รถไฟฟ้ามหาชุลมุน คนไทยได้แค่กินยาทัมใจเท่านั้น

ปริญญา ตรีน้อยใส

วันใดที่การก่อสร้างโครงการขนส่งมวลชนระบบรางแล้วเสร็จทุกเส้นทาง แบบแผนการเดินทางของผู้คนในกรุงเทพมหานครคงจะเปลี่ยนไป เพราะพื้นที่ให้บริการนั้น ครอบคลุมทั่วปริมณฑลของกรุงเทพฯ ทั้งในเมืองและนอกเมือง รวมทั้งจะไปเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก

แต่ที่ไม่กล้าฟันธงว่า แบบแผนการเดินทางจะต้องเปลี่ยนไป เพราะการพัฒนาการขนส่งระบบรางในบ้านเราที่ผ่านมา เกิดขึ้นต่างกรรม ต่างภาระรับผิดชอบ ต่างหลายหน่วยงาน ส่งผลให้รางมีทั้งบนดิน ใต้ดิน และลอยฟ้า แม้แต่รางลอยฟ้าเหมือนกัน ก็ยังมีรูปแบบต่างกัน ด้วยรถไฟที่ใช้ต่างกัน

ยิ่งวัตถุประสงค์ เส้นทาง และการบริหารจัดการ ยิ่งต่างกัน ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย โกลาหลในทุกเรื่อง แค่การใช้ตั๋วร่วมระหว่างสองสาย คือ บีทีเอสและเอ็มอาร์ที รัฐบาลทหารปฏิวัติที่มีอำนาจล้นฟ้า สั่งการมาแล้วแปดปี ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เริ่มจากสายแรกของกรุงเทพมหานคร ที่ยกให้บริษัทเอกชน คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บีทีเอส รับสัมปทาน ลงทุนสร้างและบริหารจัดการเดินรถไฟ ในปี พ.ศ.2542 แต่ต่อมาเปลี่ยนใจ ลงทุนสร้างให้บ้าง ให้บริหารบ้าง วุ่นวายสับสนจนเป็นคดีความและหนี้สินค้างจ่ายมหาศาล ผู้ว่าฯ ที่ทำงาน ทำงาน ทำงาน มาหลายเดือนแล้วก็ยังแก้ไม่ได้

ยังมีการรถไฟแห่งประเทศไทย เจ้าพ่อระบบราง มาแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ดำเนินกิจการรถไฟมากว่าร้อยปี เป็นเจ้าของราง เส้นทาง และพื้นที่ดินมากมาย ใช้ความสามารถที่มีดูแลรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตลิงค์ ให้ขาดทุนและเป็นหนี้ จนต้องยอมปล่อยมือให้พ่อค้าที่เคยขายไก่ขายหมู มารับภาระแทน แต่เวลาผ่านไปเป็นปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

เจ้าภาพจริงๆ น่าจะเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. MRT ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 ให้รับผิดชอบกิจการขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ด้วยความขยัน จึงขยายงานไปดูแลในต่างจังหวัด ทำให้งานล้นมือ จนการก่อสร้างและการจัดการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ไม่เร็วเท่าคนอื่น

งานประมูลล้มบ้าง เลื่อนบ้าง ได้บ้าง พอลงมือก่อสร้าง ยิ่งโกลาหล ขีดขวางทางบ้าง ทำรถติดวินาศสันตะโรบ้าง หรือไม่ก็ปล่อยคอนกรีตเหล็กหล่นใส่หัวชาวบ้าน ให้เป็นข่าวอยู่เสมอ

 

ที่จริง ยังมีบริษัทเอกชนอื่นเข้ามาร่วมวง อย่างเช่น บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด มาร่วมก่อสร้าง เดินรถสายสีเหลืองและสายสีชมพู

สองบริษัทนี้ ที่น่าจะเป็นเครือญาติกับบีทีเอส ที่ตอนนี้รับจ้างศูนย์การค้ายักษ์ริมแม่น้ำ จัดรถไฟฟ้าไปส่งแทนรถกอล์ฟหรือรถตู้เหมือนศูนย์การค้าอื่น

บริษัท เอเชียอีร่าวัน จำกัด ก็จะมาดำเนินงานโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ต่อไปคงจะมีอีกหลายบริษัทที่มาร่วมวง ให้วุ่นวายมากกว่านี้

เจินเจินเคยว่าไว้ เป็นคนไทยต้องสู้ จึงจะชนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องรถไฟฟ้า คนไทยไม่ต้องสู้ แค่กินยาทัมใจเท่านั้น •