ในประเทศ : บิ๊กตู่งัดมุขเดิม โยน “6 คำถาม” ร้อน ปูทางผุด “พรรคลายพราง” พร้อมทั้ง “เล่นเอง” – ผ่าน “นอมินี”

“คสช. ไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง”

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โยนหินถามทางหยั่งกระแสสังคม หลังกระแส คสช. ตั้งพรรคทหาร หรือหาพรรคนอมินีทหารกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมายืนยันว่าไม่ตั้งพรรคทหาร และไม่จำเป็นต้องอ้างว่าเป็นพรรคที่จะมาทำเพื่อ คสช. แต่กระนั้น นายกฯ ก็ทิ้งปมให้ต้องตีความอีกว่ายังมีเวลาอีก 1 ปี

“คสช. ตั้งพรรคการเมือง ยังไม่ได้คิดตอนนี้ ดูสถานการณ์ไปก่อน มีเวลาอีกตั้งปี” นายกฯ กล่าว

เป็นคำถามแบ่งรับแบ่งสู้ เกี่ยวกับการตั้งพรรค

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งคำถามถึงประชาชน 6 ข้อ

คำถามที่ 1 วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

คำถามที่ 2 การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว

คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

คำถามย่อย

– เห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU, ICAO ฯลฯ หรือไม่

– เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศเพื่อให้การเมืองไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่

– การทำงานของทุกรัฐบาล ต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด มิใช่ทำแต่ตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้ หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่สนับสนุน รวมทั้งต้องทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดความต่อเนื่องใช่หรือไม่

คำถามที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่? เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่ คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่?

คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่?

คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร

อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจ

6 คำถามถึงประชาชน กับอนาคตทางการเมืองและสังคมข้างต้น

พร้อมกับคำขยายความของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า

“การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือผมจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิของผมหรือไม่ แล้วผมต้องไปเลือกตั้งหรือเปล่า ก็เปล่าอีก เลือกตั้งได้ไหม ก็ไม่ได้ ผมไม่ได้ลาออก ก็จบแล้ว อย่างนี้แล้วผมจะไปอะไรกับเขา สิทธิของผมมีไม่ใช่หรือ ผมสนับสนุนใครแล้วจะไปบอกใคร และใครตั้งมา ผมจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆ มา ผมก็ไม่สนับสนุน”

ถูกตีความในทันทีว่านี่คือการประกาศจัดตั้ง “พรรค” และ “แนวร่วม” ของ คสช. เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนนั่นเอง

นี่เองจึงนำไปสู่ปฏิกิริยาจากนักการเมืองแทบจะทันที

เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าไม่รู้ว่าเจตนาคืออะไร แต่ไม่อยากให้นายกฯ เสียเวลากับเรื่องแบบนี้ ถ้าอยากจะตั้งคำถามจริงๆ ให้ตั้งคำถามถึงปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ หรือปัญหาราคาสินค้าเกษตร ว่าเป็นอย่างที่เขาว่ากันหรือไม่ แล้วนำไปแก้ปัญหาจะดีกว่า เพราะคำถามทั้ง 6 ข้อ เป็นเรื่องของการเมือง

“การตั้งคำถามแบบนี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับนักการเมืองมากกว่า” นายอภิสิทธิ์ ระบุ และติงว่า “คำถามที่ว่า คสช. จะสนับสนุนพรรคใดก็เป็นสิทธิของ คสช. นั้น อย่าลืมว่าถ้าสนับสนุนเป็นการกระทำที่อิงการใช้อำนาจของรัฐ จะเป็นเรื่องขัดกับหลักธรรมาภิบาล ถ้าใช้อำนาจรัฐควบคู่ไปก็ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ใช้อำนาจมิชอบในอดีต ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องตอบ 6 คำถามก็ได้ แต่ใครอยากถาม อยากตอบคำถามก็ตอบไป แต่อย่าทำให้หลักการบ้านเมืองเขว และอย่าเพิ่มคู่ขัดแย้งใหม่ ตอน คสช. เข้ามาใหม่ๆ ก็พยายามบอกว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร แต่ที่ตั้งคำถามคือการดึงตัวเองเข้ามาเป็นคู่กรณี” นายอภิสิทธิ์กล่าว

สอดคล้องกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกฯ สอบตกที่ถามคำถามเหล่านี้

“แสดงถึงความไม่เข้าใจประชาธิปไตย คำถามเหล่านี้ไม่ควรถาม เหมือนไปเปรียบเทียบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อะไรดีกว่ากัน ซึ่งเหมือนกับถามว่า ผู้หญิงกับผู้ชาย อะไรดีกว่ากัน ถามอย่างนี้ไม่ตีกันตายหรือ แล้วนายกฯ จะถามทำไม”

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า คนใน คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองย่อมมีสิทธิทำได้ หรือเกลียดใครก็ได้ แต่หากเป็น คสช. ทั้งคณะก็อยากให้ลองนึกดูว่า คสช. ในฐานะกุมอำนาจทั้งหมด และอยู่จนมีรัฐบาลชุดใหม่จะเหมาะสมหรือไม่

เช่นเดียวกับ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่า คำถามทั้ง 6 ข้อของ คสช. เป็นคำถามที่ไม่ฉลาด มีความอยากได้ใคร่ดี อยากมีอำนาจแต่ไม่อยากแข่งขัน เลยจ้องจะเอาเปรียบคนอื่น อันที่จริง คสช. และรัฐบาลต้องดำรงความเป็นกลาง เพราะยึดอำนาจโดยอ้างว่าต้องการเข้ามาสร้างความปรองดอง แต่กลับจ้องจะเลือกข้างสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ทั้งๆ ที่จะเป็นการสร้างความแตกแยกและเป็นการเอาเปรียบกัน

“เป็นคำถามที่เสียเวลาตอบ มีลักษณะถามนำ เพื่อหวังเอาคำตอบไปใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างน่าเกลียด และจะสร้างความลำบากให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องไปเกณฑ์คนมาตอบเพื่อให้ถูกใจรัฐบาล และ คสช. อีกต่างหาก”

ถือเป็นความร้อนฉ่าหลังมี 6 คำถามออกมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ตอบโต้ว่า เป็นการถามประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง

ซึ่งก็น่าสนใจว่า คำตอบที่ได้รับกลับมา โดยผ่านกลไกของรัฐ ไม่ว่าศูนย์ดำรงธรรม หรือกองทัพ จะออกมาอย่างไร

หากออกมาในเชิงขานรับ คือ ต้องการพรรคการเมืองใหม่ และไม่ขัดข้องที่จะให้ คสช. “เชียร์” พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด

โอกาสที่เราจะเห็น “พรรคทหาร” “พรรคลายพราง” “พรรคนอมินี” ผุดออกมาจำนวนมาก

นั่นคงจะทำให้บรรยากาศการเมืองต่อจากนี้ ร้อนฉ่า เมื่อ คสช. เลือกข้างชัดเจนอย่างเปิดเผยแล้ว!