จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (23)

พสกนิกรทั่วแผ่นดินต่างต้องการได้ชมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” นอกเหนือจากการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และการรายงานข่าวของสื่อทุกชนิด ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560

รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการฝ่ายบริหารจัดการนิทรรศการ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงเตรียมสนองตอบประชาชนด้วยการจัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560

นิทรรศการจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รวมทั้งประชาชนจะได้เข้าชมพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ ที่จัดสร้างขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ก่อนที่จะต้องรื้อถอนต่อไป

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน

ประชาชนที่ต้องการได้เก็บภาพพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ จัดแสดงในศาลาลูกขุน เนื้อหาแสดงถึงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งสถาปัตยกรรม งานประติมากรรม และจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ด และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ ต้องไม่พลาด

นิทรรศการนี้จะมีการแสดงมหรสพ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) หลายอย่าง โดย นายจุลชาติ อรัณยะนาค รองอธิการบดี สบศ. กล่าวว่า เริ่มจากการบรรเลงวงประโคมรอบพระเมรุมาศ ส่วนเวทีมหรสพด้านทิศเหนือ 3 เวที จะมีการแสดงที่หลากหลายทั้งการแสดงในแต่ละภาค การแสดงละครใน เรื่อง “อิเหนา” ละครนอก “พระมหาชนก” การแสดงเรื่อง “พระสุธน มโนราห์” และการแสดงลิเกพื้นบ้าน

และ ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จะมีการแสดง “โขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม” หรือ “โขนหน้าพระเมรุมาศ” ในตอนค่ำๆ โดยแสดงตอน “พระนารายณ์ปราบนนทุก” – “อัญเชิญพระนารายณ์อวตาร” – “ศึกทูต ขร ตรีเศียร” – “พระรามได้พล” – “นางลอย” – “ศึกกุมภกรรณ” – “ทศกัณฑ์ขาดเศียร ขาดกร” และ “เฉลิมพระเกียรติรามราชจักรี”

 

เป็นที่ทราบกันดีว่ามหรสพดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง จะหาชมได้ค่อนข้างยากในยามปกติ นอกเสียจากงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะเข้าชม “นิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิง รัชกาลที่ 9”

ได้ชมการแสดงโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ทางโทรทัศน์ ก็นับว่าเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ครบเครื่องเต็มโรงเต็มรูปแบบก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงท่าน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ผู้ก่อตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2509 หรือเมื่อ 50 กว่าปีผ่านมาแล้ว

ผู้ก่อตั้งเองก็ถึงแก่อสัญกรรมไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 หรือเมื่อ 22 ปีผ่านเลยเช่นเดียวกัน นักร้อง วงปี่พาทย์ ครูผู้ฝึกสอน ที่เรียกว่าครูโขน ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการจากกรมศิลปากร ต่างก็ล้วนถึงวัยได้เวลาจากลาโลกนี้ไปตามอายุขัย ขณะที่หลายๆ ท่านต่างได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

เช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโขนรุ่นแรกๆ เมื่อปี พ.ศ.2509 ล้วนแล้วแต่สูงอายุด้วยกันทั้งสิ้น

ท่านที่รับราชการก็ได้เจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการเป็นใหญ่เป็นโตจนถึงเวลาเกษียณอายุราชการแทบทั้งสิ้น

 

ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “โขนธรรมศาสตร์” สืบเนื่องมาจากเป็นศิษย์นอกห้องเรียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้เข้าไปร่วมงานในหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่าน จึงได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้งเมื่อท่านยกโรงโขนธรรมศาสตร์ไปแสดงในโอกาสพิเศษสำคัญๆ ต่างๆ ตามคำเชื้อเชิญทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ

ถึงเวลาทำการแสดง ระหว่างที่เหล่านักแสดงทั้งหลายไม่ว่าเป็นยักษ์ ลิง และอื่นๆ ขึ้นแสดงบนเวทีนั้น อาจารย์คึกฤทธิ์จะนั่งชมอยู่หน้าเวทีใกล้ๆ กับนักร้อง วงปี่พาทย์ และครูโขน

เวลานั้นแหละท่านจะพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านผู้นั้นคราวนี้เล่นได้ดี ร่ายรำได้สวยงาม คนที่สวมบทยักษ์ก็แข็งขันดูแข็งแรงสง่างาม ยิ่งใหญ่สมเป็นพญายักษ์

ผู้รับบทบาทลิงหนนี้ขี้เกียจไปสักหน่อยไม่ค่อยจะออกท่าเกา หรือทำซุกซนตามธรรมชาติของลิงสักเท่าไร? และ ฯลฯ

 

ครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ไม่สามารถจำวันเดือนปีได้แน่ชัด น่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ.2520 กว่าๆ โขนธรรมศาสตร์ได้ยกโรงไปแสดงยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยการนำของนายโรงผู้ก่อตั้ง คืออาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งลูกศิษย์นอกห้องเรียนย่อมได้ติดตามไปด้วยเช่นเคย

หลังเสร็จจากการแสดง 2 วัน 2 รอบแล้วก็มีเวลาพักผ่อนก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ อาจารย์คึกฤทธิ์ได้รับการประสานงานมาว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้พำนักอยู่บนดอยปุย อาจารย์ท่านได้พาเหล่าบรรดาคณะโขนธรรมศาสตร์ นักร้อง วงปี่พาทย์ เข้าเฝ้าฯ อย่างไม่เป็นทางการ สมเด็จย่าพระราชทานเหรียญที่ระลึกให้กับคณะโขนธรรมศาสตร์ทุกคน

ระหว่างที่เข้ารับพระราชทานเหรียญ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็กราบบังคมทูลว่า “คนนี้คือผู้แสดงเป็นพระราม พระลักษมณ์ คนนั้นเป็นทศกัณฐ์ เป็นพญาลิง ตั้งแต่สุครีพ หนุมาน และ ฯลฯ

จนกระทั่งถึงผู้ติดตามท่านก็กราบบังคมทูลว่าคนนี้ไม่ใช่ธรรมศาสตร์ แปลกปลอมมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคนถือธงนำหน้าโขนพ่ะย่ะค่ะ—“

 

เวลาเดินทางไปพักผ่อนเป็นการส่วนตัวตามสถานที่ต่างๆ ส่วนมากจะเป็นคณะเล็กๆ ไม่กี่คน เพราะฉะนั้น จะมีโอกาสได้รับรู้ รับทราบเรื่องราวต่างๆ จำนวนมากที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนจากอาจารย์คึกฤทธิ์ โดยเฉพาะเวลาเดินทางขึ้นไปดอยขุนตาน จังหวัดลำปาง ยอดที่ 2 (ย.2)

เนื่องจากได้เข้ามาสังกัดในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในปี พ.ศ.2513 เพราะฉะนั้น จึงเพียงได้รับฟังมาจากปากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังดอยขุนตาน ระหว่างที่ทั้งสองพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังดอยขุนตาน (ย.2)

ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปยังดอยขุนตาน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2512 และครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2516 โดยเสด็จฯ ในตอนเช้า และเสด็จฯ กลับในตอนบ่ายไปยังตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงนำลูกสุนัขพันธุ์แม้วไปพระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 ตัว ต่อจากนั้นท่านอาจารย์ได้ตั้งชื่อว่า “ฮ” เพราะว่ามากับเฮลิคอปเตอร์ สุนัขตัวนั้นได้ออกลูกอยู่บนดอยขุนตาน เป็นสุนัขสีเทาๆ

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ นับเป็นผู้ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต ท่านเคยได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9–ไว้ว่า

“ผมเคยอยู่มาแล้วหลายแผ่นดิน แต่ไม่เคยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินใดที่คนทั้งเมืองเขาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของให้ความเคารพบูชาอย่างทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ ทรงครองแผ่นดิน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ ทรงครองใจคน”

“พระองค์คือพ่อของคนไทยทั้งปวง”