ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ผนึกกำลัง “ยืนหยุดขัง” เรียกร้องสิทธิประกันตัว หยุดใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง “พิธา” ย้ำข้อเสนอก้าวไกลแก้ไข ม.112

ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ผนึกกำลัง “ยืนหยุดขัง” เรียกร้องสิทธิประกันตัว หยุดใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง “พิธา” ย้ำข้อเสนอก้าวไกลแก้ไข ม.112 ชี้ ถ้าไม่ปฏิรูประบบยุติธรรม สังคมไทยอาจถึงทางตัน ด้าน “ธนาธร” ขอสภาทำหน้าที่นำการพูดคุยปัญหา 112 อย่างมีวุฒิภาวะ เป็นทางออกให้สังคมไทย

วันที่ 23 มกราคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แกนนำพรรคก้าวไกล และ คณะก้าวหน้า ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ร่วมกับภาคประชาชนหลายเครือข่ายที่มาร่วมกันรณรงค์เรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด หลังจาก “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ ภู่พงศ์ นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเอง อดอาหารและน้ำประท้วงกระบวนการยุติธรรม จากกรณีที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัวอย่างไม่เป็นธรรม

พิธาระบุว่า วันนี้ตนมาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังด้วยความห่วงใย ต่อทั้งตะวัน-แบม และนักโทษทางการเมืองทุกคน ทั้งในฐานะนายประกันของตะวัน และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และเพื่อมาแสดงความเคารพด้วยจิตคารวะต่อนักเคลื่อนไหวที่ถูกจองจำทุกคน และเพื่อยืนหยัดกับทุกคนว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งตะวัน-แบม และนักโทษการเมืองทุกคนวันนี้ คือข้อเท็จจริงที่ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมีปัญหาบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้ อัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วน และการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องทำให้กระบวนการที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่ทางนี้ ดีขึ้น

“ทางออกที่ดีที่สุด ควรต้องใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมาหาทางออกร่วมกัน ต่อประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นคุณระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้นำเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ไปตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ตอบรับ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เกิดการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ให้ได้” พิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ คือการเรียกร้องต้องให้สิทธิการประกันตัวแก่นักโทษการเมืองทุกคน ยุติการใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่างในทันที และในอนาคตอันใกล้นี้ จะต้องมีการพิจารณาข้อเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด โดยการเดินตามขั้นตอนเหล่านี้เท่านั้น จึงจะนำไปสู่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย ส่วนปัญหาเรื่องมาตรา 112 นั้น พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไข ในฐานะข้อเสนอขั้นต่ำที่เราเห็นว่ายังสามารถเป็นหนทางให้ผู้เห็นต่างในสังคมไทยมาพูดคุยกันได้ และแม้ข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ทันได้ถูกนำมาพิจารณาในสภาชุดปัจจุบัน แต่พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเสนอและผลักดันร่างดังกล่าวต่อในสภาชุดต่อไปที่จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง

พิธายังระบุด้วยว่า หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ตอบรับข้อเสนอเรื่องการแก้ไขนี้ในอนาคต ตลอดจนการพูดคุยเพื่อหาทางออกกันอย่างมีวุฒิภาวะ ก็เป็นที่น่ากังวลเหลือเกินว่าทางเลือกของสังคมไทยจะถูกบีบให้เหลือน้อยลง

“สภาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันได้อย่างมีวุฒิภาวะ โดยไม่มีใครต้องเสียสละเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ใช้โอกาสนี้พูดถึงการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมด เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้สังคมไทยก็อาจจะไปถึงทางตัน ถ้าสภาไม่ทำหน้าที่ ผมก็กังวลเหลือเกินว่าจะเหลือทางเลือกอื่นให้กับสังคมไทยอีกหรือไม่” พิธากล่าว

ด้านธนาธร ระบุว่าการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ก็เพื่อแสดงจุดยืนว่าการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเป็นอิสระ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ควรมีใครต้องมาเสียเลือดเนื้อและร่างกายตัวเองเพื่อให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน วันนี้เรามีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและผู้เรียกร้องความเป็นธรรมหลายคนถูกกังขังมานานเกินไปแล้ว บางคนถูกขังมาแล้วกว่า 300 วันโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ดังนั้น การมาเรียกร้องวันนี้ จึงไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนี่ง แต่เพื่ออนาคตของประเทศไทย และลูกหลานของเราที่จะได้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่ทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายอย่างแท้จริง

ธนาธร กล่าวต่อไปว่า ขอเรียกร้องไปถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ และศาล ควรต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนบางกลุ่มกำลังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเพราะเป็นเช่นนี้เอง ผู้คนในสังคมจำนวนมากจึงแสดงออกถึงความไม่เลื่อมใสในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“สภาคือทางออกที่ดีที่สุด ไปถกเถียงกันอย่างมีอารยะเถอะ แม้จะมีหลายคนกระอักกระอ่วนใจที่จะพูดคุยเรื่องนี้ แต่นั่นเป็นหน้าที่ของสภาในการหาทางออกร่วมกัน สภาต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง พูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ นี่คือหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงและวุ่นวาย ผมเชื่อว่าการแสวงหาทางออกและรับฟังเสียงทุกเสียงร่วมกัน เปิดใจรับฟังกัน ย่อมนำไปสู่ทางออกได้” ธนาธรกล่าว