รายงานพิเศษ : “จรัญ” เล่าเรื่อง “ตุลาการหมายเลข 1” พระอัจฉริยภาพในหลวง ร.9 คลี่คลายการเมือง

กว่า 85 ปี ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ เป็นช่วงเดียวกับที่ประชาธิปไตยของไทยต้องฝ่าคลื่นลม ฝ่ามรสุมแห่งความขัดแย้งที่ยากจะคลี่คลาย

มีอยู่เหตุการณ์ใหญ่ๆ 2 เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่พระบารมีของพระองค์ท่าน ในฐานะตุลาการหมายเลข 1 ตามนิติราชประเพณีของไทย ทรงปกปักรักษาพสกนิกรไทยอยู่ร่วมเย็นเป็นสุขจวบจนปัจจุบัน ผ่านการบอกเล่าของ “จรัญ ภักดีธนากุล” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“จรัญ” เริ่มต้นเล่าถึงคำว่า “ตุลาการหมายเลข 1” ว่า

“ข้อนี้เป็นนิติราชประเพณีของไทยมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อเวลาประชาชนมีข้อขัดแย้งพิพาทกันทางด้านกฎหมายก็จะเป็นพระราชภารกิจของพระราชาที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดี ในสมัยกรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนบางกลางท่าวต้องมีสถานที่สำหรับให้พระราชาออกนั่งพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ต่อมาเมื่อภารกิจนี้ทวีจำนวนมากขึ้น พระราชภารกิจด้านอื่นทับถมมากขึ้น ก็จึงได้มีการจัดตั้งขุนศาลตุลาการขึ้นมาทำหน้าที่แทน มาช่วยแบ่งเบาภารกิจนี้ให้แก่พระราชาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังถือว่าประชาชนคนไทยยังมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินของขุนศาลตุลาการที่รับภาระมาทำหน้าที่แทนพระองค์ท่าน แล้วเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นไปก็จะทรงวินิจฉัยสั่งการให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม เป็นรายคดี”

“และเมื่อทรงวินิจฉัยสั่งการเรื่องใดไปแล้ว บรรดาขุนศาลตุลาการทั้งหลายก็จะต้องน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป เป็นอย่างนี้มาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังคงถือหลักประเพณีปฏิบัติเหล่านี้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป เพียงแต่ว่าจัดระบบราชการงานทางศาล งานทางตุลาการ ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นอิสระ เป็นกลาง มีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น ให้ทัดหน้าเทียมตาอารยประเทศ แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการของประชาชนอยู่”

“เพราะฉะนั้น จึงยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นตุลาการองค์ปฐมต้นเรื่อง ต้นทาง เราถึงได้มีหลักรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนที่ถูกศาลลงโทษพิพากษาจำคุก หรือประหารชีวิตไปแล้วนั้นมีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษได้ และเป็นพระราชอำนาจที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน”

“เรารักษานิติประเพณีอย่างนี้มาโดยตลอดโดยไม่มีข้อทักท้วงคัดค้านจากใครว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเหยียบศาล คือเสด็จไปที่ศาลใดก็จะทรงขึ้นประทับพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลนั้นร่วมกับคณะผู้พิพากษาตุลาการในศาลนั้นด้วย และทรงลงพระปรมาภิไธยได้ด้วย เพราะเป็นพระราชอำนาจที่ประชาชนชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมให้พระองค์ผู้ทรงใช้มาแต่ดั้งเดิม นั่นคือความหมายของคำที่พูดกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า ทรงเป็นตุลาการหมายเลข 1 ของประเทศไทย”

และในความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงที่พระองค์ทรงครองราชย์ มีอยู่ 2 เหตุการณ์ ที่พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านได้คลี่คลายวิกฤต และเปลี่ยนประเทศไทยไปตลอดกาล

เหตุการณ์แรก “จรัญ” เล่าย้อนความไปถึงช่วงที่เมืองไทยยังต่อสู้กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

“ผมประทับใจมากที่สุดอยู่เหตุการณ์หนึ่ง เมื่อครั้งที่นักข่าวต่างประเทศได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสสัมภาษณ์พระองค์ท่าน และคำถามหนึ่งนักข่าวถามว่า ในการที่ประเทศไทยและรัฐบาลไทยกำลังต่อสู้อยู่กับการแพร่ขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นักข่าวทูลถามว่าพระองค์ท่านจะมั่นใจได้ไหม แค่ไหน ว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยจะชนะสงครามกับคอมมิวนิสต์ ในการต่อสู้เมื่อ 2500-2518 คำถามนี้ พระองค์ทรงตอบอย่างชนิดที่เราฟังแล้วชื่นใจ ตื้นตันใจมาก พระองค์ทรงตอบว่าเราไม่เคยรบกับคอมมิวนิสต์ ไม่เคยทำสงครามกับประชาชน เราต่อสู้กับความยากจนของประชาชน แล้วเราจะต้องทำให้ชนะสงครามครั้งนี้ให้จงได้”

“เพราะการต่อสู้เอาชนะความยากจนของประชาชนนั้นคือทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุข รวมไปถึงประชาชนที่หลงผิดไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นด้วย ดูสิ… ทำไมพระองค์ท่านถึงทรงมีทั้งพระสติปัญญา มีทั้งไหวพริบปฏิภาณ และที่เหนือกว่านั้นคือหัวใจ หัวใจของพระองค์ท่าน ไม่เคยมีหลักคิดหรือคำตอบนี้จากที่ไหนเลย ไม่ใช่รบชนะคอมมิวนิสต์ แต่เอาชนะความยากจน นี่ไม่ใช่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยที่ทำให้รัฐบาลหลังจากนั้นได้คิด… อ้อ เราไปรบกับคอมมิวนิสต์จะไปชนะได้อย่างไร มันมีทั้งแพ้ทั้งชนะ ถึงชนะก็ไม่ยั่งยืน แต่รบกับความยากจนถ้าชนะได้มันปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้อย่างถาวร”

“เพราะเงื่อนไขของประชาชนที่จะเรียกร้องระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาจากความยากจน คับแค้นของพวกเขา ดังนั้น จึงต้องสู้รบให้ตรงกับเงื่อนสาเหตุ แล้วจึงนำมาสู่กระบวนการร่วมกันพัฒนาประเทศไทยในปี 2523 นโยบาย 66/2523 ต้องถือว่าเป็นผลผลิตมาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน (เน้นเสียง) แล้วไม่ใช่ให้กับคนไทยเท่านั้น นี่คือแนวทางการต่อสู้สงครามคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น ระหว่างค่ายเสรีนิยมกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เอากองกำลังทหารเข้าไปโค่นล้มเข่นฆ่ากัน เพราะทำเช่นนั้น แท้ที่จริงแล้วคือการทำสงครามกับประชาชนตัวเอง เป็นไปไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์ไทยจะทำเช่นนั้น”

“เพราะเสาหลักใหญ่ตามปฐมพระบรมราชโองการชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ไม่ใช่โดยอาชญา เอาอาวุธ เอาอำนาจเข้าไปจัดการ และเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำสงครามกับประชาชน เห็นไหมว่าลึกซึ้งแค่ไหน และความในตอนท้าย…ยิ่งประทับใจมากกว่านี้ เพราะเมื่อเราชนะความยากจนของประชาชน สันติสุขเกิดกับประชาชนในแผ่นดินนี้ รวมทั้งประชาชนที่หลงผิดไปกับอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เหล่านั้นด้วย”

เหตุการณ์ที่ 2 คือวิกฤตในปี 2549 ที่เกือบจะถึงทางตัน บางฝ่ายในการเมืองเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน โดยใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยให้ศาลไปช่วยแก้วิกฤตครั้งนั้น เป็นอีกตัวอย่างที่ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติมองไม่เห็นทางแก้ไข แต่พระองค์ท่านทรงเห็นทางออก

“พระองค์ท่านตรัสว่า ให้ท่าน (ผู้พิพากษา) ช่วยกันคิด ใช้สติปัญญา คิดพิจารณาหาทางแก้ไขวิกฤตที่ถึงที่สุดของชาติ หาทางออกให้ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงเห็นทางออกนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่วิสัย ไม่ใช่โอกาส วาระอันควรที่จะดึงพระองค์ท่านลงมาอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่ของสังคม อยู่ในฐานะที่ควรจะทำได้ก็ไปหาทางทำกัน ยังมีทางทำได้”

“เพราะเหตุผลง่ายๆ พระองค์ตรัสว่า ไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีนายกฯ พระราชทานอย่างที่พวกเราเข้าใจกัน เพราะเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค มีรองประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ในฐานะประธานของฝ่ายนิติบัญญัติขณะนั้น เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาให้พระองค์ท่านพระราชทานนายกฯ ไม่มีช่องทางอยู่ในรัฐธรรมนูญ”

เป็นผลให้ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ มาประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“แล้วพอเรารับพระราชกระแสรับสั่งอย่างนั้นลงมา มาประชุมปรึกษาหารือกันก็เห็นทางออกชัดเจน แต่ว่าไม่ได้รับความเห็นพ้องต้องกัน จึงเกิดเหตุการณ์ที่ระดมคนมาเผชิญหน้ากันแล้วนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” จรัญกล่าว

แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากนั้น แต่กรณีนายกฯ พระราชทานก็ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาอีกเลย