มองบ้านมองเมือง ปริญญา ตรีน้อยใส / ทำไมไม่ได้เป็นเมืองมรดกโลก

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ทำไมไม่ได้เป็นเมืองมรดกโลก

ด้วยความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม ทำให้ปีนังหรือจอร์จทาวน์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2538

ไม่รู้ว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการไม่รู้ไม่เห็น หรือว่าอีกหลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีสภาพคล้ายกัน

โดยเฉพาะภูมิทัศน์เมืองที่ประกอบด้วย ตึกแถวสองชั้น เรียงรายสองฝั่งถนนแคบๆ นั้น ปรากฏอยู่เกือบทุกเมืองในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เวียดนาม ไปจนถึงสิงคโปร์ ตั้งแต่พม่า ไปจนถึงอินโดนีเซีย

ตึกแถวที่เว้นทางเดินด้านหน้า มีหลังคาคลุม และตึกแถวที่ตกแต่งด้านหน้า ด้วยลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง ที่บางคนเรียกขานว่า ชิโนโปรตุกิส ก็มีให้เห็นทั่วไปในเมืองทางฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ระนอง ไปจนถึงสิงคโปร์

ยังมีตึกแถวที่รูปแบบคล้ายกัน ปรากฏในเมืองต่างๆ สองฝั่งแม่น้ำโขง

เช่นเดียวกับตึกแถวที่มีการพัฒนารูปแบบอื่น เนื่องจากความนิยม ก็มีให้เห็นเกือบทุกเมืองในไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย

หรือจะเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่สร้างยื่นออกไปในทะเล เพิงไม้ก่อสร้างกลางน้ำ เรียงรายสองข้างทางเดินไม้กระดาน หมู่เรือนไม้แบบนี้จะพบเห็นทั่วทุกแห่งหนในเอเชียอาคเนย์ หากอยู่ริมทะเล ริมแม่น้ำ หรือริมหนองคลองบึง ไปจนถึงกลางทุ่งหรือชายป่า

แต่คงเป็นเพราะคนปีนัง รู้และเข้าใจในสิ่งเท่าที่มี สามารถไปอวดอ้างจนได้รับการพิจารณา เป็นเมืองมรดกโลก

ซึ่งตรงข้ามกับคนไทย ที่มองไม่เห็นว่า ตึกแถวและเพิงไม้มีคุณค่า

คงเป็นเพราะนักวิชาการไทย ยึดมั่นกับตำราฝรั่ง เลยให้ร้ายป้ายโทษตึกแถวที่มีอยู่ว่า ขนาดเล็ก คับแคบ ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย

ยิ่งมีการใช้ชั้นล่างทำมาค้าขายประกอบกิจการต่างๆ ย่อมขัดแย้งการอยู่อาศัยชั้นบน และไม่ถูกหลักอนามัย

ตึกแถวเมื่อเสื่อมโทรม หรือมีการต่อเติมจนรกรุงรัง จนเป็นอันตรายเมื่อเกิดไฟไหม้

ไปจนถึงเชื่อว่า ตึกแถวริมถนนเป็นต้นเหตุของรถติด และก่อให้เกิดปัญหาจราจร เลยจัดประชุมสัมมนาวิชาการ เพื่อให้มีข้อสรุป ให้รื้อทำลายของเดิมทิ้ง และห้ามสร้างใหม่

จนทุกวันนี้ยังมีประกาศบังคับห้ามสร้างตึกแถว

นักวิชาการไทยยังพากันเรียกขาน หมู่บ้านเพิงไม้ที่มีอยู่เดิมแบบฝรั่งว่า สลัมหรือแหล่งเสื่อมโทรม

เพราะถือว่าก่อสร้างด้วยไม้ที่เป็นวัสดุไม่ถาวรตามมาตรฐานประเทศตะวันตก ผู้อยู่อาศัยยังสร้างเอง ไร้แบบแปลนแผนผัง สร้างกันหนาแน่นจนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยแบบฝรั่ง

นักวิชาการช่วยกันทำวิจัยหลายสิบเล่ม ที่นำไปสู่การรื้อทำลาย ด้วยเกรงว่าทำให้ขายหน้าฝรั่งที่มาดูงาน ที่สำคัญผลักดันให้ตั้งหน่วยงานระดับชาติขึ้นมาใหญ่โต ใช้งบประมาณมากมายมาหลายสิบปี

แต่ทำได้แค่ยกระดับหมู่บ้าน ด้วยการทำทางเดินคอนกรีต หรือออกแบบสร้างบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแถว และตึกสูง ที่มีรูปแบบเชยๆ และมีสภาพไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของคนทั่วไป

แต่บังคับว่าเหมาะกับผู้มีรายได้น้อย

ด้วยเหตุนี้ ตึกแถวและหมู่บ้านไม้ที่มีอยู่ทุกเมืองในประเทศไทย จึงมลายหายไป

จนกลายเป็นว่า แต่ละเมืองไม่มีอะไรที่มีคุณค่า พอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกได้เหมือนปีนัง

ส่วนปีนัง เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเมืองมรดกโลก ชาวบ้านช่วยกันเก็บรักษาตึกแถวและเพิงไม้ช่วยกันปรับปรุง ต่อเติม หรือสร้างใหม่แบบเดิม

ช่วยกันโยกย้ายมาอยู่อาศัย มาค้าขาย และเปิดให้เช่าพักแรม

จนกลายเป็นจุดขายหลักของการท่องเที่ยวปีนัง

ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พากันไปดูงานด้วยความตื่นเต้น