ดูแล้วมาเล่า : “รองเท้าของพ่อ” สิ่งเก่า vs. สิ่งใหม่ คงอยู่คู่ละครเวที(ไทย)

ละครเวที(น้ำดี) จาก “โต๊ะกลม” ที่ฝากผลงานไว้มากมายทั้ง โหมโรงเดอะมิวสิคัล / นิทานหิ่งห้อยเดอะมิวสิคัล ฯลฯ มาครั้งนี้ ความน่สนใจเกิดขึ้นตั้งแต่การดึงเอานักร้อง-นักแสดงมากฝีมือ อย่าง “กบ ทรงสิทธิ์” ที่ต้องบอกว่าทั้งร้องและแสดงได้ดีไม่มีตกเช่นเคย รวมถึงฝีมือการแสดงชั้นครูของ “พ่ออี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต” ที่ต้องแบกรับซีนอารมณ์ ห้ำหั่นกับ “หนุ่ม แม็ค วีรคณิศร์” ซึ่งแสดงได้ดีไม่แพ้กัน อีกทั้งยังมี “ลูกหว้า พิจิกา” “ศรัณย์ ทองปาน” และ “เน็ท กานดา” ที่มาในบทหญิงสาวนิรนาม

ชื่อเรื่องบอกอยู่แล้วว่า “รองเท้าของพ่อ” แน่นอน รองเท้าคือหัวใจหลัก เสมือนนักแสดงอีกคนก็ว่าได้ “รองเท้าคู่เดิมคู่เดียว”ที่ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น คู่เดียวที่อยู่ด้วยกันในวันที่ต้องการกำลังใจ คู่เดียวกับวันที่ประสบความสำเร็จ คู่เดียวกับวันที่พบรัก เป็น รองเท้าคู่สำคัญของ “ก่อ” (กบ ทรงสิทธิ์) ชายหนุ่มที่ฝันจะมีร้านรองเท้าเป็นของตัวเอง ได้ก่อร่างสร้างตัวโดยเริ่มจากศูนย์ เขาและ “วิทย์” (ศรัณย์ ทองปาน) เพื่อนคู่ใจ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนจบปริญญา ในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ก่อได้รับเอาพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่๙ เป็นคติประจำใจเสมอมา ในการดำเนินชีวิตทุกๆด้าน

หลายซีนจะเห็นถึงมุ่งมั่นตั้งใจไม่ย่อท้อ ไม่เกี่ยงแม้งานหนักหรือได้เงินน้อย ในขณะที่รียนจบสูงๆ แต่ต้องฟันฝ่ากับงานและอุปสรรคนานับประการ ซึ่ง ก่อ ได้ยึดมั่นใน เรื่อง”รากฐานที่มั่นคง” ปรับใช้กับในทุก ๆสิ่งและทุกๆช่วงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือแม้แต่ในเรื่องของความรัก และการสร้างครอบครัว พูดได้คำเดียวว่า “กบ ทรงสิทธิ์” ทรงพลัง สามารถถ่ายทอดออกมาได้แบบเอาอยู่จริงๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนี้หลายซีนทำให้คนชอบเสพละครเวทีอย่างเราๆอดคิดถึง “อาเหลียง” ลอดลายมังกร ไม่ได้ แม้ว่าการทำงานช่วงสร้างตัวและพื้นเพของทั้งคู่ อาจจะแตกต่างกันแต่ คุณธรรม ความขยัน ที่มีในตัว “ก่อ” และ”อาเหลียง” ก็ทำให้อดนึกหรือคิดเปรียบเทียบไม่ได้

ยังไม่พอด้วยจินตนาการ(อันกว้างไกล)ของผู้เขียนเองก็อดนึกถึงบางซีนใน “สี่แผ่นดิน”ของค่ายคุณบอย ถกลเกียรติไม่ได้ ในเรื่องของ “สิ่งเก่า” vs. “สิ่งใหม่” ในที่นี้คือ วิสัยทัศน์ของบุตรชายกับบิดา ในเรื่องของการนำ “ระบบ” โรงงานการปฏิวัติการทำงานของคนรุ่นเก่าๆ ไปสู่ อุตสาหกรรมโรงงานโดยใช้เครื่องจักรเต็มรูปแบบ ทุกอย่างนี้เกิดขึ้นหลังที่ “บุตรชาย” ไปรับรู้-ร่ำเรียนในตะวันตกมีฝรั่งมังค่าเป็นแรงขับเคลื่อน ทำให้สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปจะปฏิวัติพัฒนาสิ่งที่รุ่นพ่อรุ่นแม่สร้างเอาไว้ (ด้วยเจตนาดี) เมื่อดูซีนเหล่านี้ ก็คิดไปถึง “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ในซีนที่ประชันวิสัยทัศน์แม่พลอยกับลูกๆหลังถูกส่งไปเรียนเมืองนอกเช่นกัน

แม้จะมีจุดประสงค์คนละอย่าง เพราะสี่แผ่นดินคือ “เรื่องการเมือง” รองเท้าของพ่อคือ “ธุรกิจ” แต่ ความเก่า vs. ความใหม่ คือ “หัวใจ”สำคัญของการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นอย่างที่เกิดขึ้นในทุกสังคมบริษัทวิสัยทัศน์ผู้นำต่างๆที่ “มีกรอบ” อยู่บนรากฐาน กับคนที่เติบโตมาในโลกอีกแบบนึงแน่นอนช่องว่างเหล่านี้เป็น “เรื่องจริง”ที่เกิดขึ้นและทุกคนคงได้พบเจอ

กลับมาที่ความประทับในใจละครเวทีเรื่องนี้ โดยเฉพาะสร้างสรรค์ฉาก เช่นกัน ด้วย “ความใหม่” ของเทคโนโลยีปัจจุบัน “จอภาพ” กลายเป็นสิ่งสำคัญ กว่าการสร้างฉากเซ็ตขึ้นมาจริงๆ(จากในอดีต) ซึ่งปัจจุบันเป็นการใช้ทั้งสองประยุกต์สู่กัน ก็ต้องชื่อชมว่าการรังสรรค์ภาพฉากแม้จะเป็นในจอ แต่ก็ “ไม่ธรรมดา” ต้องไปพิสูจน์กันว่าเป็นอย่างไร

อีกหนึ่ง “ความน่ารัก”และสไตล์ค่ายนี้ คือทำ “ซีน” ที่ทำให้คนรู้สึกอมยิ้ม เคลิ้ม และหัวเราะ เสพความสุขกลับบ้านไป โต๊ะกลมไม่เคยทำให้ผิดหวังในการสอดแทรกมุก การใช้จังหวะภาพ-การแสดงเล่าเรื่องให้เกิดความสนุกก็ยังคงทำได้ดีเช่นเคย ณ จุดๆนี้ต้องชื่นชมผู้ที่มารับบท“วิทย์” (ศรัณย์ ทองปาน) ทั้งเล่นซีนเรียกรอยยิ้มได้สุดยอด และซีนท้ายๆช่วงดราม่าต้องบอกว่าพี่เขาเล่นได้ถึงจริงๆ เราจะเห็นมิติในตวละครนี้ผ่านการถ่ายทอดของพี่เขาได้อย่างประทับใจ

ต้องบอกว่า “คอละครเวที” หากมองอยากหาอะไรเสพแบบน้ำดี และอยากมีแรงใจในการก้าวเดินตามหรือผู้ที่ต้องการ “กำลังใจ” ในวันที่ทำอะไรยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ “รองเท้าของพ่อ” ก็เป็นอีกช้อยส์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ