

สมัยก่อนหัวโขนของพิธีไหว้ครูคงมีเพียงพ่อแก่ฤษี ในความหมายถึง “พระปรคนธรรพ” (หัวโขนพระปรคนธรรพที่มีในพิธีไหว้ครูทุกวันนี้ น่าจะประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่หก) และ “พระพิราพ” เท่านั้น

เพราะในโองการถวายเครื่องสังเวย (แบ่งสองข้างเหมือนกันๆ ต่างกันเพียงข้างหนึ่งมังสาหารล้วนดิบคาว) กล่าวถวายแด่พระปรคนธรรพ (พระประโคนธัพ พระประเท อิมัสมิง…) กับพระพิราพ (พระพิราธาสูร อิมังประเท…) เท่านั้น และมีอีกบทที่ถวายเครื่องสังเวยแด่ครูรวมๆ โดยไม่ระบุใครเป็นพิเศษ (อิมัง สูปพยัญชนะ..)

ต่อมา คงได้เพิ่มหัวโขนครูเพิ่มเติมเป็นห้า คือมีพระวิษณุกรรมในฐานะผู้สร้างเครื่องดนตรี (พระวิสสุกรรมผู้เรืองฤทธิ์ ท่านได้ประสิทธิ์สาปสรรค์ เครื่องเล่นสิ่งสารพันในใต้หล้า) พระปัญจสิขรในฐานะครูเครื่องสาย (พระปัญจสิขร พระกรเธอถือพิณ ดีดดังเสนาะสนั่น) และพระปรคนธรรพครูปี่พาทย์ (พระปรคนธรรพ พระครูเฒ่า คุณครูทั้งนั้นเล่า ได้สืบสาวกันมา) รวมกับพ่อแก่และพระพิราพเป็นห้า

ครั้นต่อมาก็รวมเอามหาเทพต่างๆ เข้าไว้ทั้งหมด คือพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร และพระคเณศ เป็นเก้าหัวโขนหลัก

 

กระนั้น ในโองการไหว้ครูฉบับเก่าทั้งของดนตรีไทยและโขนละคร ไม่มีการกล่าวถึงพระพรหมและพระคเณศแต่ประการใด (อนึ่ง ข้าฯ จะขอไหว้ พระอิศวร พระนารายณ์ เทวดาทั้งหลาย ทั้งบิดาและมารดา…)

ในบทไหว้ครูนี้ การเรียกเพลงหน้าพาทย์ของมหาเทพ จึงเรียกเฉพาะเพลงของพระนารายณ์และพระอิศวร คือตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ บาทสกุณี (เสมอตีนนก คือการเคลื่อนไหวของครุฑ) และโคมเวียน (เทวดามากันเป็นกลุ่มคณะใหญ่ยามเมื่อเทพผู้เป็นใหญ่เสด็จ ในที่นี้คือพระอิศวร)

หัวโขนพระพรหมและพระคเณศจึงนำมาตั้งไว้เฉยๆ โดยไม่มีการกล่าวถึง ไม่มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีกรรม

ทั้งๆ ที่คนสมัยใหม่เวลานึกถึงครูทางศิลปะและดนตรีนาฏศิลป์ ก็มักนึกถึงพระคเณศเสมอ

ผมคิดว่าการไหว้ครูโดยเฉพาะทางดนตรีในสายหลวงนั้นยังคงรักษามโนทัศน์และองค์ความรู้เกี่ยวกับฮินดูอย่างเก่าเอาไว้

หมายถึงองค์ความรู้ทางพราหมณ์ ฮินดูสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนการเปลี่ยนแปลงความรู้ในสมัยรัชกาลที่หกเป็นต้นมา

ซึ่งประการแรก พระพรหมไม่ได้มีความสำคัญในระบบพราหมณ์ฮินดูสยาม ที่เน้นความสำคัญของพระอิศวรและพระนารายณ์ เป็นหลัก

พราหมณ์สยามสองพวก คือพราหมณ์พิธีนับถือพระอิศวร พราหมณ์พฤฒิบาศก์ (ถูกเกณฑ์) ให้นับถือพระนารายณ์ (ที่จริงแล้วพวกพฤฒิบาศก์ถือผีครูปะกำ) ไม่มีใครนับถือพระพรหม

โบสถ์พราหมณ์เพิ่งจะมีเทวาลัยพระพรหมไม่กี่สิบปีมานี้เอง

ผมเข้าใจว่านอกจากนี้ พระพรหมในสังคมไทยยังมีสถานะไม่แน่นอน เพราะถูกนำไปผสมปนเปกับพรหมในพุทธศาสนา เวลากล่าวถึงพรหมจึงไม่มีใครนึกไปถึงพระพรหมตามคติฮินดูที่สร้างโลก

 

ส่วนพระคเณศนั้น คติเก่าของเราไม่ได้นับถือเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาแต่อย่างใดแต่นับถือในกิจกรรมเกี่ยวกับ “ช้าง” คือเป็นครูของพวกหมอช้าง “พระเทวกรรม”

คติว่าพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะเพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่หกนี่เองครับ ดังนั้น ผมเข้าใจว่าการมีหัวโขนพระคเณศในพิธีไหว้ครูเพิ่งมีมาในสมัยหลังรัชกาลที่หก ซึ่งมีการประดิษฐ์หัวโขนใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ความรู้ทางภารตวิทยาเพิ่มขึ้น ผมเข้าใจว่าบางสายสำนักไหว้ครูจึงเริ่มมีคำบูชาพระคเณศ พระพรหมหรือแม้แต่เทวีต่างๆ ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งหน้าพาทย์ใหม่ๆ ด้วย

ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่สิ่งผิดเพราะถือกันว่าครูผู้ประกอบพิธีย่อมมีสิทธิ์ปรับเปลี่ยนพิธีไหว้ครูได้

คงต้องดูกันต่อไปครับว่าพิธีไหว้ครูจะเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ในโลกสมัยใหม่