คณะทหารหนุ่ม (24) | 16 คณะทหารหนุ่มผงาดเข้าสภา

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง 276 เสียง ไม่รับ 2 เสียง ในการอภิปรายในวาระแรกซึ่งสภามีการประชุม 4 ครั้งนั้นไม่มีคณะนายทหารหนุ่มที่เป็นสมาชิกสภาผู้ใดอภิปรายเลย

บทบาทของคณะทหารหนุ่มในขณะนั้นคือการสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นหลัก ขณะที่มุ่งลดบทบาทและอิทธิพลในทางการเมืองของกลุ่ม พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่

บทบาทและอิทธิพลของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จะมีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งประธานสภานโยบายแห่งชาติเท่านั้น เนื่องจาก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในขณะนั้นได้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปแล้ว และฐานสนับสนุนทางกองทัพก็ไม่มี

ดังนั้น การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของฝ่าย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงอยู่ที่การพยายามอาศัยกติกาของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ฝ่ายตนมีบทบาทมากที่สุดหลังการประกาศใช้

คณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 36 คนซึ่งมี พล.ท.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นประธาน มี พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นเลขานุการ

ในจำนวนกรรมาธิการ 36 คนนี้มีคณะทหารหนุ่มรวมอยู่ด้วย 3 คน คือ พ.อ.นิยม ศันสนาคม พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.ท.วินิต เทศวิศาล

ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขั้นกรรมาธิการนั้น นายทหารทั้ง 3 นี้ไม่มีบทบาทสำคัญแต่อย่างใด

สำหรับ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ได้ขาดประชุมกรรมาธิการถึง 16 ครั้งในจำนวนการประชุมทั้งหมด 24 ครั้ง เนื่องจากมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติราชการชายแดนด้านตะวันออกซึ่งอยู่ในภาวะตึงเครียดจากฝ่ายเวียดนามที่เข้ามายึดครองกัมพูชา

กล่าวได้ว่า คณะทหารหนุ่มมีทัศนะในทางลบต่อระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ที่ถูกล้มล้างไปแล้วเมื่อการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520

คณะทหารหนุ่มจึงพยายามผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการสร้างอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร ดังที่ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“รัฐธรรมนูญที่ร่างคราวนี้ เราจึงไม่ต้องการอย่างสมบูรณ์แบบปี 2517 ที่มันเพ้อฝัน เราเอาอย่างง่ายๆ มีน้อยมาตราแต่ว่าทำได้ แล้วมันจะทำอย่างที่พวกเราคิดกันได้ด้วย ผู้แทนฯ นี่การศึกษาต้องดีนะ พวกผมมีความคิดว่าถ้าดีที่สุดผู้แทนฯ ต้องจบปริญญา รองลงไปก็อนุปริญญา รองลงไปต่ำสุดก็ควรจบ ม.ศ.5 ต่ำกว่านั้นไม่ไหวแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะกีดกันประชาชนจบ ม.6 ป.7 หรือ ป.4 ว่าไม่มีความสามารถ สำหรับพรรคการเมืองควรมีน้อยๆ ถ้ามากต้องให้ความควบคุมโดย ส.ส.ที่ส่งเข้ามารับเลือกตั้ง ส่วนตำแหน่งนายกฯ จะเลือกจาก ส.ส. หรือไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้”

นอกจากนี้ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ยังเป็นผู้สรุปลักษณะของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไว้ด้วยว่าเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งหมายถึงการที่รัฐธรรมนูญมีมาตรการที่ยังควบคุมอำนาจและบทบาททางการเมืองของสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ โดยให้มี “สมาชิกสภาประเภทแต่งตั้ง” เป็นผู้คอยถ่วงอำนาจและอาศัยบทบัญญัติบางส่วนของรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจและบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คณะทหารหนุ่มจึงพอใจกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2521 ที่ประกาศใช้เมื่อธันวาคม พ.ศ.2521 ซึ่งสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองของตน

 

อีกก้าวของคณะทหารหนุ่ม

คณะทหารหนุ่มทุ่มเทความพยายามอย่างจริงจังในการป้องกันมิให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก

ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยรัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้มีวุฒิสภามีสมาชิกจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ

ซึ่งหมายความว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะมีบทบาทมากที่สุดในการเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิกวุฒิสภา

 

เลือกตั้ง

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 รัฐบาลได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต่างก็ใช้ชื่อพรรคการเมืองเก่าในการลงแข่งขัน ปรากฏผลการเลือกตั้งที่สำคัญดังนี้

กิจสังคม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกตั้ง 88 คน

ประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกตั้ง 33 คน

ชาติไทย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกตั้ง 42 คน

ประชากรไทย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกตั้ง 32 คน

เสรีธรรม ได้รับเลือกตั้ง 26 คน

ชาติประชาชน ได้รับเลือกตั้ง 18 คน

พลังใหม่ ได้รับเลือกตั้ง 10 คน

และเกษตรสังคม ได้รับเลือกตั้ง 8 คน

 

16 คณะทหารหนุ่มผงาดเข้าสภา

พร้อมกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก จำนวนรวมทั้งสิ้น 222 คน

โดยมีคณะทหารหนุ่มจำนวน 16 คน

ได้แก่ พ.ท.จำลอง ศรีเมือง พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธ์ พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี พ.อ.บวร งามเกษม พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิ์เจริญ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พ.ท.มนูญ รูปขจร พ.ท.วินิต เทศวิศาล พ.ท.สกรรจ์ มิตรเกษม พ.ท.สาคร กิจวิริยะ พ.ท.แสงศักดิ์ มังคละศิริ พ.ท.องอาจ ชัมพูนทะ พ.ท.ม.ร.ว.อดุลยเดช จักรพันธ์ และ พ.ต.บุญยัง บูชา

เกือบทั้งหมดเป็นผู้บังคับหน่วยกำลังรบสำคัญ

 

พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ ต่อ

พล.อ.เกรียงศักดิ ชมะนันทน์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยพรรคเสรีธรรม พรรคพลังใหม่ พรรคชาติประชาชน พรรคเกษตรสังคม และพรรคสยามประชาธิปไตย ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พรรคกิจสังคมไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล และประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายค้าน

และต่อมาก็มีพรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเป็นพรรคฝ่ายค้านด้วย

พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

ทางด้านสภาผู้แทนราษฎร นาย บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ พรรคกิจสังคม เป็นประธานสภา

ความสำคัญของคณะนายทหารหนุ่มในรัฐสภายังแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนในการเลือกกรรมาธิการสภาชุดต่างๆ ดังนี้คือ

พ.อ.จำลอง ศรีเมือง เป็นกรรมาธิการและเลขานุการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ

พ.อ.บวร งามเกษม เป็นกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์

พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ เป็นกรรมาธิการคมนาคม

พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ เป็นกรรมาธิการต่างประเทศ

พ.อ.มนูญ รูปขจร เป็นกรรมาธิการการทหาร

พ.อ.วีรยุทธ อินวะษา เป็นกรรมาธิการการทหาร

พ.อ.สาคร กิจวิริยะ เป็นกรรมาธิการการปกครอง

พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตะกูล เป็นกรรมาธิการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

พ.อ.ปรีดี รามสูต เป็นกรรมาธิการการสังคมและแรงงานสัมพันธ์

นอกจากนี้ พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้วย