ปมท.ติดตามการดำเนินงานตามแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ปล่อยตัว เพื่อบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการคืนคนดีสู่สังคม

ปลัดมหาดไทย ประชุมติดตามการดำเนินงานตามแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ปล่อยตัว พ.ศ. 2564 เพื่อบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการคืนคนดีสู่สังคม และสร้างชุมชน/หมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง มีความสุขอย่างยั่งยืน

วันนี้ (17 ม.ค. 66) เวลา 09:00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่ากระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ปล่อยตัว พ.ศ. 2564 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับการประสานจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ในการดำเนินการตามแผนรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ที่ได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่สังคม ให้ได้รับโอกาสที่จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ อันเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชนทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ ทำให้ประชาชนมีความสุขและมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษก็เป็นพี่น้องประชาชนที่ชาวมหาดไทยต้องให้ความสำคัญในการมุ่งยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการอาศัยพลังการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยเหลือดูแลให้คำแนะนำที่ถูกต้องพร้อมทั้งช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อทำให้มีชีวิตที่ดี จิตใจที่ดี พร้อมทั้งมุ่งมั่นในการทำประโยชน์ให้เกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะให้โอกาสกับผู้ที่เคยหลงผิด กระทำความผิด ได้กลับใจ ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข และพัฒนาตนเพื่อทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งชาวมหาดไทยในฐานะข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อมนำพระราชปณิธานมาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติด้วยการพูดคุย ปรึกษาหารือ และร่วมกันทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินการตามแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ปล่อยตัว พ.ศ. 2564 ทั้งการติดตามดูแลผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในพื้นที่ และการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ การฝึกทักษะ สร้างอาชีพ และหาวิธีการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ได้มีส่วนเข้าไปดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษและครอบครัว ทั้งการให้กำลังใจ การส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความรัก ความอบอุ่น ความสามัคคีของคนในครอบครัวและในชุมชน/หมู่บ้าน อันจะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันไม่ให้ผู้เคยหลงผิดได้กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษ ปล่อยตัว ทั้งด้านการดำเนินการจัดทำบัตรประชาชนให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษที่ไม่มีบัตรประชาชน โดยกรมการปกครองให้การสนับสนุนการจัดทำบัตรประชาชนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้ต้องโทษได้รับสิทธิและโอกาสจากหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ต้องโทษได้ใช้เป็นหลักฐานในการพัฒนาตนเอง และพร้อมจะพฤติตัวเป็นคนดีของครอบครัว เป็นคนดีของสังคม และมีทักษะในการประกอบอาชีพต่อไปได้

“ตนได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการติดตาม ดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ และครอบครัว รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำขึ้นเพื่ออบรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับผู้พ้นโทษให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ภายหลังพ้นโทษ ซึ่งมีแผนที่จะต่อยอดไปถึงการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ส่งเสริมอาชีพตามแนวทางสัมมาชีพชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้เป็นครัวเรือนต้นแบบ สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้พ้นโทษให้มีที่ยืนในสังคม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกกรมได้มุ่งมั่นในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยจัดทีมปฏิบัติงานช่วยกันระดมสมอง หาวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสม ควบคู่กับการสอดส่อง ดูแล และติดตาม รวมไปถึงพิจารณาบรรจุให้เป็นภารกิจของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วย ในการลงพื้นที่เข้าไปให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ไปติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตภายหลังพ้นโทษ เพื่อจะได้ช่วยกันในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ด้วยการดำเนินการสำรวจค้นหาเป้าตามแพลตฟอร์ม ThaiQM แล้วนำข้อมูลมาประมวลจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อวางแผน ช่วยเหลือ ติดตามประเมินผลทำให้เห็นถึงผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เขากลับมาเป็นคนดีและไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย ยังผลทำให้ชุมชนมีความสุข เกิดการ “แก้ไขในสิ่งที่ผิด” คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป