‘ประชา พงศ์สุพัฒน์’ ผู้เชื่อมโลก ‘เพลงเด็ก-เพลงฮิต’ แห่งยุค 90

คนมองหนัง

ปลายปี 2565 จนถึงเทศกาลวันเด็กเดือนมกราคม 2566 ได้เกิดปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยที่หลายคนคาดไม่ถึงหรือหาคำอธิบายไม่ได้

เมื่อเพลง “ทรงอย่างแบด” ของวงดนตรีแนวป๊อป-พังก์ ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็น “วัยรุ่นบุคลิกขบถนิดๆ” อย่าง “เปเปอร์เพลนส์” กลายเป็นเพลงฮิตในหมู่น้องๆ หนูๆ เด็กเล็กวัยอนุบาล-ประถม

จนได้รับการขนานนามให้เป็น “เพลงชาติของวัยรุ่นฟันน้ำนม” ชนิดที่ทางวงเองก็คงไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดกระแสเช่นนี้

บางคนวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้น้องๆ วัยไม่เกินมัธยมชื่นชอบเพลง “ทรงอย่างแบด” เป็นอย่างมาก นั้นเป็นเพราะเนื้อร้องที่ใช้ถ้อยคำไม่ยาก จดจำได้ง่าย ส่วนทำนองเพลงและโครงสร้างการเรียบเรียงก็ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แถมยังมีท่อนมัน (ส์)ๆ ที่เอื้อต่อการปลดปล่อยพลังงานอันล้นปรี่ของเหล่าเยาวชนตัวเล็กตัวน้อยอีกด้วย

ขณะที่บางคนก็หันไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของ “ดนตรีพังก์” ที่แยกไม่ขาดจากวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ปรากฏการณ์ที่ “เพลงวัยรุ่น” เพลงหนึ่งได้พลิกผันกลับกลายเป็น “เพลงฮิตของเด็กๆ” แบบที่คนแต่ง-คนร้องไม่ทันคาดคิด อาจเป็นสถานการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

แต่หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เพลงป๊อปไทย เราก็จะพบว่า “เพลงเด็ก” กับ “เพลงวัยรุ่น” หรือ “เพลงตลาดสำหรับผู้ใหญ่” นั้นไม่ได้มีขอบเขตหรือเส้นแบ่งที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน

มิหนำซ้ำ ในยุคสมัยหนึ่ง “นักแต่งเพลงเด็กชั้นยอด” ยังสามารถปรับเปลี่ยนหมวดการทำงานของตนเองมาเป็น “นักแต่งเพลงป๊อป-ร็อกสำหรับผู้ใหญ่” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานฮิตๆ จำนวนมากมายให้แก่อุตสาหกรรมดนตรี ทั้งยังนำเอา “อัตลักษณ์ในการเขียนเพลงเด็ก” มาผสมผสานเข้ากับ “เพลงวัยรุ่น-เพลงผู้ใหญ่” ได้อย่างลงตัว

นักแต่งเพลงผู้นั้น ก็คือ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” หรือที่คนในวงการเพลงไทยยุค 80-90 เรียกขานกันว่า “น้าประชา”

 

ประชาเกิดเมื่อ พ.ศ.2496 ดังนั้น ในปัจจุบัน เขาจึงมีอายุครบ 70 ปีแล้ว นับเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับบุคลากรยุคแรกเริ่มของอุตสาหกรรมเพลงไทยช่วง “ตั้งไข่” ในปลายทศวรรษ 2520 ถึงต้น 2530 อีกหลายราย

เขาคืออดีตครูสอนวิชาศิลปะ ดนตรี และภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นทำงานในแวดวงโทรทัศน์ ด้วยการเป็นฝ่ายศิลปกรรม นักแต่งเพลงเด็ก คนเขียนบทละคร ผู้กำกับการร้อง-แสดง และร่วมแสดงเป็นตัวละครชื่อ “นายแห้ว” ในรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” รายการทีวีสำหรับเยาวชนที่โด่งดังตลอดช่วงทศวรรษ 2520 จนถึงต้น 2530

ต่อมา ขอบเขตการเขียนเพลงเด็กของ “น้าประชา” ก็เริ่มขยับขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมดนตรีหรือวงการเพลงป๊อป เมื่อเขาได้ร่วมแต่งเพลงให้แก่ “เอ็กซ์วายแซด” วงดนตรีที่ถือกำเนิดจากรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” รวมถึงวง “นกแล”

ถัดจากนั้น ประชาจึงก้าวเข้าสู่วงการเพลงป๊อป-ร็อกอย่างเต็มตัว หลังเข้าร่วมเป็นทีมแต่งเพลงของค่ายแกรมมี่ยุคแรกเริ่ม โดยจะอยู่ในฝั่งของทีมเขียน “คำร้อง” แม้ว่าในสมัยที่ยังแต่งเพลงเด็ก เขามักรับหน้าที่ควบทั้งการแต่งเนื้อและทำนองก็ตาม

(ในช่วงรอยต่อก่อนจะมาทำงานประจำกับแกรมมี่ ประชาเคยแต่งเพลงให้กับศิลปินที่น่าสนใจจำนวนหนึ่ง เช่น “มิติ” วงดนตรีแบ๊กอัพของ “อัสนี-วสันต์”, “มัม และลาโคนิคส์” รวมถึง “ปฐมพร ปฐมพร”)

ประชาค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียง จนมีสถานะเป็น “เจ้าพ่อ (เนื้อ) เพลงเร็ว” ของค่ายแกรมมี่ยุค 90 โดยเขามีส่วนร่วมในผลงานสำคัญๆ ของศิลปินผู้โด่งดังจำนวนมาก อาทิ

“อัสนี-วสันต์” “แหวน ฐิติมา” “นรินทร ณ บางช้าง” “คริสติน่า อากีล่าร์” “เจ-เจตริน วรรธนะสิน” “มาช่า วัฒนพานิช” “ไมโคร” “อำพล ลำพูน” “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” “ทาทา ยัง” “มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์” “ก๊อท จักรพันธ์” “ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล” “ลีโอ พุฒ” “ไทม์” และ “วายน็อตเซเว่น” เป็นต้น

ถ้าใครได้รับฟังเพลงเร็วที่ “น้าประชา” แต่งให้ศิลปินป๊อป-ร็อกยุค 90 ก็อาจจะพอจับจุดเด่นได้ว่า แม้เพลงเหล่านั้นอาจมีลีลายียวนกวนโอ๊ย, แข็งแกร่งดุดัน หรือติดลูกสองแง่สามง่าม เพื่อตอบสนองกลุ่มคนฟังที่มีวุฒิภาวะ

ทว่า ผลงานเกือบทั้งหมดล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเนื้อหาแนวสนุกสนานเจืออารมณ์ขันที่ใช้ถ้อยคำ-วลี-ประโยคง่ายๆ ซ้ำๆ ติดหู (บางครั้งก็เข้าใจได้ทันที บางคราวก็แปลกพิลึกพิลั่นจนสะดุดใจคนฟัง) ซึ่งพัฒนามาจากคุณลักษณะสำคัญของ “เพลงเด็ก” อันเป็นรากฐานการทำงานดั้งเดิมของผู้แต่งคำร้องนั่นเอง

ภายหลังการเสียชีวิตของ “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” ประชาเป็นหนึ่งในคนทำงานเบื้องหลังยุคก่อตั้งบริษัทที่เดินออกมาจากแกรมมี่ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เราจึงได้เห็นชื่อของเขาปรากฏอยู่ตามเครดิตผลงานของศิลปินค่ายอื่นๆ (ซึ่งมักเป็นอดีตคนดนตรีของแกรมมี่) เช่น “จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” และ “เดอะ มัสต์ (กฤชยศ เลิศประไพ)”

นอกจากนี้ “น้าประชา” ยังได้กลับมาแต่ง “เพลงเด็กจริงๆ” อีกครั้ง ด้วยการรับหน้าที่เขียนเนื้อร้องภาษาไทยอันยอดเยี่ยม ให้กับเพลงประกอบการ์ตูน “ชินจัง จอมแก่น” และ “หนูน้อยจอมซ่า มารูโกะจัง” ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3

แม้จะแต่งคำร้องเพลงช้าไม่มากเท่าเพลงเร็ว แต่ผลงานในส่วนนี้ของประชาก็ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ภาษาที่สละสลวย และการวางโครงสร้างเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ กระทั่งบางเพลงกลายมาเป็นผลงานคลาสสิคตราบถึงปัจจุบัน ผ่านการถ่ายทอดของ “เอ็กซ์วายแซด” “นันทิดา แก้วบัวสาย” และ “สุรสีห์ อิทธิกุล” เป็นต้น

ไม่ต่างอะไรกับเพลงช้าอีกหลายเพลงในยุค “สโมสรผึ้งน้อย” ซึ่งมีเนื้อหาที่คมคายทันสมัยอยู่เสมอ

ยิ่งกว่านั้น “เจ้าพ่อเพลงเด็ก-เพลงเร็ว” รายนี้ยังเคยข้ามพรมแดนดนตรีไปแต่ง “เพลงลูกทุ่ง” กับค่าย “แกรมมี่โกลด์” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ หากคำนึงว่าผู้บริหารคนแรกของค่ายเพลงลูกทุ่งดังกล่าว คือ “กริช ทอมมัส” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของประชามาตั้งแต่ยุค “เอ็กซ์วายแซด” และ “นกแล”

“ประชา พงศ์สุพัฒน์” ทำงานเขียนเพลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 2550 ก่อนจะตัดสินใจ “แขวนปากกา”

ปี 2561 เมื่อบรรดาหลานๆ อดีตสมาชิก “สโมสรผึ้งน้อย” ได้เอ่ยเชิญชวน “น้าประชา” ให้แต่งเพลงใหม่เพื่อใช้ประกอบงาน “ผึ้งน้อยคืนรัง” ที่จะจัดขึ้นในปี 2562

คำตอบที่อดีตนักแต่งเพลงเด็ก-เพลงวัยรุ่นคนสำคัญในยุค 80-90 ซึ่งเวลานั้นมีอายุ 65 ปี ให้กลับมา (และได้รับการบันทึกไว้ในเพจเฟซบุ๊ก “ตามหา สโมสรผึ้งน้อย”) ก็คือ

“น้าบอกตรงๆ ว่า ทุกวันนี้หมดไฟในการแต่งเพลงแล้ว ทุกวันนี้น้าอุทิศตัว และขอมีความสุขกับการเผยแพร่คำสอนของพระเจ้าในพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างเดียวเลย วันก่อนพี่ป้อม อัสนี มาขอให้น้าแต่งเพลงให้ น้าก็ต้องขอโทษขอโพยเค้าไป อย่างที่บอกหนูนี่แหละ ว่าแต่งไม่ได้แล้วจริงๆ” •

ภาพ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” จากเฟซบุ๊ก สุรักษ์ สุขเสวี (Surak Suksaewee)

 

| คนมองหนัง