ทำไมประชาชนควร “โลภมาก” เรื่องสวัสดิการ และเอาทุกอย่างพร้อมกันได้ | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by Romeo GACAD / AFP)

บ่อยครั้งที่มีการเรียกร้องสวัสดิการของประชาชน มักจะมีข้อโต้แย้งอยู่เสมอว่าเรื่องเหล่านี้ “มากเกินไป” ไม่ก็ไร้หลักการ อุดมคติมากเกินไป

หรือการพยายามบอกว่าต้องจัดลำดับความสำคัญก่อน มิเช่นนั้นจะไม่ได้อะไรสักอย่าง

หรือเข้าทำนองประชาชนไม่ควร “โลภมาก” เพราะลาภจะหายหมด

หรืออีกนัยหนึ่งคือการพยายามสร้างข้อเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่เสนอมากเกินไป เพราะสังคมอาจไม่เข้าใจในความหลากหลายตรงนั้น

การเสนอแต่น้อยๆ ให้คนยอมรับจึงเป็นทางออกของผู้คนที่ชาญฉาดวางแผน และไม่โลภมาก

แต่คำถามสำคัญคืองานเหล่านี้ก็ล้วนเป็นงานที่ ระบบราชการอันใหญ่โตของประเทศนี้ทำอยู่ทุกวันสัปดาห์ละห้าวัน ด้วยกำลังคนนับล้าน “วางแผน” ทำทุกอย่างบนความเป็นไปได้ ประนีประนอม เข้าใจทุกภาคส่วน ฯลฯ

และเหตุใดสังคมเราจึงไม่ประสบกับความก้าวหน้าแต่อย่างใด

มันจึงแสดงให้เห็นว่า การเจียมตัว ทำตามขั้นตอน หรือเสนอแต่ทีละน้อย เป็นวัฏปฏิบัติที่ทำกันมานานแล้วและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียที

 

ผมลองยกตัวอย่างสำคัญว่าหากมีการเรียกร้องให้ “มหาวิทยาลัยเรียนฟรี” ก็จะมีคำพูดที่โต้แย้งขึ้นมาว่า “ถ้าโรงเรียนอนุบาลยังดีไม่ได้ จะทำให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรีได้อย่างไร” กลายเป็นว่าประชาชนต้องมานั่งปวดหัวและเจียมเนื้อเจียมตัวกันว่าควรจะเอาอะไรก่อน

ลองสมมุติง่ายๆ ว่าหากเราเพิ่มคุณภาพโรงเรียนอนุบาล เพิ่มถึงขั้นการให้เงินเดือนเด็ก ค่าเลี้ยงดู มีครูต่างชาติมาสอน มีรถรับส่ง มีปริมาณที่เหมาะสมต่อชุมชน ทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย จุดนี้ดีต่อใครบ้าง?

ประการแรก คือดีต่อเด็กอย่างแน่นอนที่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดี มีโอกาสพัฒนาสุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางกาย สิ่งเหล่านี้ดีต่อการเติบโตระยะยาวและส่งผลต่อสังคมด้วย

นอกจากเด็กที่ได้ประโยชน์คือ พ่อแม่วัยทำงาน ที่มีลูกเล็ก อายุ 25-35 ปี อยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว หากเกิดสวัสดิการที่ดีย่อมทำให้พวกเขาประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้เยอะ

พวกเขาอาจนำเงินที่ประหยัดไปใช้ชีวิตส่วนอื่นที่มีความสำคัญ กินอาหารนอกบ้านดีๆ พาครอบครัวไปเที่ยว

หรือบางอย่างอาจเป็นการใช้จ่ายที่ไม่มีเหตุผลแต่การมีเงินมากขึ้นสำหรับครัวเรือน ก็ย่อมดีกว่าไม่มีอย่างแน่นอน พ่อแม่อาจเปลี่ยนงานได้ง่ายขึ้นเมื่อลดความตึงเครียดจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับลูกเล็ก

โรงเรียนอนุบาลย่อมดีต่อเด็ก 5 ขวบและ ผู้ใหญ่วัย 30 ปี หากกล่าวโดยสรุป

 

และหากมหาวิทยาลัยเรียนฟรี คนได้ประโยชน์แน่นอนที่สุดคือคนหนุ่มสาวในวัย 18 ปี พวกเขาอาจไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่จนที่สุด แต่นับเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านระบบการศึกษา

มหาวิทยาลัยฟรีจะทำให้พวกเขามีแนวโน้มเลือกสาขาที่ตรงกับความถนัดและความสนใจมากขึ้น ทำให้พวกเขาประหยัดเงินไปได้อย่างน้อย 1 แสนบาทสำหรับค่าเทอม

ซึ่งหากคิดว่าคนหนุ่มสาวสามารถออมเงินได้เดือนละ 1,000 บาทก็เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปีที่พวกเขาและเธอจะได้ชีวิตคืนมา

เช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขาที่อยู่ในวัย 45-55 ปี เป็นแรงงานช่วงปลายของวัยทำงาน หากลดค่าใช้จ่ายของการศึกษาระดับสูงได้ย่อมส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของกลุ่มคนวัยใกล้เกษียณอย่างมาก

รวมถึงหนี้สินทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการศึกษาก็ย่อมลดลงจากภาระของครัวเรือน

หากพิจารณาอย่างผิวเผิน มหาวิทยาลัยก็ดีกับคนอายุ 18 และคนอายุ 50 ปี

 

เช่นนั้นมันควรจะเป็นสงครามระหว่าง คนสองกลุ่มเพื่อแย่งเค้กว่าควรให้มหาวิทยาลัย หรืออนุบาลดีก่อน?

หากมองเช่นนี้คือการพิจารณาสังคมที่แยกขาดเหมือนอยู่ในห้องทดลอง เพราะความจริงแล้ว

1. เราไม่ได้แยกขาดกันขนาดนั้น มนุษย์ย่อมมีคนรู้จัก มีคนที่สำคัญที่อยู่ในช่วงวัยและมีความต้องการที่หลากหลายในสังคม ถึงเราแก่พ้นวัยเรียนก็ยังมีลูกของเพื่อนร่วมงานที่กำลังจะเกิด ถ้าโรงเรียนอนุบาลดี เพื่อนร่วมงานเราก็จะมีความสุข หรือมหาวิทยาลัยฟรีย่อมมีลูกคนข้างบ้านที่จะมีโอกาส และหนี้สินน้อยลง

2. ในทางเศรษฐกิจ หากคนหนุ่มสาววัย 18 เข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ พวกเขาก็จะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ประกอบการ ทำงานที่มีรายได้สูงขึ้น ออกแบบสังคมออกแบบเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับเด็กอนุบาลรุ่นถัดไป ภาษีที่พวกเขาเสียก็จะเลี้ยงพ่อแม่ของเด็กอนุบาลที่จะแก่ชราต่อไปในอนาคต

3. การวัดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ จึงบอกไม่ได้ง่ายๆ ว่าอะไรดีกว่า แย่กว่า เพราะมันสัมพันธ์กันหมด

และเราล้วนได้ประโยชน์จากมันทั้งทางตรงและทางอ้อมจากผลของนโยบายนั้น

 

ถึงจุดนี้สิ่งที่ผมอยากย้ำคือประชาชนไม่จำเป็นต้องเลือก

แต่เราสามารถมีความปรารถนาต่อสิ่งเหล่านี้ได้พร้อมๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาล หรือมหาวิทยาลัย เงินค่าคลอด เงินเลี้ยงดูเด็ก ถึงบำนาญประชาชน มันเป็นเรื่องเดียวกันที่สัมพันธ์กับผลประโยชน์ของประชาชน

เพราะเราอย่าลืมว่าชนชั้นนำเขาเองก็ไม่เคยต้องเลือกระหว่าง เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ กำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณส่งเสริมความมั่นคงต่างๆ

พวกเขาก็ไม่เคยเลือกพวกเขาเอาพร้อมกันทีเดียว อธิบายอย่างสั้นๆ และเราก็โต้แย้งไม่ได้ นอกจากบ่น นินทาเสียบ้าง

พวกเขาเอาพร้อมกันทั้งหมดอย่างไม่มีข้อกังขา

และเหตุใดพอเป็นเรื่องเด็ก นักศึกษา คนแก่ คนป่วย เราถึงต้องมานั่งเถียงกันว่าใครสำคัญกว่าใคร เพราะมันเป็นสิทธิพื้นฐานของเราแต่แรกที่ควรมีชีวิตที่ดี