“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทุกพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยผนึกกำลังภาคีเครือข่าย เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาส “36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทุกพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยผนึกกำลังภาคีเครือข่าย เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาส “36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

 

“พระผู้ทรงระลึกนึกถึงคนไทยอยู่เสมอ”

นายสุทธิพงษ์​ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย จัดพิมพ์หนังสือ “36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ เฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่านในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และยังเป็นการเผยแพร่พระราชภารกิจในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

“ผมกล่าวได้เลยว่าทุกลมหายใจ ทุกเวลา ทุกนาทีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงระลึกนึกถึงแต่การช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น เป็นที่ประจักษ์ทั้งโครงการ ‘ ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ‘ดอนกอยโมเดล’ ‘นาหว้าโมเดล’ และ ‘การประกวดผ้าลายพระราชทาน’ นั้น สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นับเป็นความโชคดีของคนไทยทั้งชาติ เพราะเรามีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถ พระผู้ทรงระลึกนึกถึงคนไทยอยู่เสมอ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวย้ำในโอกาสการจัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติ

 

“หยาดฝนที่หยดลงมาบนผืนดินที่แห้งแล้ง”

ในวาระสำคัญเช่นนี้ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี จัดพิธีบวงสรวงกี่ทอผ้าเพื่อทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผืนยาวที่สุดในโลก  ย้อมด้วยดอกบัวแดง 228,200 ดอก ความยาว 1,139 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ถ่ายทอดความในใจไว้ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงงานอย่างหนัก ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ทรงทุ่มเทศึกษาค้นคว้า คิดค้นลวดลาย เพื่อมอบให้ช่างทอนำไปถักทอเป็นผืนผ้า ทั้ง ‘ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ ‘ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา’ ‘ผ้าบาติกลายป่าแดนใต้’ ‘ผ้าบาติกลายท้องทะเลไทย’ และ ‘ผ้าบาติกลายเทิดไท้เจ้าหญิง’ นับตั้งแต่ได้พระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ แก่ประชาชน เสมือนหยาดฝนที่หยดลงมาบนผืนดินที่แห้งแล้ง ยังให้เกิดการชุบชีวิตให้กับพี่น้องช่างทอผ้าทั่วประเทศกว่า 1.3 แสนครัวเรือน ซึ่งหากนับรวมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งช่างตัดเย็บ นักออกแบบ ก็จะเป็น 1 ล้านคน ทำให้ผ้ากลับมามีคุณค่า เป็นอาชีพเลี้ยงปากท้อง เป็นช่องทางสร้างรายได้”

วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู

                ในการจัดประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร 4 ภาค ทั้งที่จังหวัดอยุธยา อุดรธานี ลำพูน และนครศรีธรรมราช ซึ่งมีแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ยังได้มีการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งผ่านการจัดกิจกรรมเสวนาหาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จในทุกพื้นที่ และผ่านการเดินแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกนำทีมโดยแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด และคู่สมรส ซึ่งพร้อมใจกันเป็นนายแบบ นางแบบเฉพาะกิจ สวมใส่ชุดผ้าไทยที่ได้รับการออกแบบตัดเย็บโดยช่างตัดเย็บในท้องถิ่น และใช้ผืนผ้าทอจากช่างทอผ้าในพื้นที่มาสรรค์สร้างเป็นผลงานที่มีความสวยงาม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องราวความเป็นมาที่ถูกถ่ายทอดผ่านผืนผ้าตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการสวมใส่ผ้าไทยทุกช่วงวัย ทุกโอกาส

สำหรับรางวัลขวัญใจปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการจัดประชุมสัญจรที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งสวมใส่ชุดผ้าไทยที่เป็นผลผลิต ได้รับการออกแบบและตัดเย็บจากฝีมือของคุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ  ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา)

ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จับไมค์ช่วยกันเล่าถึงเหตุผลที่จังหวัดหนองบัวลำภู คว้ารางวัลนี้ ทำให้ผู้ชมในห้องอมยิ้มไม่ขาดสาย เมื่อได้ฟังเรื่องราวของการสืบสาน รักษา และต่อยอดผ้าไทยอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ พร้อมปรบมือชื่นชมให้กับช่างออกแบบตัดเย็บ และทีมนางแบบเฉพาะกิจอย่างต่อเนื่อง

“การส่งเสริมผ้าไทยอย่างครบวงจร คือ การส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า กลางน้ำ คือ การออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า และปลายน้ำ คือ การจำหน่าย เพื่อให้มีรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกอบการ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีความพิเศษอย่างยิ่ง คือครบถ้วนทั้งวงจร เพราะคุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ’ เป็นต้นแบบรายแรก ๆ ของประเทศไทย ที่มีตั้งแต่ต้นน้ำ คือ คุณแม่ก็เป็นช่างทอผ้า และน้องอ๋อยก็มาเป็นช่างทอผ้า และต่อมาก็ได้นำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาการทอผ้ามาขยายผลออกแบบตัดเย็บและเปิดพื้นที่ที่ดินของครอบครัวเป็นวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งประกอบอาชีพ และแหล่งจำหน่ายผ้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

                “ชุดผ้าไทยของจังหวัดหนองบัวลำภูที่ถูกนำมาเสนอในวันนี้ถูกตัดเย็บโดยผลผลิตของวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ซึ่งประกอบไปด้วยช่างทอผ้าทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เยาวชน จนถึงผู้สูงอายุในพื้นที่หมู่บ้านในพื้นที่ เป็นการน้อมนำพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในเรื่องของความยั่งยืน คือ การส่งต่อถ่ายทอดทักษะกระบวนการผลิตผ้าทั้งระบบ ครบวงจรจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับและรักผ้าไทย และช่วยกันสืบสานผ้าไทยให้คงอยู่กับประเทศไทยของพวกเรา” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวย้ำ