“ยุติ”โดย”ธรรม”อย่างไร | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

“ยุติ”โดย”ธรรม”อย่างไร

 

กรณี อัน หยู ชิง นักท่องเที่ยวไต้หวัน กับ กรณี ตะวัน-แบม น่าจะเป็นคนละเรื่อง

แต่ จริงแล้ว เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกันอย่างน่าพิจารณา

กรณี อัน หยู ชิง อย่างที่ทราบ เกี่ยวเนื่องกับ”บุหรี่ไฟฟ้า”

บุหรี่ไฟฟ้า ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา

อะไรอันตรายกว่ากัน

แต่บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”ฉกรรจ์”ไปแล้ว

และความฉกรรจ์นี้ นำไปสู่ การแสวงหาประโยชน์ของคนในกระบวนการยุติธรรม อย่างที่เกิดขึ้นกับ อัน หยู ชิง

หรือแม้จะไม่มีการแสวงหาประโยชน์

แต่แค่ถูกดำเนินคดีไปตามเนื้อผ้า

บุหรี่ไฟฟ้าก็อาจทำให้เราเข้าคุกได้ง่ายๆ

เราไม่อาจเรียกร้องให้มีการใช้ดุลยพินิจเพื่อเปรียบเทียบพิษภัยกับบุหรี่ปกติ หรืออาจเลยเถิดไปถึงกัญชาที่วันนี้ผ่อนปรนจนแทบจะเป็นสมุนไพรไปแล้ว

ดังนั้นหากเป็นผู้ต้องหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ทุกข์หนักแน่ๆ

เผลอๆพลั้งพลาดนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ นอกจากอาจเจอโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีแล้ว

ยังอาจถูกเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ใช้ดุลยพินิจชี้ว่านี่เป็นคดีที่มีโทษหนัก

เลยไม่ให้ประกันตัว ต้องถูกจำคุกระหว่างรอคำตัดสินกันอีกนาน

นี่คือสิ่งที่เรามีสิทธิเผชิญ และชวนให้ตั้งคำถาม

ตั้งคำถาม เช่นเดียวกับ คดีความมั่นคง โดยเฉพาะที่สืบเนื่อง กับมาตรา 112 และ116

ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษหนักมาก

และเปิดให้คนในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำใช้ดุลยพินิจได้กว้างขวางด้วย

อย่างที่เราทราบกันดี คดีความมั่นคง ส่วนใหญ่เป็นคดีทางการเมือง ที่หลายกรณีเป็นเรื่องอุดมการณ์ ความคิด จุดยืน ที่แตกต่างกัน

ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นและจุดยืนนั้นได้

แต่ด้วยสภาพบ้านเมืองที่แตกเป็นหลายขั้ว

และด้วยสังคมที่มีพลวัตรตลอดเวลา เกิดคนรุ่นใหม่ แนวคิดใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ ทำให้มุมมองต่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่เคยเห็น”ร่วมกัน”เปลี่ยนไป

เกิดการตั้งคำถาม เกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูป หรืออาจจะสุดขั้วถึงขั้น”เปลี่ยน”

จึงนำไปสู่การเผชิญหน้าของฝ่ายที่ต้องการให้คงเอาไว้ตามเดิม กับฝ่ายที่ต้องการให้มีการถอดรื้อ

ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า นี่มิใช่ ความขัดแย้ง

แต่เป็นความขัดแย้ง ที่ควรจะหาทางออก ประนีประนอม ตามระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่มีฝ่ายใดได้หรือเสีย100%

การต่อรองต้องดำเนินไปตลอดเวลา

ไม่อาจใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งอย่างแข็งตัว

เช่นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยๆ”ว่าไปตามกฏหมาย”

แม้ฟังดูดี แต่ก็สร้างปัญหาไปพร้อมๆกัน

ฝ่ายที่กุมอำนาจ ที่มองฝ่ายที่เห็นต่างเป็น”ศัตรู” ต้องกำจัดไป

ทำให้การแสดงความเห็น การแสดงออกทางสัญลักษณ์ หรือการชุมนุม ถูกมองว่าเป็นการคุกคาม

ซึ่งก็มีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กดดันให้คนในกระบวนการยุติธรรมงัดกฎหมายตั้งแต่เบาสุดไปถึงหนักสุดอย่างมาตรา112และ116 ขึ้นมาใช้กับฝ่ายเห็นต่างอย่างเต็มที่

ทั้งที่ในบางกรณี มีคำถามว่าเข้าข่ายผิด”ร้ายแรง”ขนาดนั่นเลยหรือ

ซึ่งเมื่อตั้งข้อหาฉกรรจ์ไปแล้ว ย่อมกระทบไปทั้งขบวน เช่นการประกันตัว การสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง

ที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อทวงสิทธิพื้นฐานนั้น

กรณีอดข้าวของ”ตะวัน-แบม”ก็มาจากกรณีนี้

แน่นอนมันสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่จำต้องหาทางออกร่วมกัน

มิเช่นนั้น จะนำไปสู่ภาวะแตกหัก ที่ยากจะกู้คืนได้

และเฉพาะหน้านี้ หวังว่ากรณีเร่งด่วน”ตะวัน-แบม”จะหาทางออก”ร่วมกัน”ได้ก่อน

จากนั้นคง ต้องหาทาง”ยุติ” ปัญหาที่หมักหมม โดย”ธรรม”ต่อไป

———————-