คณะทหารหนุ่ม (28) | รัฐบาลหอยขวาจัด เชื้อไฟพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ความคิดทหารประชาธิปไตย

ถ้าจะนับเวลาตั้งแต่การเริ่มต้นการออกอากาศบทความเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เมื่อปี พ.ศ.2509 จนถึงการออกแถลงการณ์ฉบับแรกของทหารประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม พ.ศ.2521 แล้ว

ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นเวลาถึง 12 ปีที่อิทธิพลทางความคิดของบุคคลนี้กว่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างเปิดเผยโดยนายทหารกลุ่มหนึ่งในกองทัพที่เรียกตัวเองในเวลาต่อมาว่า “ทหารประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลทางความคิดของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ที่มีต่อความคิดของทหารประชาธิปไตยซึ่งแม้จะให้ความเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวยกย่องให้เป็น “อาจารย์” เช่นเดียวกับตำรวจสันติบาล แต่ก็มิได้หมายความว่าทหารประชาธิปไตยจะรับเอาความคิดของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มาทั้งหมดโดยปราศจากการไตร่ตรองแต่อย่างใด

แต่นายทหารที่อยู่ในกลุ่มทหารประชาธิปไตยเห็นว่าความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เสนอโดยประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีประโยชน์ในการนำมาปรับปรุงใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้สงครามประชาชนกับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา จนถึง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 อุดมการณ์ประชาธิปไตยตกเป็นฝ่ายรับต่อการรุกของอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์อยู่ตลอดเวลาและอ่อนกำลังลงทุกขณะ

จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ปัญญาชนนิสิตนักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา ได้เข้าร่วมกับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากเป็นประวัติการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถขยายแนวร่วมได้อย่างกว้างขวาง

การจัดตั้งรัฐบาลที่มีนโยบายขวาจัดสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเอื้ออำนวยให้กับการปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น

ฝ่ายทหารเองก็มีส่วนอย่างสำคัญในการต่อต้านขบวนการนิสิตนักศึกษา ฝ่ายทหารจึงถูกมองอย่างยากที่จะปฏิเสธว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนระบอบ “อำนาจนิยม” และทำลายประชาธิปไตยด้วยการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการปฏิวัติรัฐประหารเป็นระยะๆ เรื่อยมา

ในฐานะที่ฝ่ายทหารมีภารกิจหลักในการต่อสู้ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฝ่ายทหารจึงตกอยู่ในสภาพยากลำบาก เพราะรัฐบาลนายธานินทร์ที่ฝ่ายทหารเป็น “เปลือกหอย” ให้ความสนับสนุนคุ้มครองอยู่กลับทำให้สถานการณ์ในการสกัดกั้นอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลวร้ายลงไปอีก

 

ความคิดนายทหารเสนาธิการ

นายทหารฝ่ายเสนาธิการซึ่งทำงานด้านการเมืองในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นกลุ่มนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เริ่มตระหนักว่าการปกครองในระบอบเผด็จการอํานาจนิยมที่คับแคบเป็นภยันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

พวกเขานึกถึงคุณประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยจากการสัมผัสกับปัญหาคอมมิวนิสต์ซึ่งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นภัยอันร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ

จากจุดสนใจที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติซึ่งเป็นภารกิจหลักของทหารนี่เองทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งเริ่มศึกษาค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาหลักของชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะแนวความคิดของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

จนได้ข้อสรุปว่าปัญหาของชาติจะต้องแก้ไขด้วยการปรับระบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

อุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองในการต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าอุดมการณ์และการปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นและแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว

เพราะสังคมไทยมีปัญหาหลักคือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่แก้ไม่ตกมาเป็นเวลานานและพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้อาศัยเงื่อนไขนี้หล่อเลี้ยงให้ขบวนการคอมมิวนิสต์เติบโตกล้าแข็งได้มากขึ้นเป็นลำดับ

 

อินโดจีน สายลมที่พัดกลับ

ไม่เพียงแต่ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองในประเทศซึ่งผูกพันโดยตรงกับปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้น

ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้แก่ปัญหาความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระดับสากลและในระดับภูมิภาคซึ่งมหาอำนาจกำลังแข่งขันกันสร้างอิทธิพลของตนและสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอีกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับระหว่างจีนกับโซเวียตและจีนกับเวียดนาม ปัญหาเหล่านี้ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงของไทยโดยตรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เวียดนามได้รุกเข้าไปในกัมพูชาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงและประสบความสำเร็จในการยึดครองกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2521 มีผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐแนวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียนในการเผชิญหน้าทางทหารกับเวียดนาม

ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ.2518 คนไทยทั้งประเทศก็เกิดความหวั่นไหวอย่างหนักเมื่อฝ่ายสังคมนิยมประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับไทยในช่วงเวลาก่อนหน้ามาโดยตลอด

และยิ่งเกิดความเครียดมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามซึ่งนำไปสู่การส่งกำลังทหารขนาดใหญ่ของเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2521 ทำให้กำลังของเวียดนามตั้งประชิดชายแดนไทย และเกิดการปะทะกันขึ้นบ่อยครั้ง

ฝ่ายเวียดนามถึงกับประกาศว่าจะบุกกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า ไทยตกเป็นรองทางด้านอำนาจกำลังรบอย่างเห็นได้ชัด

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่การเมืองไทยยังอยู่ในความไม่แน่นอนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศหลังโค่นล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520

ท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้จึงนำไปสู่กระแสความคิดในหมู่นายทหารกลุ่มหนึ่งที่ต้องการวิเคราะห์สภาพของปัญหาให้ชัดเจนและถูกต้องเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขหรือผ่อนคลายปัญหาทั้งปัญหาภายในคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และปัญหาภายนอกคือปัญหาอินโดจีนซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า และทั้งสองปัญหานี้ มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติโดยตรง

การตระหนักในภยันตรายต่อความมั่นคงของชาติทั้งภายในและภายนอกซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกนี้เป็นปัจจัยหลักผลักดันให้เกิดกลุ่ม “ทหารประชาธิปไตย” ขึ้น

 

WIND OF CHANGE

หลังความสำเร็จในการรวมชาติของเวียดนาม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองกัมพูชาและลาวเมื่อ พ.ศ.2518 เวียดนามก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในการสร้างความกดดันต่อจีนอย่างเปิดเผย และแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับระหว่างสหรัฐและจีนหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันเมื่อ พ.ศ.2516 ตามมาด้วยการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ.2518 ยิ่งทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

แม้หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปลายปี พ.ศ.2520 ท่าทีของเวียดนามจะผ่อนคลายลง ผู้นำของทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยียนกันหลายครั้ง ติดตามด้วยคำแถลงการณ์ของทั้งสองประเทศที่สะท้อนท่าทีความต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ตาม

แต่ทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นหน้ามือหลังมือ เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2522