ลุงไพโรจน์ ผู้ชุมนุมร่วมกิจกรรม ยืนหยุดขัง หน้าศาลอาญาฯ หัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิต

ประชาชน-นักกิจกรรม จัดกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” โดยเดินทางจากเมเจอร์รัชโยธิน ไป ศาลอาญา ยื่นหนังสือขอสิทธิการประกันตัวเพื่อนทุกคน สลด หนึ่งในผู้ชุมนุมหัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลา 09.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร กลุ่มทะลุฟ้า นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” โดยเดินทางไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งหมด โดยจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีสยามไปยังสถานีรัชโยธิน เพื่อรวมตัวกับผู้ทำกิจกรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน

เวลา 09.00 น. นายจตุภัทร์กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้จัดเพื่อส่งพลังให้กับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม รวมไปถึงญาติและทนายความว่าพวกเรายังอยู่ข้างตะวันและแบม และอยากให้ศาลทราบว่าไม่ได้มีแค่ญาติตะวันและแบมแต่ยังมีพวกเราที่จับตาเรื่องนี้ด้วย

“หวังว่าวันนี้จะมีการเจรจาพูดคุยรับฟังหรือปล่อยนักกิจกรรมทางการเมือง และหลังจากยื่นประกันตัวนักกิจกรรมแล้ว ทางกลุ่มทะลุฟ้าจะอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้องจากนั้นจะกลับมารอฟังผลที่หน้าหอศิลป์ในช่วงเย็น และหลังจากทราบผลจะประกาศแนวทางอีกครั้ง” นายจตุภัทร์กล่าว

จากนัันเวลา 09.18 น. กลุ่มผู้ทำกิจกรรมได้เริ่มออกเดินไปยังสถานีสยามเพื่อเดินไปสถานีรัชโยธิน โดยกลุ่มมวลชนได้ถือดอกทานตะวันพร้อมห้อยป้ายภาพหน้านักกิจกรรมที่ถูกคุมขังเพื่อสื่อถึงตะวัน แบม และนักกิจกรรมทางการเมืองที่ยังไม่ถูกปล่อยตัว

เวลา 09.53 น. ผู้ทำกิจกรรมเดินขบวนออกจากสถานีรัชโยธินมายังหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธินเพื่อสมทบกับผู้ร่วมกิจกรรมที่รออยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยตลอดการเดินขบวนผู้ทำกิจกรรมตะโกนว่า “คืนสิทธิการประกันตัว” ตลอดทาง

จากนั้นเวลา 10.00 น. เมื่อผู้ทำกิจกรรมเดินมาถึงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน นายจตุภัทร์กล่าวว่า จะเริ่มเดินไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 10.15 น.

10.10 น. กลุ่มผู้ทำกิจกรรมเริ่มเดินขบวนจากหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน

กระทั่ง 10.18 น. ขณะผ่าน สน.พหลโยธิน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 6-7 นาย ยืนอยู่บริเวณหน้า สน. พร้อมใช้ลวดหนามหีบเพลงกั้นทางเข้า สน.ไว้

แถลงการณ์ประชาชน “ยื่น หยุด ขัง”  เรียกร้องขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง

ในวันที่ 29 มกราคม 2566 นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารและน้ำจนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นการอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน

โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการ คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ไม่น้อยกว่า 16 คน

พวกเราประชาชนผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” เห็นว่า สิทธิในการประกันตัวหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้ โดยบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
อีกทั้ง ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังกำหนดว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นและต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวของศาลจึงต้องคำนึงถึง หลักกฎหมายและปรากฎข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนที่ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” จึงขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่ง นิติรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลให้การรับรอง โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

2. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

พวกเราประชาชนผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” ขอเรียนต่อศาลว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้มิได้เป็นการกดดัน การปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือกระทำการอันเป็นแทรกแซงการพิจารณาคดีที่ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรมของศาล แต่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและตึงเครียด ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันตุลาการจะเป็นเสาหลัก นำพาความยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง

เราเชื่อว่า หากสถาบันตุลาการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน สถาบันตุลาการย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข
ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ระหว่างที่กิจกรรมเสร็จสิ้นและกำลังมีการเดินทางกลับ มีรายงานหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมได้เป็นลมล้มลง ผู้ชุมนุมที่เป็นอาสาพยาบาลจึงไปช่วยปฐมพยาบาล ก่อนนำตัวผู้ป่วย ขึ้นส่งโรงพยาบาล ล่าสุดมีรายงานว่า ผู้ชุมนุมดังกล่าวเสียชีวิต

ต่อมาเพจทะลุฟ้า ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “วันนี้ คุณลุงไพโรจน์ ได้มาร่วม ยื่นประกันตัวนักโทษทางการเมือง คืนสิทธิประกันตัว ขณะที่อยู่หน้าศาลฯ คุณลุงได้ล้มลงหมดสติ เบื้องต้นตอนนี้ทราบว่าคุณลุงได้เสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน”

“ลุงไพโรจน์ เป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และเข้าร่วมในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ ในวันนี้ก็เช่นกัน ขอแสดงความเสียใจและขอแสดงความนับถือคุณลุงไพโรจน์ ด้วยจิตคารวะ แด่ผู้ที่ถูกกดขี่ และลุกขึ้นมาต่อสู้ จนวาระสุดท้าย  ด้วยจิตคารวะ” กลุ่มทะลุฟ้า ระบุ

เช่นเดียวกับ นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “ลุงไพโรจน์ ออกมาเดินปล่อยนักโทษการเมืองจากรัชโยธิน-ศาลอาญาวันนี้ ระหว่างที่ทนายเข้าไปยื่นประกัน ลุงหมดสติ ล้มลง และเสียชีวิตแล้ว”

“ผมไม่แน่ใจว่าลุงไพโรจน์คิดอะไรก่อนตายถึงออกมาต่อสู้ร่วมกับคนรุ่นใหม่ แต่คงเป็นความคิดที่งดงาม อิ่มเอม และเป็นกำลังใจให้เราต่อสู้ต่อไป ถ้าดวงวิญญาณของลุงรับรู้ ขอให้ลุงช่วยดูแลแบมและตะวันให้ปลอดภัย ให้ทั้งสองรักษาชีวิตเอาไว้ บอกเขาว่าลุงทำดีที่สุดแล้ว”  อานนท์  ระบุ